xs
xsm
sm
md
lg

โปรเจกต์ยักษ์! ค้นต้นตอโรคในคนจากสารพัดสัตว์และแมลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
จากปัญหาที่ไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงโรคระบาด โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรายงานโรคระบาดในคนและสัตว์นั้นยังขาดตกบกพร่อง โรคติดเชื้อบางอย่างถูกละเลยไม่รายงานเนื่องจากไม่ทราบถึงสาเหตุของโรค จึงเกิดโครงการค้นต้นตอของโรคในสารพัดและแมลงที่เป็นแหล่งรังโรค

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงปัญหาข้างต้น และบอกด้วยว่า มีโรคติดเชื้อในไทยนั้นมากกว่า 50% ที่ไม่สามารถสืบค้นสาเหตุได้ และเมื่อไม่ทราบสาเหตุแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อก็ไม่ได้รายงานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที เป็นโอกาสให้เชื้อโรคพัฒนาตัวเองและมีความรุนแรงมากขึ้น

“มีผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉยๆ หรือไข้หวัดใหญ่กว่า 50% ที่ไม่ทราบสาเหตุของการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงนี้ทำให้ไม่ได้รับรายงานอย่างทันท่วงทีจากพื้นที่ที่พบการติดเชื้อ ทำให้เราประมาท จนเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมากเราจึงไปตามค้นสาเหตุ อีกอย่างเรามักหาเชื้อจากโรคที่มีอยู่สารบบ อย่างโรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออกจากเชื้อเด็งกี่ เป็นต้น การตรวจจึงเจาะจงที่เชื้อเป็นตัวๆ แต่เชื้อโรคในคน 2 ใน 3 หรืออาจมากถึง 3 ใน 4 เป็นเชื้อโรคที่ได้รับจากสัตว์ และเชื้อโรคที่ได้รับจากสัตว์นั้นเป็นเชื้อโรคจากสัตว์ป่าถึง 75% โดยได้รับผ่านยุง แมลง และปรสิตอย่างเห็บ หมัด ริ้น ไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2547 ยังอธิบายต่อไปว่า ขณะเชื้อไวรัสเกิดการติดเชื้อจากสัตว์ตัวหนึ่งไปยังยังสัตว์อีกตัวซึ่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน เช่น การติดเชื้อจากค้างคาวไปสู่ค้างคาว จะมีการแปรรหัสพันธุกรรมไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสามารถข้าม “ปราการกั้นของสายพันธุ์” นั่นหมายถึงเชื้อไวรัสจะติดเชื้อจากสัตว์ชนิดหนึ่งไปยังสัตว์อีกชนิดได้ เช่น จากค้างคาวไปสู่นก จากนกไปสู่หนู แล้วที่สุดติดต่อไปถึงคน

จึงเกิดโครงการค้นหาเชื้อโรคที่พบในคนและสารพัดสัตว์ทั้งค้างคาว ยุง และปรสิตจำพวก เห็บ หมัด ริ้น ไร ซึ่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปี โดยการทำงานร่วมกันอย่างเต็มรูปแบบระหว่างแพทย์ในพื้นที่ซึ่งเกิดโรคติดเชื้อ สัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและแมลง ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยา ซึ่งในโครงการนี้จะดูด้วยว่าสัตว์ที่ไม่ป่วยแต่อมโรคหรือเป็นแหล่งรังโรคนั้นมีเชื้อโรคอะไรอยู่บ้าง รวมทั้งมีการตรวจรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรค แต่ด้วยงบประมาณอันจำกัด จึงเน้น จ.นครราชสีมา เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง และพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ได้แก่  จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.จันทบุรี

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “บทบาทของสัตว์ แมลงในการก่อโรค กลไกเชื้อและการรักษา” เป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2556 เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาทจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อต่อยอดโครงการวิจัยข้างต้น โดยผู้ได้รับทุนอีกคนคือ ศ.ดร.สมชาย วงษ์วิเศษ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าโครงการ “การเพิ่มการถ่ายเทความร้อนเชิงนวัตกรรมสำหรับอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนในอนาคต”
ค้างคาวแม่ไก่ หนึ่งในแหล่งรังโรคมาสู่คน
ยุงหนึ่งในแหล่งรังโรคมาสู่คน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และทีมวิจัยคณะใหญ่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“นักวิทย์ดีเด่น” วอนปั้นเด็กเสียแต่วันนี้อีก 20 ปีอาจไปไกลถึง “โนเบล”







กำลังโหลดความคิดเห็น