xs
xsm
sm
md
lg

Tycho Brahe นักดาราศาสตร์ตาเปล่าผู้ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Tycho Brahe
เมื่อ Tycho Brahe ถือกำเนิดในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1546 (ยุคพระไชยราชา) ที่ปราสาท Knutstorp ในเมือง Scania ประเทศสวีเดน นักดาราศาสตร์ Nicolaus Copernicus ได้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 3 ปี ศิลปิน Michelangelo มีอายุ 71 ปี จักรพรรดิ Suleiman แห่งอาณาจักร Ottoman มีพระชนมายุ 52 พรรษา นักวิทยาศาสตร์ William Gilbert ผู้ศึกษาธรรมชาติของแม่เหล็กมีอายุ 2 ปี ส่วน Galileo และ Johannes Kepler ยังไม่เกิด จนอีก 18 ปี และ 25 ปีต่อมาตามลำดับ

ตั้งแต่เด็ก Tycho ใช้ชื่อในภาษาเดนมาร์กว่า Tyge จนกระทั่งอายุ 15 ปี จึงเปลี่ยนชื่อเขียนเป็นภาษาละตินว่า Tycho บิดาของ Tycho มีชื่อว่า Otto เป็นผู้ว่าราชการแห่งเมือง Helsingborg ในเดนมาร์ก (ในสมัยนั้นเดนมาร์กอยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดน) ส่วนมารดาชื่อ Beate เป็นนางสนองพระโอษฐ์ในกษัตริย์เดนมาร์ก ดังนั้นตระกูล Brahe จึงมีฐานันดรศักดิ์ค่อนข้างสูง เมื่อ Beate ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก แพทย์ตรวจพบว่าเธอจะคลอดลูกแฝด Otto จึงสัญญากับพี่ชายชื่อ Joergen ว่า จะมอบลูกคนแรกให้เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวท่านนายพล เพราะท่านไม่มีทายาท แต่เมื่อลูกแฝดคนน้องเสียชีวิต พ่อแม่ของ Tycho ก็เปลี่ยนใจ และเก็บ Tycho ไว้เลี้ยงเอง ซึ่งทำให้ท่านนายพลรู้สึกโกรธมาก จึงขโมยทารก Tycho ไปซ่อนที่ปราสาท Hvedborg ในเมือง Funen

แต่ทั้ง Beate และ Otto ก็ไม่ผิดหวังมาก เพราะในเวลาต่อมา Beate ก็ให้กำเนิดลูกอีก 9 คน และ Otto ได้ยกโทษให้พี่ชาย

Tycho ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีเหมือนลูกแท้ๆ ของลุงและป้า และเป็นสมาชิกคนเดียวของตระกูล Brahe ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

เมื่ออายุ 12 ปี ลุงได้ส่ง Tycho ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Copenhagen (ทั้งๆ ที่ Tycho มีอายุน้อย แต่ก็สามารถเข้าได้ เพราะเส้นใหญ่) ลุงหวังให้ Tycho เรียนกฎหมายเพื่อจะได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดต่อองค์กษัตริย์ Frederick ที่ 2 เป็นการสืบทอดความมีชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลซึ่ง Tycho ก็ได้ทำตามที่ลุงต้องการ

แต่ขณะเรียนชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัย Tycho ได้ยินข่าวโหรหลวงทำนายว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1560 ซึ่งก็เกิดจริง Tycho รู้สึกอัศจรรย์ใจมากที่มนุษย์สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดบนสวรรค์ได้อย่างแม่นยำถึงระดับที่สามารถทำนายเวลาและสถานที่ๆ เหตุการณ์จะเกิดได้ จึงไปซื้อตำรา Almagest ของ Ptolemy และตำรา Tractatus de Sphaera มาอ่านหลายเล่ม แทนที่จะซื้อตำรากฎหมาย

