xs
xsm
sm
md
lg

Rita Levi – Montalcini นักวิทย์โนเบลคนแรกที่อายุยืนเกินศตวรรษ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Rita Levi – Montalcini เมื่อปี 2008  (ภาพประกอบทั้งหมดจากเว็บไซต์โนเบล)
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.2012 Rita Levi – Montalcini วัย 103 ปี ได้อำลาโลก แม้จะเป็นคนร่างเล็ก และไม่สวยระดับดาราภาพยนตร์ Sophia Loren แต่เวลาเธอเดินไปไหนมาไหนในอิตาลี ผู้คนจะหันไปดูด้วยความชื่นชม เพราะเธอเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีชาวอิตาลีผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ และสรีรวิทยาประจำปี 1986 ร่วมกับ Stanley Cohen ด้วยการพบ Nerve Growth Factor (NGF) ที่เซลล์ใช้ในการเติบโต

หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบล Rita ในฐานะมหาสมบัติแห่งชาติ ก็ได้รับตำแหน่งวุฒิสมาชิกตลอดชีพ และมีบทบาทในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของอิตาลีที่รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต้องรับฟังความคิดเห็น เช่น เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.2006 ซึ่งเป็นวันที่วุฒิสภาของอิตาลีต้องพิจารณางบประมาณประเทศที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Romano Prodi จะนำเสนอ เพราะคะแนนที่สนับสนุนพรรคของ Prodi มีมากกว่าคะแนนของพรรคฝ่ายค้านเพียง 1 เสียง ดังนั้นการลงคะแนนของ Montalcini จึงมีความสำคัญมาก

เพราะ Montalcini เป็นเพื่อนของ Prodi ดังนั้นเมื่อเขาขอคะแนน เธอจึงขอให้เขาเปลี่ยนกฎหมายสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์ของประเทศในบางประเด็น ซึ่ง Prodi ก็ยินยอม

ในวันสำคัญ Rita ได้รับพัสดุชิ้นหนึ่งจาก Francesco Storace ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคฝ่ายค้าน ของขวัญนั้นเป็นไม้ที่ใช้ค้ำรักแร้เวลาเดิน ซึ่งมีนัยยะว่า เธอวัย 97 ปี ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง และต้องใช้ไม้เท้าพยุง Rita จึงตัดสินใจไปลงคะแนนที่รัฐสภาอย่างมีสไตล์ โดยสวมชุดของ Valentino ซึ่งเป็นช่างออกแบบเสื้อชื่อดัง ผมเธอดัดเรียบร้อย สวมรองเท้าส้นสูง และเยื้องย่างเหมือนราชินี ขณะเดินไปลงคะแนน เจ้าหน้าที่รัฐสภาคนหนึ่งได้ยื่นแขนให้เธอเกาะ เพื่อไปที่ลงคะแนน และประคองเธอกลับที่นั่ง

Rita Levi – Montalcini เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1909 (ตรงกับรัชสมัยพระปิยมหาราช) ที่เมือง Turin ในครอบครัวอิตาเลียนเชื้อชาติยิวที่มีฐานะดี ครอบครัวมีลูก 4 คนและ Rita เป็นลูกคนสุดท้อง บิดาของเธอมีอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่ชอบบังคับจิตใจลูกๆ อย่างมาก เช่น เคยบอก Rita ว่าเขาไม่ต้องการให้เธอเรียนสูงถึงระดับมหาวิทยาลัย และประสงค์จะให้เธอเรียนจบแค่ชั้นมัธยมเท่านั้นเองแล้วแต่งงาน เธอจึงต้องต่อสู้กับความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของบิดาตลอดเวลา แต่เธอก็ยังยืนยัน ในที่สุดบิดาก็ยินยอมอย่างไม่ยินดี และเมื่อเธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ Rita ก็ต้องต่อสู้ต่ออีก คราวนี้กับระบบปกครองแบบฟาสซิสม์ของ Beneto Mussolini ซึ่งได้ออกกฎหมายกีดกัน และกลั่นแกล้งคนเชื้อสายยิวทุกรูปแบบ เช่น ขับไล่เธอออกจากมหาวิทยาลัย เธอจึงต้องหลบหนีไปซ่อนตัวในต่างประเทศ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกจับกุม นอกจากนี้ เธอก็ยังต้องต่อสู้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้ชายที่มักไม่เชื่อหรือยอมรับความสามารถวิทยาศาสตร์ของสตรี เวลาเธอแถลงว่า เธอได้พบองค์ความรู้ใหม่

