ยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของอินเดีย ทะยานฟ้าแล้ว โดยจากนี้จะใช้เวลาอีกราว 300 วัน เพื่อเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร และเริ่มปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญๆ เช่น ค้นหามีเทนบนดาวอังคาร เป็นต้น
ยานสำรวจดาวอังคารในวงโคจรมาร์สออร์บิเตอร์มิสชัน (Mars Orbiter Mission) ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation: ISRO) ทะยานฟ้าจากศูนย์อวกาศตีศธวัน (Satish Dhawan Space Centre SHAR) บนเกาะศรีหริโกฏา เมื่อเวลา 16.08 น. วันที่ 5 พ.ย.2013 ตามเวลาประเทศไทย โดยการนำส่งของจรวดนำส่งดาวเทียมขั้วโลก (Polar Sattellite Launch Vehicle: PSLV-C25) ซึ่งจากการติดตามพบว่าชิ้นส่วนจรวดแยกท่อนตามปกติ
เค ราธากฤษนัน (K Radhakrishnan) ประธานองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย ให้สัมภาษณ์ในรายงานของบีบีซีว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอินเดียในการเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการการตรวจหามีเทน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการมีชีวิตบนดาวอังคารด้วย
ทั้งนี้ ยานจะใช้เวลากว่า 300 วัน เพื่อเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารโดยการควบคุมของอินเดียในวันที่ 21 ก.ย.2014 เมื่อยานเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร ทางอินเดียก็จะเริ่มการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ระหว่างที่ยานมุ่งหน้าจากโลกไปดาวอังคารนั้น พวกเขาก็จะสอบเทียบเครื่องมือไปด้วย โดยข้อมูลจากยานในวงโคจรดาวอังคารจะใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีมาถึงโลก
ทางด้านเอเอฟพีรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์หลายสิบคนในห้องควบคุมได้เฝ้าจับตาดูจรวดหนัก 350 ตัน ที่นำยานสำรวจไร้มนุษย์มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ซึ่งเป็นเผชิญความกดดันมากสุดนับแต่อินเดียเริ่มโครงการอวกาศเมื่อปี 1963 และไม่เคยส่งยานข้ามดาวเคราะห์มาก่อน ซึ่งมีปฏิบัติการสู่ดาวอังคารมากกว่าครึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยรวมถึงปฏิบัติการของจีนเมื่อปี 2011 และของจีนเมื่อปี 2003
โครงการยานมาร์ออร์บิเตอร์ หรือที่เรียกกันในอินเดียว่า “มงคลยาน” (Mangalyaan) ได้รับการประกาศโครงการโดยรัฐมนตรีของ นายมันโมหัน สิงห์ (Manmohan Singh) นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อ 15 เดือนก่อน ไม่นานหลังจากจีนล้มเหลวในการส่งยานสำรวจดาวอังคาร ซึ่งไม่สามารถหลุดจากชั้นบรรยากาศโลกได้
ยานสำรวจสีทองขนาดเท่ารถยนต์ขนาดเล็กที่มีเป้าหมายสำรวจมีเทนในบรรยากาศดาวอังคาร ถูกนำส่งโดยจรวดที่เอเอฟพีระบุว่า เล็กกว่าจรวดนำส่งของสหรัฐฯ หรือรัฐเซีย และเนื่องจากยานไม่มีพลังงานสำหรับบินตรงสู่ดาวอังคาร จรวดนำส่งจึงจะโคจรไปรอบเกือบๆ เดือน เพื่อให้เกิดความเร็วมากพอที่จะหนีจากแรงดึงดูดโลก จากนั้นจะเป็นการเริ่มต้นสู่ระยะที่สองของการเดินทางยาว 9 เดือน ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์อินเดียอีกครั้ง หลังจากประสบความสพเร็จในการส่งจันทรายาน (Chandrayaan) ไปสำรวจดวงจันทร์เมื่อ 5 ปีก่อน
สำหรับมูลค่าของมงคลยานนั้นอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท ถูกกว่ามูลค่ายานสำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่จะส่งตามขึ้นไปในเดือนนี้ถึงกว่า 6 เท่า ซึ่ง โจ เกรโบว์สกี (Joe Grebowsky) นักวิทยาศาสตร์ยานสำรวจดาวอังคารของนาซาให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า แทบไม่เชื่อที่อินเดียจะส่งยานได้เร็วขนาดนี้ หากโครงการสำเร็จก็นับเป็นเรื่องยอดเยี่ยมมาก
เกรโบว์สกีเน้นด้วยว่าดาวอังคารนั้นมีวงโคจรที่ซับซ้อนและอยู่ไกลจากโลก 50-400 ล้านกิโลเมตร เมื่อยิงจรวดไปดาวอังคารจึงต้องคำนวณด้วยว่าดาวเคราะห์เพื่อนบ้านอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมให้เราไปถึงที่นั่นได้ เมื่อเปรียบกับปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์แล้วปฏิบัติการสู่ดาวอังคารจึงซับซ้อนกว่ามาก
เอเอฟพีระบุว่าอินเดียก็เคยเผชิญความล้มเหลวในโครงการอวกาศเช่นกัน อย่างกรณีการสูญเสียการติดต่อกับจันทรายานเมื่อปี 2009 หรือจรวดนำส่งระเบิดระหว่างทะยานตัวขึ้นเมื่อปี 2010 นอกจากนี้อินเดียยังต้องโต้เถียงกับคนที่กล่าวว่า อินเดียที่เผชิญกับความขัดสนในการเลี้ยงดูประชากรอย่างเพียงพอและกว่าครึ่งประเทศไม่มีส้วมใช้นั้น ไม่ควรใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายไปกับการท่องอวกาศ
ทว่า องค์การอวกาศอินเดียโต้แย้งว่า เทคโนโลยีของพวกเขาได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการใช้ดาวเทียมตรวจตราสภาพอากาศและทรัพยากรน้ำ หรือช่วยเรื่องการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลได้ อีกทั้งยังสนับสนุนเทคโนโลยีจรวดแก่หน่วยงานป้องกันประเทศเพื่อโครงการขีปนาวุธของอินเดีย โดย ราธากฤษนัน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายงานของบีบีซีว่า อินเดียทุ่มงบประมาณสำหรับโครงการอวกาศเพียง 0.34% ของรายได้ประชาชาติ และในจำนวนนั้นเป็นงบประมาณสำหรับปฏิบัติการสู่ดาวอังคารเพียง 8%
อ่านเพิ่มเติม
- จนๆ อย่างอินเดียจะไปดาวอังคาร
- อย่าดูแคลน! อินเดียเคยพบน้ำแข็งบนดวงจันทร์มาแล้ว
-
อินเดียเปิดตัวสู้ศึกอวกาศแห่งภูมิภาค ส่ง “จันทรายาน” สำรวจผิวดวงจันทร์
-
อินเดียฉลองชัย “จันทรายาน” ปักธงบนดวงจันทร์สำเร็จ
- จันทรายานส่งเรดาร์ลงสำรวจหลุมมืดที่สุดบนดวงจันทร์ ได้เป็นครั้งแรก
-
อินเดียงานเข้า! “จันทรายาน” ร้อนเกินสำรวจดวงจันทร์ต่อ
- อินเดียเชื่อ “จันทรายาน” โหม่งพื้นดวงจันทร์หลังติดต่อไม่ได้
-
อินเดียเปิดบ้าน “ประชุมอวกาศ” ฉลองครึ่งศตวรรษตะลุยนอกโลก
-
ญี่ปุ่น-จีน-อินเดียแข่งสำรวจดวงจันทร์