นักวิจัยมจธ.- จุฬาฯ เผยไทยเข้าสู่ยุคคนชราแบบ“แก่และจน”มากกว่าครึ่งประเทศ ห่วงรัฐกึ่งสวัสดิการแบบไทยๆ เอาไม่อยู่ปล่อยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้โตเกิน แนะภาครัฐทบทวนและรื้อนโยบายกระจายความช่วยเหลือใหม่ และเตรียมงานวิจัยเพื่อทบทวนการยืดอายุเกษียน
ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศ” ที่ทีมวิจัยเพิ่งได้รับรางวัลจากงานวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่อาจทำให้ประชากรไทยถึงกับอึ้งเมื่อพบว่า อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ผู้สูงอายุไทยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์กำลังจะกลายเป็นคนแก่ที่จนไปพร้อมๆ กัน
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยของวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย ดร.ปภัศร ชัยวัฒน์ และดร.สวรัย บุณยมานนท์ จากคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนมาตั้งแต่ปี 2529-2552 จำแนกประชากรออกเป็น 4 กลุ่มตามช่วงอายุ โดยมุ่งวิเคราะห์ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดภายในแต่ละกลุ่มอายุประชากร และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มอายุประชากร ตลอดจนวิเคราะห์ความแตกต่างทางรายได้ระหว่างประชากรสูงอายุด้วยกัน และปัจจัยกำหนดที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างทางรายได้
ดร.ปภัศร ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรการจัดการสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ (EPM) บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม หนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าประชากรในแต่ละกลุ่มอายุ มีลักษณะเฉพาะทางประชากร สังคม และเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรสูงอายุ ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำที่สุด ส่วนใหญ่ไม่มีรายได้หรือรายได้ต่ำ ทั้งนี้รายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือเป็นหลัก และในขณะเดียวกันประชากรกลุ่มสูงอายุ ยังมีความแตกต่างทางรายได้ภายในกลุ่มสูงที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ความเหลื่อมล้ำกันเองของกลุ่มผู้สูงอายุมีสูง เพราะมีผู้สูงอายุไม่กี่คนที่ถือครองรายได้จำนวนมากไว้คนละหลายหมื่นล้าน ในขณะที่คนแก่บางคนทั้งแก่และจนแบบต้องการความช่วยเหลือมีจำนวนมากกว่าถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในภาคใต้ เนื่องด้วยคนแก่ในจังหวัดภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา จะมีฐานะร่ำรวยมาก ในขณะที่คนแก่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ต้องการความช่วยเหลือ”
“วันนี้สังคมไทยมีสถาบันครอบครัวที่มีความเข้มแข็ง สามารถจุนเจือเลี้ยงดู ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เด่นชัดเท่าที่ควร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ในอนาคตวัยรุ่นไทยหรือวัยทำงานอาจรับภาระนี้ไม่ไหว เนื่องจากอัตราภาระการพึ่งพิงสูงจะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่อายุยืน อาจส่งผลให้ปัญหาถึงจุดอิ่มตัวในไม่ช้า เรากำลังส่งสัญญาณไปยังภาครัฐว่าหากวันนี้ภาครัฐไม่หามาตรการมารองรับปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
ดร.ปภัศร กล่าวว่า บทสรุปของงานวิจัยระบุถึงทางออกของปัญหาว่าลำดับแรกคนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการวางแผนชีวิตหลังเกษียนตั้งแต่เนิ่นๆ ต้องคิดว่าถ้าลูกไม่เลี้ยงจะทำอย่างไร ต้องมีเงินจำนวนเท่าไหร่ต่อเดือนถึงอยู่ได้อย่างพอเพียงและไม่พึ่งพา ยังมีกรณีของเบี้ยยังชีพคนชราในปัจจุบันที่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุอย่างชัดเจน เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถกระจายเงินดังกล่าวไปถึงยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามป่าเขา หรือแหล่งท้องที่กันดาร
ดังนั้น แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่สามารถกระจายประโยชน์ดังกล่าวไปทั่วถึงทุกกลุ่ม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นับว่าเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาในการกระจายรายได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ภาครัฐจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ อาทิ ภาษีทางตรงเพื่อดึงประโยชน์จากคนร่ำรวยมาดูแลคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา อาทิ ผู้สูงอายุ มากขึ้น
“ภาครัฐต้องมีนโยบายที่สร้างแรงจูงใจให้วัยแรงงานวางแผนหลังการเกษียณอายุ ซึ่งทีมวิจัยได้เสนอในเรื่องของการทำประกันรายได้ผู้สูงอายุ และการใช้ประโยชน์จากภาษีทางตรงให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ในการศึกษาต่อเนื่องนั้น ได้ทำการศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการยืดอายุระยะเกษียนออกไปให้มากกว่า 60 ปี อีกทั้งคนไทยต้องลดมายาคติที่มองว่าคนแก่ไร้ประโยชน์อย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน หากมีการขยายอายุเกษียน ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี จะต้องมีการปรับตัว โดยอาจจัดสรรเวลาการทำงานและตำแหน่งงานอย่างเหมาะสม เพื่อเปิดทางให้วัยทำงานได้สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างเต็มศักยภาพ”
“ขณะเดียวกัน รัฐอาจต้องนำนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุมารื้อฟื้นใหม่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยรัฐไม่จำเป็นต้องสร้างนโยบายช่วยเหลือทุกกลุ่ม แต่ควรดูแลอย่างทั่งถึงในกลุ่มที่มีความต้องการอย่างแท้จริง อย่างกรณีเบี้ยชราภาพ ซึ่งจากตัวเลขสถิติในปัจจุบัน ยังพบการกระจายของเงินช่วยเหลือดังกล่าวที่ไม่ทั่วถึง และไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพ อีกทั้งในอนาคตที่สำนักงานประกันสังคมจะต้องจ่ายเบี้ยชราภาพแบบบำนาญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าจะมีผลกระทบต่อฐานะเงินกองทุนในลักษณะใดในระยะยาว ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนอันแรกที่สังคมไทยจำเป็นต้องระวังมากขึ้น”