เสียงเครื่องปั่นดังกระหึ่มหลังพระอาทิตย์ตกไปจนเที่ยงคืน เนื่องจากบน “เกาะตะรุเตา” ต้องใช้น้ำมันปั่นกระแสไฟฟ้า เพราะเครื่องผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ใช้การไม่ได้มาหลายปี แต่มีสัญญาณว่าอนาคตพลังงานน้ำอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะแก่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ รวมถึงอุทยานแห่งชาติอื่นๆ
นายปณพล ชีวะเสรีชล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าปกติทางอุทยานมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หม้อแปลงไฟฟ้าถูกไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้
ทั้งนี้ ทางอุทยานเพิ่งได้รับงบประมาณซื้อแบตเตอรีสำหรับเก็บประจุไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในราคา 1.2 ล้านบาท แต่ต้องทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณสำหรับซ่อมแซมหม้อแปลง ที่ต้องการงบประมาณอยู่ 8 แสนบาท ทำให้ไม่สามารถใช้งานเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ จึงต้องใช้เครื่องปั่นไฟจากน้ำมันดีเซลผลิตกระแสไฟฟ้าใช้
ขณะที่ส่วนอื่นๆ มีกระแสไฟฟ้าใช้ในช่วงเวลาจำกัด 18.00-24.00 น.แต่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะโละวาว ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยพิทักษ์ของตะรุเตา กลับมีไฟฟ้าใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นพื้นที่ทดลองติดตั้งชุดกังหันน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเหล้าธนบุรี (มจธ.)
ดร.อุสาห์ บุญบำรุง นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ.ผู้ประสานการทดลองติดตั้งกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าบนเกาะตะรุเตา อธิบายว่ากังหันน้ำดังกล่าวเป็นการขยายผลมาจาก “ชุดกังหันน้ำคีรีวง” ที่จาก มจธ.ได้ร่วมพัฒนากับชาวหมู่บ้านคีรีวง ใน จ.นครศรีธรรมราช
หลักการทำงานของกังหันน้ำดังกล่าวคือใช้แรงดันน้ำผลักใบพัดของกังหันแบบเพลตัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่คิดค้นโดย เลสเตอร์ เพลตัน (Lester Pelton) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน จากนั้นกังหันจะหมุนมอเตอร์ที่ต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แล้วผลิตกระแสไฟฟ้าที่นำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้โดยตรง
“ไม่จำเป็นต้องต่อแบตเตอรีสำหรับกังหันน้ำ เพราะมีกระแสน้ำจากน้ำตกไหลตลอดเวลา จึงผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง สามารถใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว ทีวี และให้แสงสว่าง แต่ไม่สามารถเปิดใช้งานพร้อมกันได้ทั้งหมด โดยอาจหุงข้าวไปพร้อมๆ กับให้แสงสว่างได้” ดร.อุสาห์กล่าว
สำหรับกังหันไฟฟ้าที่นำมาติดตั้งบนเกาะตะรุเตานั้นเป็นรุ่นผลิตกำลังไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ แต่เนื่องจากกระแสการไหลของน้ำและความต่างระดับของน้ำ ต่างไปจากที่คีรีวง ทำให้กำลังไฟฟ้าที่ได้น้อยกว่า ซึ่งทางทีมวิจัย มจธ.กำลังศึกษาความเหมาะสมของระดับน้ำและอัตราการไหลของน้ำ เพื่อปรับปรุงกังหันน้ำรุ่นถัดไป
สำหรับแผนดำเนินการต่อไป ดร.อุสาห์ กล่าวว่า จะติดตั้งกังหันน้ำ 1 กิโลวัตต์ให้ครบหน่วยพิทักษ์บนเกาะตะรุเตา และติดตั้งบนเกาะอาดังที่อยู่ห่างออกไป 40 กิโลเมตร รวมถึงพัฒนากังหันน้ำที่มีกำลังผลิต 10 กิโลวัตต์สำหรับใช้บริเวณที่ทำการอุทยาน
ทางด้าน ปณพล เปิดเผยด้วยว่า ปกติทางอุทยานต้องส่งน้ำมันสำหรับปั่นไฟไปให้หน่วยพิทักษ์วันละ 120 ลิตร แต่หลังจากติดตั้งกังหันน้ำแล้วก็ไม่ต้องส่งน้ำมันไปให้อีก ซึ่งการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันน้ำนี้น่าจะเหมาะแก่ทุกอุทยาน เพราะใช้พลังงานน้ำตกผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และไม่ต้องใช้แบตเตอรี ขณะที่เซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตกระไฟฟ้าได้เมื่อเกิดพายุหรือมรสุม และยังต้องใช้แบตเตอรีที่มีราคาสูงมาก
***
ผู้สนใจกังหันน้ำคีรีวง ติดต่อ
วิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง เลขที่ 59 ม.9 หมู่บ้านขุนคีรี ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช 80230 โทร.089-9908-6427, suansomrom@hotmail.com
หรือ ห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), http://www.cesi.kmutt.ac.th