xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญไวรัสคาด ศิริราชพบแอนติบอดีรักษาอีโบลาอาจเป็นวิธีเดียวกับยาซีแมป มะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสคาด ศิริราชพบแอนติบอดีรักษาอีโบลา อาจเป็นวิธีสกัดเซรุ่มบริสุทธิ์ หรือ โมโนโคเนอร์แอนติบอดี แบบเดียวกับยาซีแมป ระบุแต่ต้องขออนุญาตนำเข้าเชื้อ เมื่อสำเร็จต้องขออนุญาต อย. บอกรอนักวิจัยเป็นผู้เปิดเผย

วันนี้ (30 ก.ย.) ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรฐานการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบันมีประมาณ 5 ประเภท คือ 1. การนำเลือดผู้ที่หายป่วยแล้วมาผลิตเป็นเซรุ่ม ซึ่งองค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้ 2. เซรุ่มบริสุทธิ์ที่สกัดจากใบยาสูบ หรือ โมโนโคเนอร์แอนติบอดี ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับการทำยาซีแมปที่สหรัฐอเมริกากำลังทดลองใช้ในคนที่ติดเชื้ออีโบลา แต่ยังไม่ยืนยันผลการรักษา เนื่องจากมีผู้หายจากอีโบลาด้วยยานี้เพียง 4 คน จาก 10 คน เท่านั้น 3. วัคซีนป้องกันโรค ซึ่งร่วมกันคิดค้นระหว่างแคนาดา และมหาวิทยาลัยเทกซัส ซึ่ง เพิ่งได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้เริ่มทดลองได้ 4. ยาวีแกนที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยญี่ปุ่นได้ทดลองใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยอีโบลา ในประเทศไนจีเรีย และ 5. การทดลองของนักวิจัยทหารของประเทศจีน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนกรณีข่าว ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ค้นพบแอนติบอดีนั้นตนไม่ทราบรายละเอียด แต่คาดว่าน่าจะเป็นการศึกษาตัวโมโนโคเนอร์แอนติบอดี ซึ่งวิธีดังกล่าวต้องเอาส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสอีโบลามาถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งต้องขออนุญาตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อนำเข้าเชื้อโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 และหากเป็นตัวนี้จริงๆ เมื่อศึกษาทดลองได้โมโนโคเนอร์แอนติบอดีแล้ว จะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีเซรุ่มเกิดขึ้นแล้ว และขออนุญาตทดลองตามมาตรฐานเภสัชอุตสาหกรรม (จีเอ็มพี) และแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นจึงผลิตขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อจดทะเบียนเป็นยาใหม่เพื่อการทดสอบประสิทธิภาพ ขั้นตอนนี้ต้องมีคณะกรรมการพิจารณาอีกอย่างน้อย 3 เดือน

“หากผ่านขั้นตอนทั้งหมดเหล่านี้แล้ว จึงจะถึงขั้นตอนการทดลองในสัตว์ และในคนอีก 4 เฟส กินเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ถ้าพบว่ามีประสิทธิภาพดีเยี่ยมจะต้องจดทะเบียนอีกครั้งกับ อย. เพื่อขอจำหน่าย ตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ดังนั้น จนกว่าจะสิ้นกระบวนการต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอให้ ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ มาให้ข้อมูล” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เคยให้สัมภาษณืกรณีนี้สั้นๆ ว่า ไม่ได้มีการนำเชื้ออีโบลาเข้ามาศึกษาแต่อย่างใด

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น