Joseph Rotblat เป็นหนึ่งในบรรดานักฟิสิกส์คนแรกๆ ของโลกที่รู้ว่า ระเบิดปรมาณูมีพลังในการทำลายมนุษย์ชาติได้ ดังนั้นเขาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตมารณรงค์ให้ประเทศมหาอำนาจ ไม่คิดจะใช้และลดปริมาณอาวุธนิวเคลียร์ที่สะสมไว้เพื่อโลกจะได้ปลอดภัย
J.Rotblat เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1908 ที่กรุง Warsaw ในโปแลนด์ บิดามารดามีสัญชาติยิว ครอบครัวมีฐานะปานกลางจากการทำธุรกิจกระดาษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อยุโรปตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ครอบครัว Rotblat จำต้องต้มเหล้าเถื่อนขายในห้องใต้ดิน แล้วเอาเงินที่ขาย Somogonka (ว้อดก้าผิดกฎหมาย) ได้มาใช้หนี้
เพราะ ครอบครัวลำบาก Joseph วัย 15 ปี จึงต้องทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในเวลากลางวันเพื่อหาเงินเข้าบ้าน และใช้เวลากลางคืนเล่าเรียนฟิสิกส์ด้วยตนเอง ความบากบั่นพยายาม และความสามารถของ Rotblat ทำให้ได้รับทุนเรียนดีของรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ Free University of Poland จนจบปริญญาเอก ด้วยการวิจัยเรื่อง การกระเจิง (scattering) ที่ไม่ยืดหยุ่นของอนุภาคนิวตรอนในสสาร ทั้งๆ ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยอยู่ในสภาพไม่ดี และไม่พร้อมสำหรับการวิจัยขั้นสูงเลย
หลังจากนั้น Rotblat ได้ไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการกัมมันตรังสี (Radiological Laboratory) ของสมาคม Scientific Society of Warsaw ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่นั่น Rotblat ได้ทราบข่าวที่สำคัญมาก ว่า Otto Hahn กับ Fritz Strassmann ในเยอรมนีได้พบปรากฏการณ์ Fission ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออนุภาคนิวตรอนที่มีความเร็วต่ำพุ่งชนนิวเคลียสของ ยูเรเนียม-235 แล้วทำให้นิวเคลียสแบ่งตัวเป็นนิวเคลียสใหม่สองส่วน คือ มีนิวเคลียสของ Krypton กับ Barium เกิดขึ้น นอกจากนี้ก็มีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นด้วย
Rotblat จึงมุ่งทำการทดลองนี้ซ้ำเพื่อดูว่า ในการแบ่งตัวของนิวเคลียสในแต่ละครั้งนั้น มีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นกี่ตัว เพราะถ้ามีนิวตรอนเกิดขึ้น 1 ตัว ปฏิกิริยานิวเคลียร์นี้ก็ไม่สามารถปลดปล่อยพลังงานออกมาได้ แต่ถ้ามีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตัว ปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ที่สามารถปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็จะเป็นเรื่องจริง และนั่นหมายความว่า การค้นพบนี้สามารถนำไปประยุกต์สร้างระเบิดปรมาณูได้
ในที่สุด Rotblat ก็ได้พบว่า ทุกครั้งที่นิวเคลียสของยูเรเนียมแบ่งตัวจะมีอนุภาคนิวตรอนเกิดตามมามากกว่า 1 ตัวเสมอ แต่ Rotblat ตีพิมพ์องค์ความรู้นี้ช้ากว่า Frederic Joliot – Curie เล็กน้อย ดังนั้นเครดิตการพบอนุภาคนิวตรอนจำนวนมากกว่า 1 อนุภาค ในปฏิกิริยานิวเคลียร์ fission จึงตกเป็นของ Joliot – Curie
