มจธ.-นักวิจัย มจธ.ต่อยอดผลงานลดปัญหาการขึ้นรูปฟิล์มแป้งบริโภคได้ด้วยเครื่องมือเฉพาะสู่บรรจุภัณฑ์กันมอดสำหรับข้าวอินทรีย์ และกระดาษกันเชื้อราด้วยเทคนิคที่ออกแบบพิเศษเพื่อการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอด “วอลเปเปอร์-อโรมาเทอราพี กันรา” ในอนาคต
ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเป็นกระแสนิยมที่แรงมากในช่วงที่ผ่านมา บรรดาผู้ประกอบการต่างพากันสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า “green product” ออกสู่ท้องตลาดไม่ขาดสายแม้กระทั่งนักวิจัยก็ไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ อย่าง รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ ฟิล์มที่สามารถบริโภคได้ (Edible film) จากแป้งมันสำปะหลังและแป้งข้าวเจ้าซึ่งจะสามารถลดปัญหาการใช้สารเคมีและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
รศ.ดร.อรพิน กล่าวว่า คิดค้นฟิล์มขึ้นเพื่อใช้เคลือบและคงความสดให้แก่ผลไม้พร้อมรับประทานสด เช่น ทุเรียน และยืดระยะเวลาการเก็บรักษาผลไม้ได้นานขึ้นเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก จึงคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่แผ่นฟิล์มด้วยการพัฒนาเป็นถุงบรรจุข้าวอินทรีย์ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมีทั้งข้าวและถุงบรรจุ
ตอนที่เริ่มผลิตถุงบรรจุข้าวอินทรีย์ทีมวิจัยพบปัญหาว่าฟิล์มแป้งนั้นขึ้นรูปยาก เนื่องจากความชื้นไม่คงที่ เมื่อใช้มือจับเป็นเวลานานฟิล์มจะละลาย และในห้องทดลองเมื่อขึ้นรูปฟิล์มโดยใช้อ่างน้ำควบคุมอุณหภูมิใช้เวลา 11-12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นาน ทีมวิจัยจึงพัฒนาเครื่อง extrude ขึ้นมาใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.เนื่องจากเครื่องขึ้นรูปฟิล์มที่มีขายในท้องตลาดนั้นไม่สามารถขึ้นรูปฟิล์มแป้งได้ และตอนนี้มีบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว สนใจจะเข้ามารับช่วงต่อจากทีมวิจัย เนื่องจากเครื่องที่พัฒนาขึ้นเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดสำหรับการผลิตอาหารไม่มีสิ่งปนเปื้อน
อย่างไรก็ตาม เครื่องขึ้นรูปที่พัฒนาขึ้นยังมีข้อจำกัดที่ต้องพัฒนาอีกมากหากจะใช้ในเชิงพาณิชย์ โดย รศ.ดร.อรพิน กล่าวว่า จากการทดลองสามารถแก้ปัญหาการขึ้นรูปฟิล์มแป้งได้ด้วยการเติมไคโตซานลงไป เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ฟิล์มแป้งยืดหยุ่นได้ดีขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น และยังเป็นสารที่เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญได้ทำให้ได้ฟิล์มแป้งที่เหมาะสำหรับการห่อหุ้มผักผลไม้สดอย่างมาก แต่พบปัญหาคือไคโตซานราคาแพงมากทำให้ต้นทุนการผลิตฟิล์มแป้งสูงไปด้วย ซึ่งในจุดนี้ยังต้องหาพอลิเมอร์ ชนิดอื่นมาทดแทนต่อไป
ไคโตซานช่วยให้การขึ้นรูปถุงบรรจุข้าวอินทรีย์จากฟิล์มแป้งประสบความสำเร็จ แต่เมื่อนำไปทดลองใช้พบว่ามีมอดขึ้นข้าวอินทรีย์ที่บรรจุในถุง ดังนั้น รศ.ดร.ณัฏฐา เลาหกุลจิตต์ นักวิจัยอีกคนที่ร่วมพัฒนาผลงานนี้จึงได้คิดที่จะนำน้ำมันหอมระเหยมาเคลือบฟิล์มป้องกันมอดข้าวหรือด้วงงวงข้าว โดยน้ำมันหอมระเหยที่เราใช้สกัดมาจากสมุนไพรไทยซึ่งพบว่า กระเทียมมีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมการขยายตัวของด้วงงวงข้าวโพดหรือมอดได้ดีที่สุด
“แต่น้ำมันหอมระเหยจากกระเทียมจะทำให้กลิ่นติดข้าวผู้บริโภคอาจไม่ยอมรับ เราจึงเลือกที่จะใช้ใบชะพลูซึ่งไม่มีกลิ่น แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่าเวลาสกัดใบชะพลูด้วยการกลั่นหรือต้มจะได้น้ำมันหอมระเหยออกมาน้อยมากจนแทบไม่มีเลย เราจึงต้องพัฒนาและออกแบบเครื่องมือขึ้นใหม่อีกหนึ่งชิ้นซึ่งไม่มีขายในท้องตลาด สามารถสกัดและกลั่นได้ในเวลาเดียวกัน เป็นการสกัดด้วยวิธีธรรมชาติทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยมากขึ้น และต้นทุนการผลิตเครื่องไม่สูง” รศ.ดร.อรพิน กล่าว
นอกจากชิ้นงานถุงบรรจุข้าวอินทรีย์จากฟิล์มแป้งจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว รศ.ดร.อรพิน ได้กล่าวเสริมว่า ได้นำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดด้วยเครื่องที่ออกแบบขึ้นมาประยุกต์เป็นกระดาษกันเชื้อรา ภายใต้แนวคิดกระดาษไร้สารเคมี โดยทำการศึกษากับกระดาษเยื่อ Kraft นำมาตี ปั่น รีด และอบ แล้วเติมน้ำมันหอมระเหยจากพืช 3 ชนิดที่สกัดขึ้น คือ มะกรูด มะนาว และส้มโอลงไป
จากการทดลองกับกล่องเค้กด้วยวิธีการจุ่ม พ่น และทา ทีมวิจัยพบว่า วิธีการพ่นน้ำมันหอมระเหยลงบนกระดาษสามารถควบคุมเชื้อรา 7 ชนิดที่เจริญบนกระดาษได้ดีที่สุด และล่าสุดมีโครงการที่จะต่อยอดด้วยการน้ำมันหอมระเหยพ่นลงบนวอเปเปอร์ในลักษณะอโรมาเทอราพีเพื่อป้องกันเชื้อรา แต่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานด้วย และผู้ใช้งานสามารถนำมาพ่นซ้ำได้ ซึ่งขณะนี้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดด้วยเครื่องที่ออกแบบเฉพาะได้มีการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วภายใต้ชื่อ “สารเติมกลิ่น”