ลุงจึงคิดว่า ความสนใจเรื่องดาวและเดือนของ Tycho คงเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ และคาดว่าอีกไม่นาน Tycho จะเปลี่ยนใจ ดังนั้นจึงเดินหน้าด้วยการส่งหลานไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Leipzig ในเยอรมนี และเพื่อให้มั่นใจว่าหลาน (ลูกบุญธรรม) คนนี้ไม่ “ทรยศ” ลุงได้จ้างคนไปเฝ้าดูการใช้ชีวิตและติดตามการเรียนของ Tycho อย่างใกล้ชิด แต่ Tycho ก็จะแอบนั่งดูดาวในเวลาดึก เมื่อคนเฝ้าหลับ นอกจากนี้ก็ยังได้ไปลงทะเบียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งคนเฝ้าก็ได้พยายามยื้อไม่ให้ Tycho เรียน โดยบอกว่าหัวหน้าภาคคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Copenhagen เสียสติเป็นบ้า เพราะเรียนเลขมากไป แต่ Tycho ก็ไม่สนใจใยดีในคำขู่ กลับไปซื้อหนังสือต้องห้ามของ Copernicus มาอ่านให้เห็นอีกด้วย

เมื่ออายุ 18 ปี Tycho ได้สร้างอุปกรณ์ง่ายๆ เพื่อดูดาว และพบว่า แผนที่ดาวฤกษ์ที่นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นใช้กันไม่ถูกต้อง จึงตัดสินใจจะทำแผนที่ของดาวฤกษ์ทั่วฟ้าเป็นงานค้นคว้าของชีวิต

ข่าวการตัดสินใจเช่นนี้มิได้ทำให้ครอบครัว Brahe รู้สึกดีเลย แต่ทุกคนก็ตระหนักดีว่าถ้า Tycho ตัดสินใจในเรื่องอะไรแล้ว เขาจะไม่เปลี่ยนใจอีกเลย

ช่วงเวลาระหว่างปี 1563 – 1565 ได้เกิดสงครามระหว่างเดนมาร์กกับสวีเดน Tycho ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 19 ปี ได้ถูกลุงเรียกตัวกลับบ้าน แต่เมื่อถึงบ้านทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้สนทนากัน ลุงก็ตามเสด็จกษัตริย์ Frederick ที่ 2 ออกสงคราม ขณะกษัตริย์ทรงม้าข้ามสะพาน กษัตริย์ซึ่งทรงโปรดน้ำจัณฑ์มากและเมา ได้ทรงตกจากหลังม้าลงน้ำ ลุงได้กระโดดลงไปช่วยชีวิตพระองค์ไว้ แต่ลุงเองได้ล้มป่วยด้วยโรคปอดบวม และเสียชีวิต

เมื่อไม่มีลุง ความกดดัน และการบีบบังคับต่างๆ ก็ไม่มีอีกต่อไป Tycho จึงเริ่มชีวิตจะเป็นนักดาราศาสตร์ตามที่ตนต้องการ และได้เดินทางไปค้นหาหาความรู้เพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัย Wittenberg และ Rostock ในเยอรมนี รวมถึงมหาวิทยาลัย Basel และ Augsburg ในสวิสเซอร์แลนด์ด้วย

แต่ขณะเรียนที่ Wittenberg Tycho ซึ่งเป็นคนที่ชอบวางตัวสูง เพราะภูมิใจว่าเป็นผู้ดี เช่น แต่งตัวด้วยเครื่องประดับมากมาย ใส่เสื้อผ้าสีแดง และสีทอง อันเป็นสีที่คนชั้นต่ำถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาด ได้ถูกเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งล้อเลียน Tycho ซึ่งเป็นคนอารมณ์ร้อน จึงท้าดวลดาบกับนิสิตคนนั้น และจมูกของ Tycho ได้ถูกดาบฟันจนขาดแหว่ง จึงต้องหาเลี่ยมที่ทำด้วยเงินปนทองคำมาทำเป็นดั้งจมูกปลอมแทน และ Tycho ได้สวมดั้งเทียมนี้จนตลอดชีวิต
Tycho crater บนดวงจันทร์
อีก 2 ปีต่อมา กษัตริย์ Frederick ที่ 2 ทรงโปรดเกล้าให้ Tycho ดำรงตำแหน่งเป็นบาทหลวงแห่งมหาวิหาร Roskilde ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แสนสบาย เพราะ Tycho ไม่ต้องทำงานเลย แต่ได้เงินเดือน และ Tycho เข้ารับทำงานนี้ ทั้งๆ ที่ Tycho มิได้เคยร่ำเรียนวิชาศาสนาเลย แต่เมื่อเป็นพระราชประสงค์ของกษัตริย์ หรืออาจจะเพราะกษัตริย์ทรงสำนึกผิดที่ได้ทำให้ลุงของ Tycho ตาย จึงทรงพยายามหาทางชดใช้ความผิดนั้น นอกจากเหตุผลนี้แล้ว Tycho ยังเป็นปราชญ์ดาราศาสตร์ผู้มีความรู้โหราศาสตร์มากด้วย ดังนั้น จึงอาจทำหน้าที่เป็นโหรหลวงในพระองค์ได้ ถ้าได้อยู่ใกล้ๆ

