xs
xsm
sm
md
lg

“นกแสก” ใช้เสียงแยกพี่น้องตัวไหนหิวมากกว่ากัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นกแสกไม่ส่งเสียงแข่งกันหรือต่อสู้เพื่อแย่งอาหาร แต่ละส่งเสียงบอกว่าตัวไหนหิวมากกว่า ถ้ามีตัวไม่เห็นด้วยก็จะส่งเสียงเพิ่มความเข้มเสียงที่ละน้อย จนตัวที่ยังไม่หิวมาก ถอนตัวจากการขอรับสิทธิได้เหยื่อจากพ่อแม่ (บีบีซี)
แทนที่จะแข่งขันหรือสู้กันเอาเป็นเอาตาย นักวิทยาศาสตร์พบว่า “นกแสก” สามารถแยกแยะเสียงของพี่น้องที่หิวจัดกว่าตัวอื่นๆ เพื่อรับอาหารจากพ่อแม่ ขณะที่ตัวที่หิวน้อยกว่าก็จะยอมถอย

การค้นพบดังกล่าวบีบีซีเนเจอร์ระบุว่า เป็นผลงานของ ดร.เอมิลี ไดรส์ (Dr.Amelie Dreiss) และคณะจากมหาวิทยาลัยโลซาน (University of Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้เผยแพร่ลงในวารสารเจอร์นัลออฟอีโวลูชันนารีไบโอโลจี (Journal of Evolutionary Biology) โดยพบว่า ลูกนกแสกนั้นมีเสียงเฉพาะตัวที่แยกแยะได้ชัดเจน ซึ่งเป็นคุณสมบัติเพื่อการสื่อสารแสดงความต้องการที่จำเป็นของลูกนกแต่ละตัว และใช้จำแนกกันเองภายในรัง 

ทั้งนี้ นกแสก (Barn owls) หรือ ไทโต อัลบา (Tyto alba) เป็นนกที่แพร่กระจายมากที่สุดในโลก และพบได้ในทุกๆ ทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกา ขนาดรังโตเฉลี่ยพบไข่ 4-6 ฟอง แต่บีบีซีเนเจอร์ระบุว่า บางครั้งก็พบว่ามีมากถึง 12 ฟอง ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้พยายามทำความเข้าใจว่า ลูกนกแสกต่อรองกับพี่น้องอย่างไรเพื่อให้ได้อาหารโดยที่ไม่ต้องต่อสู้กัน 

การศึกษาก่อนหน้านั้นพบว่าระหว่างที่พ่อแม่นกออกไปหาอาหาร ลูกนกแสกก็จะประกาศความหิวโหยของตัวเองแก่พี่น้องด้วยการส่งเสียงร้อง ซึ่ง ดร.ไดรส์ อธิบายว่า สัญญาณเสียงดังกล่าวจะยับยั้งไม่ให้พี่น้องตัวอื่นๆ ส่งเสียงหรือแย่งชิงเหยื่อที่พ่อแม่นำกลับมาให้ แต่หากมีคตวามเห็นไม่ลงรอยกันลูกนกก็สามารถเพิ่มเสียงร้องให้ดังขึ้นทีละนิดๆ โดยไม่แสดงทีท่าเกรี้ยวกราด จนกระทั่งพี่น้องตัวที่หิวน้อยกว่ายอมถอนตัวจากการแข่งขันสิทธิในการรับอาหาร

เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับการสื่อสารดังกล่าว ทีมวิจัยได้ศึกษารังนกแสกธรรมชาติที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ และจากการบบันทึกเสียง พวกเขาพบว่า ลูกนกในรังหนึ่งนั้นส่งเสียงได้มากถึง 5,000 ครั้งต่อคืน เมื่อพ่อแม่นกแสกไม่อยู่ที่รัง และโอกาสที่ลูกนกจะส่งสัญญาณผิดๆ นั้นก็มีต่ำ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก

ส่วนการศึกษาของทีมวิจัยอีกทีมเมื่อต้นปีนี้ ที่นำโดย ศ.อเล็กซานเดร ลูลิน (Prof Alexandre Roulin) จากมหาวิทยาลัยโลซานเช่นกัน เผยว่าลูกนกแสกจะไม่ส่งเสียงรบกวนกัน แต่จะเงี่ยฟังการประชันการส่งเสียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองเพื่ออาหาร 

ส่วนการศึกษาในช่วงท้ายของ ดร.ไดรส์และคณะ ได้ให้นักเรียนฟังเสียงร้องของลูกนกแสกที่ถูกบันทึกไว้ ซึ่งนักเรียนทั้งหลายสามารถบอกถึงความแตกต่างของเสียงร้องลูกนกได้ด้วยการฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า นกแสกมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้พวกมันแยกแยะพี่น้องในรังได้

จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังพบว่า ความหลากหลายของเสียงร้องนั้นขึ้นอยู่กับครอบครัวลูกนก เพศและอายุ รวมถึงระดับความหิวของลูกนกด้วย ซึ่ง ดร.ไดรส์ ชี้ว่า เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การชิงดีชิงเด่นของพี่น้องรัง ช่วยสนับสนุนการวิวัฒนาการของเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ท่ามกลางหมู่นกแสกด้วยกัน







กำลังโหลดความคิดเห็น