ในปี ค.ศ.1939 Rotblat ได้เดินทางออกจากโปแลนด์เพื่อไปทำงานวิจัยกับ James Chadwick (ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 1935 ด้วยการค้นพบอนุภาค neutron) ที่มหาวิทยาลัย Liverpool ในอังกฤษ เพราะที่นั่นมีเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และ Rotblat ก็คาดหวังว่าประสบการณ์ที่จะได้จาก Liverpool จะทำให้สามารถสร้างเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ได้ที่โปแลนด์ แต่ Chadwick กลับมอบหมายให้ Rotblat ศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างระเบิดปรมาณูแทน เพราะขณะนั้น กองทัพนาซีกำลังคุกคามยุโรป Rotblat จึงเข้าทำงานในโครงการปรมาณูของอังกฤษโดยใช้รหัสว่าชื่อ Maud and Tube Alloys
ลุถึงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 Rotblat ได้เดินทางกลับไปเยือนโปแลนด์เพื่อเข้าพิธีสมรสกับ Tola Gryn ที่กำลังเรียนปริญญาตรีวิชาเอกวรรณคดีที่ Warsaw และตั้งใจจะนำภรรยากลับอังกฤษด้วย เพราะมีเงินเดือนเพียงพอสำหรับตนเองและภรรยาแล้ว แต่โชคไม่ดีที่ Tola ล้มป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ Rotblat ต้องเดินทางกลับอังกฤษเพียงคนเดียว แต่ Tola ยังไม่ทันเป็นปกติดี เมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1939 กองทัพนาซีก็บุกโปแลนด์ และเข้ายึดกรุง Warsaw ได้ในเวลาไม่นาน
ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 Rotblat ได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะนำภรรยาออกนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางประเทศ Belgium, Denmark หรือ Italy แต่เขาประสบความล้มเหลวทุกครั้งไป จนในที่สุดภรรยาของเขาถูกทหารนาซีจับแล้วส่งเข้าค่ายกักกัน จนเสียชีวิตในที่สุดตลอดเวลานี้ Rotblat ไม่รู้เรื่องเลย จนกระทั่งสงครามโลกยุติ เขาจึงรู้ข่าว
ใน ปี ค.ศ.1943 Rotblat วัย 35 ปี ได้ติดตาม Chadwick ไปทำงานที่ Los Alamos National Laboratory ของอเมริกาและ เมื่อคณะนักฟิสิกส์อังกฤษรู้ว่า ระเบิดปรมาณูคืออาวุธสงครามที่อาจสร้างได้ ผลที่ตามมาคือ นายกรัฐมนตรี Winston Churchill ของอังกฤษ และประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ของสหรัฐอเมริกาได้เซ็นสัญญาตกลงให้นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ และนักวิทยาศาสตร์อเมริกาทำงานร่วมกันในโครงการ Manhattan เพื่อผลิตระเบิดปรมาณู แม้ Rotblat จะเป็นชาวโปแลนด์ที่เป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตร บารมีของ Chadwick ได้ช่วยให้ Rotblat ได้เข้าร่วมโครงการที่จะผลิตระเบิดมหาประลัยเพื่อฆ่าคน ทั้งๆ ที่ Rotblat นั้นรักสันติภาพ แต่ก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Rotblat ตัดสินใจเข้าทำงานในโครงการ Manhattan คือเพราะเขาคิดว่า Adolf Hitler ก็กำลังจะสร้างระเบิดปรมาณูเช่นกัน ดังนั้นถ้า Hitler สร้างได้ก่อน ความบรรลัยจะเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยเหตุนี้ในปี 