Tycho จึงทุ่มเททำงานดาราศาสตร์ที่ใจรัก และทำตัวเป็นนักดาราศาสตร์เต็มตัวทั้งๆที่ไม่มีใครในตระกูลคาดหวังหรือต้องการให้เขาเป็นเช่นนั้นเลย เท่านั้นยังไม่พอ คุณชาย Tycho ยังไปแต่งงานกับหญิงชาวนาที่มีฐานะต่ำต้อยมากด้วย นี่จึงเป็นการสมรสที่ผิดขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคมยุคนั้นอย่างรุนแรง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของญาติ แต่ Tycho ก็ไม่ฟัง ทำนองยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ เพราะ Tycho รักภรรยาจริง และมีลูก (ให้ดู) ถึง 8 คน

ในฐานะที่เป็นนักดาราศาสตร์ผู้คิดจะทำแผนที่ดาวฤกษ์ให้ดีกว่าแผนที่เก่า Tycho ต้องประสบปัญหามากมาย เช่น ในสมัยนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าดาวฤกษ์ต่างๆ อยู่ไกลจากโลกเพียงใด และอยู่ห่างกันเพียงไร Tycho จำต้องวัดระยะทางเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วยอุปกรณ์ที่ทำเอง (ในสมัยนั้นยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์) อย่างง่ายๆ และใช้ตาเปล่าในการสังเกต

ในคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1572 ขณะ Tycho ใช้ตาสำรวจท้องฟ้า เขาได้เห็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ปรากฎ ดาวดวงนี้สว่างจ้าในหมู่ดาวค้างคาว (Cassiopeia) และเป็นดาวที่ไม่มีใครเคยเห็น หรือรู้จักมาก่อน เพราะไม่ปรากฎในตำราดาราศาสตร์ใดๆ Tycho แทบไม่เชื่อสายตาของตน เขาคิดว่า ตาเขาฝาดจึงเรียกคนใช้มาดู และคนใช้ก็ยืนยัน แม้จะเป็นเวลากลางวัน คนทุกคนก็ยังเห็นดาวดวงนี้สว่างยิ่งกว่าดาวศุกร์ การติดตามสังเกตในเวลาต่อมา ทำให้ Tycho พบว่า ความเข้มของแสงดาวดวงนี้ได้เพิ่มขึ้นๆ จนถึงจุดสูงสุด แล้วแสงก็มัวลงๆ จนดับในอีก 6 เดือนต่อมา

เหตุการณ์นี้แสดงว่า ดาวบนสวรรค์มีการเปลี่ยนแปลง จึงนับว่าไม่ตรงกับคำสอนของ Aristotle

สำหรับเรื่องธรรมชาติที่แท้จริงของดาวดวงนี้ คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นคิดว่าเป็นดาวหาง ศิลปิน George Busch เชื่อว่ามันคือดาวที่พระเจ้าส่งมาเตือนมนุษย์โดยการห้ามมิให้ทำบาป แต่ Tycho ไม่เชื่อว่ามันเป็นดาวหางอย่างแน่นอน เพราะ Aristotle บอกว่า ดาวหางจะอยู่ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ แต่หลังจากที่ได้จับตาดู เป็นเวลาหลายเดือน ดาวสว่างดวงนี้ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเลย Tycho จึงคิดว่า ดาวดวงนี้ จะต้องอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ อย่างแน่นอน เทคนิคการวัดอย่างง่ายๆ ทำให้ Tycho คิดว่า ดาวอยู่ห่างโลกประมาณ 700 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดาวเสาร์ (จริงๆ อยู่ห่างประมาณ 20,000 ปีแสง และเป็นดาวฤกษ์ที่ระเบิดตัวเองเมื่อถึงเวลาแตกดับ ซึ่งปัจจุบันเราเรียกดาวระเบิดนี้ supernova)