ขณะเรียนหนังสือระดับประถมศึกษา บิดาของ Rita ได้จ้างครูมาสอนหนังสือให้เธอที่บ้าน ครั้นเมื่อครูคนนี้ที่เธอรักมากต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง Rita จึงตัดสินใจจะเป็นแพทย์ เมื่ออายุ 21 ปี เธอได้ขออนุญาตบิดาไปเรียนแพทย์ที่ University of Turin School of Medicine ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียง เพราะมีนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญเช่น Salvadore Luria (รางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ปี 1969) และ Renato Dulbecco (รางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ปี 1975) เป็นอาจารย์สอน (แต่ในขณะนั้นคนทั้งสองยังไม่ได้รับรางวัล)

ที่ Turin เธอได้ฝึกวิจัยกับ Guiseppe Levi (สามีในอนาคตของเธอ) เรื่อง การศึกษาเซลล์ประสาทด้วยเทคนิคย้อมสีของ Camillo Golgi และ Santiago Ramon y Cajal ซึ่งเธอทำได้ดีมาก จนสามารถเห็นเส้นประสาทภายในเซลล์ได้อย่างชัดเจนด้วยกล้องจุลทรรศน์
Rita Levi – Montalcini เมื่อปี 2008 ระหว่างให้สัมภาษณ์ บรรณาธิการเว็บไซต์รางวัลโนเบล
Rita สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ เมื่ออายุ 27 ปี แต่ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลฟาสซิสต์ของ Benito Mussolini ได้ออกกฎหมายขับไล่อาจารย์อิตาลีสัญชาติยิวทุกคนออกจากมหาวิทยาลัย แม้กระทั่ง Guiseppe Levi ก็ถูกไล่ออกด้วย เพราะเขาเป็นคนยิวหัวรุนแรงที่กล้าแสดงออกว่าต่อต้านระบบฟาสซิสต์ ส่วน Rita ต้องเดินทางไปหลบซ่อนที่กรุง Brussels ในเบลเยี่ยม เพื่อความปลอดภัย แต่เมื่อเบลเยี่ยมถูกกองทัพนาซีบุกยึดครองอีก เธอจึงต้องหนีกลับอิตาลีเพราะรู้สึกเป็นห่วงครอบครัวมาก และได้ไปแอบซ่อนอยู่ในชนบทใกล้เมือง Florence เพื่อทำงานวิจัยที่เธอรักต่อไป เธอได้รับแรงดลใจในการทำงานจาก Cajal ผู้สามารถทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์อย่างโดดเดี่ยวได้ในห้องปฏิบัติการเล็กๆ Rita จึงใช้ห้องนอนของเธอที่เมือง Valencia เป็นห้องทดลองด้วย เพื่อดูว่าเส้นประสาทที่เติบโตจากเซลล์ไขสันหลังของตัวอ่อน เดินทางไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา สมอง ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานได้อย่างไร

เมื่อสองปีก่อนนั้น Rita ได้เคยอ่านผลงานวิจัยของ Viktor Hamburger แห่งมหาวิทยาลัย Washington ที่เมือง St. Louis ในรัฐ Missouri ซึ่งได้พบว่า เวลาแพทย์ตัดชิ้นส่วนของตัวอ่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นอวัยวะเช่น แขน และขาออกไป เนื้อเยื่อส่วนที่เรียก ganglion ของตัวอ่อนจะลดขนาด (ganglion คือเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ส่งสัญญาณประสาท (nerve impulse) ไปสู่เซลล์ปลายทาง) ในงานวิจัยนั้น Hamburger ได้ตั้งสมมติฐานว่า การที่ ganglion หดตัวเพราะขาดสารบางชนิดที่มีบทบาททำให้เซลล์เจริญเติบโต ทั้งๆ ที่ Hamburger ไม่สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ของเส้นใยประสาท เพราะเขาใช้แสงธรรมดาในการส่องดูเซลล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์

แต่ Rita ไม่คิดเช่นนั้น ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจศึกษาเรื่องนี้ โดยใช้ไข่ไก่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว และใช้อุปกรณ์ทดลองเท่าที่มีและหาได้ เพราะช่วงเวลานั้นโลกกำลังจะมีสงครามโลกครั้งที่สอง โรงไฟฟ้าต่างๆ ในอิตาลีทำงานอย่างไม่สม่ำเสมอ บางครั้งชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากสภาพทำงานที่ไม่อำนวยแล้ว ไข่ไก่ที่เธอใช้ในการทดลองก็ถือเป็นอาหารขาดแคลน ดังนั้น เธอจึงต้องเดินทางไปเมือง Florence โดยการปลอมตัวเป็นหญิงบ้านนอก และได้ชี้แจงกับคนขายว่าการที่เธอต้องใช้ไข่ไก่จำนวนมาก เพราะไข่ไก่มีคุณค่าทางอาหาร ซึ่งเธอจะใช้เลี้ยงลูกๆ (Rita เป็นโสด)

