xs
xsm
sm
md
lg

มจธ.พัฒนาระบบช่วยแพทย์วิเคราะห์การเดินของผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุปกรณ์ในการช่วยเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
มจธ.- มจธ.พัฒนาระบบวิเคราะห์ช่วยแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวสะดวกขึ้น ง่าย และราคาถูก โดยใช้องค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ วิศวกรรมศาสตร์ และการออกแบบฯ มาผสาน สร้างเครื่องมือแพทย์ หวังช่วยรัฐประหยัดงบประมาณนำเข้า และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีปัญหาการเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ การวิเคราะห์การเดินเป็นวิธีการประเมินคุณภาพของการเดินและการทรงตัวระหว่างการเดินที่ มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษาฟื้นฟู และติดตามผลของการรักษาผู้ป่วย ที่มีปัญหาการเดินทุกรายทุกกลุ่มโรค ตั้งแต่ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ ผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเส้นเลือดสมอง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองและไขสันหลัง และผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมต่างๆ

แพทย์มักทำการวิเคราะห์การเดินด้วยการสังเกตด้วยตาเปล่า ซึ่งทำให้มีความแม่นยำของการตรวจขึ้นกับประสบการณ์การเรียนรู้ของแพทย์ และอาจมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจน ความลำเอียงของการทดสอบได้เพราะไม่สามารถวัดค่าตัวแปรการเดิน ต่างๆออกมาได้เป็นตัวเลขที่ชัดเจนแม่นยำ การใช้เครื่องวิเคราะห์การเดิน ที่อาศัยอุปกรณ์วัดการเดินนั้น มีอยู่หลายวิธี แต่ส่วนมากมีราคาแพงนับล้านหรือสิบล้านบาท ใช้งานยาก เสียเวลาในการติดตั้งและปรับตั้งค่า รายละกว่าครึ่งชั่วโมง

ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation Program) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และผศ.นพ.ภาริส วงศ์แพทย์ อาจารย์พิเศษโรงพยาบาลรามาธิบดี และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงได้ร่วมกันวิจัย ออกแบบ และพัฒนา “TailGait: ระบบวิเคราะห์การเดินแบบโมดูล่าร์” เพื่อตอบโจทย์การวิเคราะห์การเดิน
 
สำหรับ TailGait เป็นระบบวิเคราะห์การเดินแบบโมดูล่าร์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.เซ็นเซอร์รับแรงแบบแผ่นที่สามารถสวมใส่ได้ 2. เซ็นเซอร์วัดความเร็วและความเร่งของร่างกาย และ 3.เซ็นเซอร์วัดระยะการก้าวเดิน ผู้ป่วยสามารถสวมใส่พร้อมใช้งานได้ภายใน 5 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการประเมิน โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บไว้ภายในแผ่นบันทึกข้อมูลหรือส่งผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สายเพื่อทำการประมวลผล

“ที่ผ่านมาได้มีนำไปทดสอบกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 10 คนเข้าร่วม และผลการศึกษาพบว่าตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเดินที่ได้รับจากการวิจัยนี้ มีค่าใกล้เคียงอย่างมีนัยสำคัญกับค่าที่ได้รับจากระบบที่มีความแม่นยำสูงและมีราคาแพงเช่น VICON ซึ่งผลจากการวิเคราะห์นี้ จะนำไปสู่การวินิจฉัย รักษา และติดตามอาการให้กับแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการฝึกลงน้ำหนักบนขาทั้ง 2 ขาอย่างสมดุล ความสามารถในการทรงตัว และการเดินของผู้ป่วยต่อไป” ดร.ปราการเกียรติ เผย

ล่าสุดได้นำระบบดังกล่าวไปใช้แล้วกับโรงพยาบาล 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลสำโรง
การแพทย์ ทั้งนี้ คาดหวังว่าระบบดังกล่าวจะได้รับการยอมรับและนำไปใช้กับสถานพยาบาลของรัฐในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณแล้ว ผู้ป่วยยังได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ต้องเดินทางไกลและช่วยแพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น  

ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า นอกจาก TailGait สามารถวัดค่าตัวแปรการเดินที่เรียกว่า temporal spatial gait parameters อันได้แก่ stance time, swing time, step length, stride length, และ real time gait speed  ตลอดจน trunk acceleration ได้อย่างแม่นยำ และ เที่ยงตรง โดยมีค่าสหสัมพันธ์ระหว่างค่าที่วัดได้จากระบบ TailGait เทียบกับการวัดรอยพิมพ์เท้า และการวัดเวลาการเหยียบย่างเท้าจากเครื่องวัดวิเคราะห์การเดินมากกว่า 0.8 แล้ว TailGait นวัตกรรมฝีมือคนไทยนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลการเดินภาคสนามได้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการก้าวเดินบนขั้นบันได หรือการเก็บข้อมูลการเดินให้กับผู้พิการขา ซึ่งคณะทำงานมีแผนจะออกหน่วยเก็บข้อมูลร่วมกับทีมงานให้บริการขาเทียมเคลื่อนที่ของศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสรรถภาพแห่งชาติและมูลนิธิขาเทียม

 
ระบบวิเคราะห์ข้อมูล
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง 






กำลังโหลดความคิดเห็น