เมื่อมีข้อมูลใหม่และมีความรู้ใหม่ Tycho จึงเขียนตำราชื่อ De Nova Stella (The New Star) ซึ่งได้ทำให้ Tycho เป็นนักดาราศาสตร์วัย 26 ปี ที่มีชื่อเสียงมาก เพราะได้พบดาวฤกษ์ดวงใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนในช่วงเวลา 2,000 ปีที่ผ่านมา
Tycho crater บนดวงจันทร์
จากนั้นจึงเดินทางตระเวนไปทั่วยุโรปเพื่อแสวงหาคนอุปถัมภ์โครงการดูดาวของตน และได้ไปบรรยายถวายกษัตริย์ Wilhelm ที่ 4 แห่งเยอรมนี ซึ่งได้ทำให้พระองค์ทรงประทับใจมาก จึงทรงบันทึกในพระราชสาส์นถึงกษัตริย์ Frederick ที่ 2 ว่า จะต้องไม่อนุญาตให้ Tycho ไปทำงานในประเทศอื่นนอกจากประเทศเดนมาร์กเท่านั้น เพราะ Tycho คือ มหาสมบัติของชาติ

พระเจ้า Frederick ที่ 2 จึงโปรดให้ Tycho เข้าเฝ้า และทรงบอกว่า จะเป็นผู้อุปถัมภ์ Tycho เอง ครั้นเมื่อ Tycho ทูลขอสถานที่ดูดาว พระองค์จึงทรงประทานเกาะ Hven ให้ทั้งเกาะ ซึ่งเกาะนี้ตั้งอยู่ในทะเลระหว่างสวีเดนกับเดนมาร์ก และเป็นเกาะขนาดเล็กที่ Tycho เคยเดินไปรอบเกาะเพื่อวัดขนาดและพบว่า ต้องเดิน 8,160 ก้าว บนเกาะมีชาวบ้าน 40 ครอบครัว อาศัยอยู่พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ทรงประทานเงินจำนวนมหาศาลให้ Tycho ด้วย เพื่อให้ก่อสร้างหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Tycho จึงใช้ชีวิตเยี่ยงกษัตริย์ (นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นมีบุญมาก)

Tycho ได้สร้างปราสาทชื่อ Uraniborg (ตามชื่อ Urania ผู้เป็นเทพแห่งดาราศาสตร์) และ Stjerneborg ซึ่งเป็นหอดูดาวใต้ดินที่มีอุปกรณ์ดาราศาสตร์ครบครันเช่น sextant, quadrant ขนาดใหญ่ซึ่งสามารถวัดมุมได้ละเอียดถึง 1/60 องศา อีกทั้งมีที่พัก ที่ทำงานของ Tycho กับผู้ช่วย มีห้องน้ำ ห้องปฏิบัติการทดลองเคมี โรงพิมพ์ และห้องสมุดที่มีหนังสือประมาณ 3,000 เล่ม หอดูดาวนี้จึงเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของโลกที่มี Tycho เป็นนักดาราศาสตร์ประจำ ในเวลาต่อมา Tycho ก็ได้นำเสนอแบบจำลองของเอกภพใหม่ที่แตกต่างจากเอกภพของ Ptolemy และ Copernicus

เพราะ Ptolemy คิดว่าโลกคือศูนย์กลางของเอกภพ แต่ Copernicus คิดว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลาง Tycho ซึ่งไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่คิดถูก จึงเสนอความคิดใหม่ว่า โลกอยู่นิ่งโดยมีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไปรอบโลก (ตามแนวคิดส่วนหนึ่งของ Ptolemy) แต่ Tycho ก็ได้นำความคิดของ Copernicus มาปนด้วย โดยให้ดาวเคราะห์อื่นๆ เช่น พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์โคจรรอบดวงอาทิตย์) ส่วนดาวฤกษ์อื่นๆ ทุกดวงตรึงอยู่บนผิวทรงกลมแก้วที่ล้อมรอบโลก

แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1577 (ในปีนั้น William Shakespeare กับ Galileo มีอายุ 13 ปี ส่วน Kepler มีอายุ 6 ปี และ Giordano Bruno มีอายุ 29 ปี) ได้มีดาวหางดวงหนึ่งปรากฏในท้องฟ้าเป็นเวลานาน 2 เดือน การสังเกตวงโคจรของดาวหางทำให้ Tycho รู้ว่า ดาวหางอยู่นอกวงโคจรของดวงจันทร์ และดาวหางได้ทะลุผ่านทรงกลมแก้วเข้ามาใกล้โลก หรืออีกนัยหนึ่งทรงกลมแก้วของ Ptolemy ไม่มีจริง