การสังเกตอย่างละเอียดรอบคอบของเธอแสดงให้เห็นว่า ganglion มิได้หดตัว แต่กลับเพิ่มขนาด แล้วเติบโตต่อไป แต่เมื่อใกล้จะถึงเซลล์เป้าหมาย มันจะหยุดทำงาน

ดังนั้นการเติบโตของ ganglion จึงมิได้เกิดจากการขาดสารอาหารจากสิ่งแวดล้อม แต่เกิดจากการขาดสารอาหารที่มีในตัวของมันเอง

Rita ทำงานวิจัยชิ้นนี้ โดยมีอาจารย์ Guiseppe Levi เป็นที่ปรึกษา และนับเป็นโชคดีที่งานวิจัยชิ้นนี้ของเธอกับ Levi ถูกบรรณาธิการวารสารอิตาลีปฏิเสธไม่รับตีพิมพ์ เพราะผู้เขียนทั้งคู่มีเชื้อสายยิว บรรณาธิการยังปรามาสอีกว่า ถ้าได้ลงพิมพ์ ก็คงไม่มีใครอ่าน Rita กับ Levi จึงส่งผลงานไปลงพิมพ์ที่เบลเยี่ยม และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Belgium Archives de Biologie

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Rita ได้เดินทางกลับ Turin เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัย Turin โดยมี Levi เป็นผู้ช่วย เพราะเธอมีชื่อเสียงยิ่งกว่าเขาแล้ว และเมื่อเธอได้รับจดหมายจาก Viktor Hamburger ว่า หลังจากที่เขาได้อ่านงานวิจัยที่เธอทำร่วมกับ Levi เขารู้สึกประทับใจมาก จึงใคร่เชิญเธอไปทำงานร่วมกันที่มหาวิทยาลัย Washington ที่ St.Louis ในอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
Rita Levi – Montalcini ภายในห้องแล็บของเธอเมื่อปี 1959
ในเดือนกันยายนปี 1947 Rita เดินทางถึงมหาวิทยาลัย Washington ที่ St.Louis แต่แทนที่จะทำงานในตำแหน่งรองศาสตราจารย์นานหนึ่งเทอม เธอกลับทำงานที่นั่นนาน 26 ปีกับ Hamburger ซึ่งเป็นนักสรีรวิทยาชาวเยอรมันเชื้อชาติยิวที่ได้อพยพหนี Hitler ไปอเมริกา และเคยมีประสบการณ์ทำงานวิจัยร่วมกับ Hans Spemann ผู้เป็นนักคัพภวิทยาที่มีชื่อเสียง

จุดหักเหสำคัญในชีวิตของ Rita เกิดขึ้นเมื่อ Elmer Bucker ผู้เคยเป็นศิษย์ของ Hamburger ได้ส่งบทความวิจัยมาให้อาจารย์ ซึ่งกล่าวถึงผลงานวิจัยของเขาว่า เนื้อเยื่อที่กำลังเติบโต (เขาใช้เซลล์มะเร็งหนู) จะนำส่งโปรตีนต่อไปให้เซลล์ประสาท (neuron) แต่ Rita ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เธอได้วางแผนการทดลองใหม่โดยนำเซลล์มะเร็งหนูไปปลูกถ่ายในตัวอ่อนไก่ และพบว่า เซลล์มะเร็งขับโมเลกุลชนิดหนึ่งออกมาในเลือด ซึ่งจะเดินทางต่อไปยังตัวอ่อน และ Rita ได้เห็นใยประสาทเติบโตแยกจาก ganglion เหมือนรังสีแสงจากดวงอาทิตย์

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เธอได้นักชีวเคมีชื่อ Stanley Cohen มาทำงานด้วย ในที่สุด Cohen กับ Rita ก็ประสบความสำเร็จในการพบโมเลกุลลึกลับ ซึ่งปัจจุบันเรียก nerve growth factor (NGF) และคนทั้งสองได้เสนอผลงานนี้ในที่ประชุมของ New York Academy of Sciences ในปี 1951 แต่ไม่ได้รับความสนใจมาก

ในการวิเคราะห์หาชนิดของโมเลกุลลึกลับ Rita ได้ใช้เทคนิคการเลี้ยงเนื้อเยื่อในสมัยที่เธอเคยทำงานกับ Guiseppe Levi ที่ Turin และได้ฝึกเพิ่มเติมที่ Institute of Biophysics ของ Carlos Chagas ที่ Rio de Janeiro ในบราซิล จนเธอได้พบชัดว่า เซลล์เนื้องอกขับสาร growth factor ออกมา

