สวทน.เปิด 4 หลักสูตร "เทคโนโลยีเพื่ออนาคต" นำร่องตามความต้องการตลาด ประเดิมหลักสูตรแรก "วิศวกรรมระบบราง" ที่ทำการสอนแล้วในปีการศึกษานี้ และตามมาด้วยหลักสูตรนวักรรมการเกษตร หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ และหลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดตัว 4 หลักสูตร "เทคโนโลยีเพื่ออนาคต" จากความร่วมมือของ 7 สถาบัน ได้แก่ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.ก.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม และวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม
4 หลักสูตรนำร่อง ซึ่งสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ในปี 2556-2557 ได้แก่ หลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง ซึ่งดำเนินการสอนโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีจุดประสงค์เพื่อผลิตวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ พร้อมรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ
หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการเกษตร การปรับพันธุ์พืช และการผลิตพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตนักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งมีความต้องการจากภาคเอกชนสูง อีกทั้งเพื่อสนองยุทธศาสตร์ "ครัวไทยสู่ครัวโลก" และ "ความมั่นคงทางอาหาร เน้นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ลำไย เป็นต้น
หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม หรือ หลักสูตรทักษะวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ ดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีจุดประสงค์เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่อุตสาหกรรม ลดต้นทุนนำเข้ายาชีววัตถุและเพิ่มมูลค่าการผลิตในประเทศ และปูทางเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย โดยจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเพราะยาชีววัตถุนั้นได้จากสิ่งมีชีวิต จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ
หลักสูตรเทคโนโลยีหุ่ยนต์และระบบอัตโนมัติ ดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในเชิงกระบวนการผลิตและสร้างนวัตกรรมทพร้อมศึกษาต่อเนื่อง เพื่อทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงต่อไป และสามารถเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการนำเข้า
ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง (ไทยเอสที) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการจัดทำหลักสูตรเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งทางไทยเอสทีได้เข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งปีการศึกษา 2556 นี้มีการสอนในหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเป็นหลักสูตรแรกที่ สจล. แก่นักศึกษา 50 คน
ส่วนการสนับสนุนของไทยเอสทีซึ่งอยู่ภายใต้ สวทน.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร.วัลลภกล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนเรื่องสร้างหลักสูตรแล้ว เบื้องต้นยังสนับสนุนด้านทุนการศึกษา รวมถึงสร้างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยได้ให้ทุนแก่นักศึกษาทุนวิศวกรรมขนส่งทางราง 30 ทุน ทุนละ 5-6 ล้านบาทต่อคนต่อปี
อย่างไรก็ดี ศ.ดรวัลลภกล่าวว่า ในระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้น ต้องอาศัยบุคลากรที่ดูและด้านระบบเครื่องกลประมาณ 20,000 คนซึ่ง สวทน.ไม่สามารถสนับสนุนการสร้างบุคลากรได้ทุกคน แต่การสร้างหลักสูตรนำร่องนี้ได้กระตุ้นให้หลายสถาบันการศึกษาหันมาสร้างหลักสูตรคล้ายๆ กันเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
"เท่านี้ผมก็นับว่าเป็นความสำเร็จแล้ว" ศ.ดร. และบอกด้วยมีหลักสูตรด้านเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ต้องสร้างทั้งหมด 15 หลักสูตร