ชะตาชีวิตของ Tycho เริ่มตกต่ำเมื่อกษัตริย์ Frederick ที่ 2 เสด็จสวรรคต และองค์รัชทายาทคือสมเด็จพระเจ้า Christian ที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์แทน กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงไม่โปรดปราน Tycho เพราะทรงเห็นว่า Tycho เป็นคนหยิ่งจองหองและชอบสำคัญตัวว่ายิ่งใหญ่ ครั้นเมื่อ Tycho ถูกชาวบ้านบนเกาะ Hven ฟ้องกษัตริย์ว่า Tycho ชอบใช้อำนาจและใช้ชาวบ้านเยี่ยงทาส กษัตริย์ Christian ที่ 4 จึงทรงยึดเกาะ Hven คืน และทรงไม่ประทานเงินให้ Tycho อีกเลย และทรงให้รื้อถอนอุปกรณ์ดาราศาสตร์ของ Uraniborg ออก เพื่อนำไปสร้างหอดูดาวใหม่ที่ Copenhagen

Tycho จึงต้องเดินทางออกจากเดนมาร์กในปี 1597 เพื่อไปทำงานที่ออสเตรียในฐานะนักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และโหรประจำราชสำนักในจักรพรรดิ Rudolf ที่ 2 แห่งอาณาจักรออสเตรีย และพระองค์ทรงโปรดให้มีการสร้างหอดูดาวที่ Prague เพื่อให้ Tycho สามารถทำงานด้านดาราศาสตร์ต่อไป

Tycho จึงประกาศหานักดาราศาสตร์ผู้ช่วยและมีคนมาสมัครมากมาย แต่ Tycho เลือกได้คนหนึ่งชื่อ Johannes Kepler ซึ่งเป็นหนุ่มวัย 28 ปี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีดาราศาสตร์ และเป็นคนที่มีจินตนาการระดับสุดยอด ความสามารถของ Kepler จึงเติมเต็มความสามารถของ Tycho วัย 53 ปี ซึ่งเป็นนักทดลอง แต่ตลอดเวลา 4 ปีที่ทำงานร่วมกัน ปรากฏว่าคนทั้งสองทำงานเข้ากันได้ไม่ดีนัก

เมื่อถึงวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1601 Tycho ก็ถึงแก่กรรมที่ Prague ศพของเขาถูกนำไปฝังที่ Church of Our Lady ใกล้ Old Town Square และจักรพรรดิ Rudolf ที่ 2 ทรงจัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ ท่ามกลางความสงสัยว่า Tycho ตายเพราะถูกวางยาที่มีปรอทปน แต่บางคนบอกว่า Tycho ตายเพราะกินปรอทที่ใช้รักษาซิฟิลิสของตนเอง เพราะมีการพบ mercuric chloride ที่เส้นผมในปริมาณมาก

หลังจากที่ Tycho เสียชีวิตไปแล้ว จักรพรรดิ Rudolf ที่ 2 ทรงสละราชสมบัติในปี 1611 เพราะพระสติฟั่นเฟือน และในปี 1619 Kepler ได้อาศัยข้อมูลดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับดาวอังคารของ Tycho มาสรุปเป็นกฎข้อที่ 3 เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ (Kepler เสนอสองกฎแรกตั้งแต่ปี 1597) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าแบบจำลองเอกภพของ Copernicus ถูกต้อง และของ Tycho ซึ่งเป็นนายเก่านั้นผิด

ในปี 1901 ซึ่งเป็นเวลาครบ 3 ศตวรรษที่ Tycho เสียชีวิต ได้มีการขุดศพของ Tycho กับภรรยา Kisstine ขึ้นมา ศพทั้งสองยังมีสภาพดีเพราะถูกนำมาเคลือบด้วยน้ำมัน แต่ส่วนที่เป็นจมูกของ Tycho ปรากฎเป็นรูโหว่ เพราะถูกคนขโมยดั้งจมูกทองคำปนเงินไป

ณ วันนี้โลกดาราศาสตร์มี Tycho crater และ Tycho Brahe crater บนดวงจันทร์และดาวอังคารตามลำดับครับ

อ่านเพิ่มเติมจาก On Tycho’s Island: Tycho Brahe and his Assistants 1570-1601 โดย John Robert Christianson จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press, New York ปี 2000

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น