จากนั้นต่อมาอีกกว่า 20 ปี Rita กับ Cohen ได้อุทิศตัวศึกษาสมบัติของ NGF ที่มหาวิทยาลัย Washington ต่อ และพบว่า สารประกอบนี้เป็นสารจำเป็นที่ทำให้เซลล์ประสาทมีชีวิต รวมถึงสารนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการของระบบประสาท และประสิทธิภาพการซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ถูกทำลาย เช่น เซลล์ประสาทของคนที่กำลังป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

แม้เธอจะชอบบรรยากาศทำงานในอเมริกา แต่ Rita ก็คิดถึงบ้าน และครอบครัวเธอด้วย ในปี 1961 เธอจึงกลับอิตาลี และบินไปๆ มาๆ ระหว่าง Rome กับ St.Louis

เมื่อเธอได้รับรางวัลโนเบล นักวิทยาศาสตร์บางคนไม่พอใจที่เธอมิได้อ้างถึงผลงานของ Levi และ Hamburger สำหรับ Hamburger นั้น เธอได้ชี้แจงให้ทุกคนฟังว่า เขาไม่สมควรจะได้รางวัล ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ ทำให้ Hamburger และศัตรูของเธอไม่พอใจ แต่สำหรับเรื่องความสมควรหรือไม่สมควรนี้ Hamburger ได้กล่าวว่า ถ้าเขาจะได้รางวัล เขาก็คงไม่มีเวลาเดินทางไป Stockholm และตัวเขาเองรู้ดีว่า เขาได้ทำอะไรไปบ้างในการสร้างองค์ความรู้ของวิทยาการสาขา Developmental Biology นี้
ภาพถ่ายบุคคลเมื่อ Rita Levi – Montalcini ฉลองอายุ 90 ปี ในปี 2005 (เครดิต)
สำหรับตัว Rita เมื่อถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2001 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกตลอดชีวิต โดยประธานาธิบดี Carlo Azeglio Ciampi และเมื่อทุกคนรู้ว่าแนวคิดของเธอค่อนข้างเอียงซ้าย ดังนั้น วุฒิสมาชิกที่เอียงขวา จึงมักจะโจมตีเธอในประเด็นอายุ และการมีเชื้อสายยิวบ่อย

ตลอดชีวิตเธอได้รับเกียรติยศ และรางวัลมากมาย เช่น ในปี 1968 เธอคือ สตรีคนที่สิบของโลกที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences แห่งอเมริกา

ในปี 1986 Rita Revi – Montalcini และผู้ร่วมงาน Stanley Cohen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ รวมทั้งรางวัล Albert Lasker ประจำปีนั้นด้วย และในปีต่อมา เธอได้รับเหรียญ National Medal of Sciences ซึ่งถือเป็นเกียรติทางวิทยาศาสตร์ที่สูงที่สุดของอเมริกา

ในปี 1999 Rita ได้รับเกียรติเป็นทูตขององค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (FAO)

ในปี 2008 เธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสตรีคนแรกของ Pontifical Academy of Sciences ผู้มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์แด่สันตะปาปา

ในวัยชราแม้สังขารจะร่วงโรย หูตึงมาก และตาใกล้บอด เธอก็ยังมีบทบาทในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ของอิตาลี ในฐานะประธานสถาบัน European Brain Research Institute และประธานมูลนิธิ Levi-Montalcini ซึ่งสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงและสตรีในแอฟริกา เมื่อเธออายุครบหนึ่งศตวรรษ ท่านนายกเทศมนตรีแห่งโรมได้จัดพิธีฉลอง ณ ที่ทำการของผู้ว่าฯ

เธอมีทัศนะต่อความตายว่า คนเราจะตายวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเมื่อไรไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ คนๆ นั้นได้ทำอะไรที่สำคัญให้บุคคลอื่นได้คิดต่อหรือทำต่อบ้าง และถ้าให้เธอเลือกระหว่างชีวิตที่สมบูรณ์กับงานที่สมบูรณ์ เธอเลือกงาน

ถึงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.2012 นักวิทยาศาสตร์สตรีคนสำคัญคนหนึ่งก็อำลาโลก

อ่านเพิ่มเติมจาก In Praise of Imperfection: My Life and Work โดย Rita Levi – Montalcini ซึ่งแปลโดย Luigi Attardi และจัดพิมพ์โดย Sloan Foundation Science Series/Basic Books: 1988 ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จในการวิจัยนั้นผู้วิจัยโดยทั่วไปจำต้องมี 4 ปัจจัย คือ โชค ความอดทน ความชำนาญ และเงิน สำหรับ Rita Levi – Montalcini เธอมี 3 อย่างแรกอย่างสมบูรณ์ และไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยสุดท้ายมาก เธอก็ประสบความสำเร็จสูงสุดได้

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น