1944 ที่ Rotblat สืบทราบมาว่ากองทัพนาซีเยอรมัน สร้างระเบิดปรมาณูไม่เป็น เขาจึงลาออกจากโครงการ Manhattan ทันที ทำให้ Rotblat เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก และคนเดียวที่ผละจากโครงการ ก่อนที่ระเบิดปรมาณูจะเป็นตัวเป็นตน นอกจากเหตุผลนี้แล้ว Rotblat ก็ยังได้อ้างสาเหตุการลาออกจากโครงการว่า จากการสนทนากับนายพล Leslie Groves ผู้เป็นหัวหน้าของโครงการ Manhattan ท่านนายพลได้ปรารภว่า หลังสงคราม สหรัฐฯ จะใช้ระเบิดปรมาณูถล่มรัสเซียซึ่ง Rotblat ก็ไม่เห็นด้วยอีก จึงเดินทางกลับ Liverpool ทันที
ครั้นเมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ Hiroshima กับ Nagasaki ในปี 1945 ข่าวการเสียชีวิตของผู้คนนับแสน ได้ทำให้ Rotblat เสียใจมาก เขาจึงเปลี่ยนเข็มทิศชีวิตไปทำงานที่ Atomic Scientists Association เพื่อนำความรู้วิทยาศาสตร์เรื่องพลังงานปรมาณูไปถ่ายทอดให้สังคม และตั้งใจจะปลุกระดมนานามหาอำนาจให้มีการบังคับใช้พลังงานปรมาณูในทางสันติ เท่านั้น Rotblat จึงเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คนที่พยายามปลุกระดมให้มีการ ควบคุมการใช้พลังงานปรมาณู เมื่อสงครามโลกยุติ Rotblat ก็ได้โอนสัญชาติเป็นอังกฤษ เพราะไม่ต้องการจะเดินทางกลับโปแลนด์อีก
ในบทบาทของการวิจัยวิทยาศาสตร์นั้น Rotblat ได้เปลี่ยนแนวการวิจัยนิวเคลียร์บริสุทธิ์ไปเป็นการประยุกต์นิวเคลียร์ในทาง การแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษามะเร็ง ด้วยการเข้าทำงานที่ Saint Bartholomew’s Hospital Medical College แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และวิจัยเรื่องการใช้เครื่องเร่งอนุภาคผลิตนิวเคลียสกัมมันตรังสี เพื่อรักษามะเร็ง จนถึงปี 1950 เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์
ในงานวิจัยที่ทำกับ Patricia J. Lindrop เรื่องผลกระทบของรังสีที่มีพลังงานสูงต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่ใช้หนู เป็นสัตว์ทดลอง คนทั้งสองได้พบว่ารังสีทำให้ร่างกายหนูเป็นมะเร็งได้หลายชนิด นอกเหนือจากโรค leukemia ที่ผู้คนรู้จักดี ในปี 1954 ผลงานนี้ได้ถูกนำมาใช้วิเคราะห์ภัยอันตรายที่เกิดกับชาวประมงญี่ปุ่น ซึ่งแล่นเรืออยู่ใกล้บริเวณที่สหรัฐฯ ทดลองระเบิดไฮโดรเจน และวงการวิชาการก็เริ่มตื่นตัวเพราะตระหนักได้ว่า ระเบิดไฮโดรเจนที่สำหรัฐฯ ทดลองไปนั้นผลิตฝุ่นกัมมันตรังสีได้มากผิดปกติ คำกล่าวหาของ Rotblat ในเรื่องนี้ได้ทำให้รัฐบาลสัมพันธมิตรกระวนกระวาย เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเชิงลบลักษณะนี้
ในช่วงเวลานั้น Rotblat ได้เดินทางไปพบ Bertrand Russell ในรายการโทรทัศน์ BBC ชื่อ Panorama เหตุการณ์ที่เกิดตามมาคือ ในปี 1955 Russell เป็นปราชญ์คนหนึ่งใน 11 คน ที่ได้ลงนามในแถลงการณ์ Russell – Einstein เตือนโลกให้ตระหนักในภัยนิวเคลียร์ และแถลงการณ์ฉบับนั้นได้ชักนำให้นักเคลื่อนไหวออกมาจัดประชุมเพื่อถกปัญหา นี้ในปี 1957 โดยใช้ชื่อ Pugwash Conference เพราะสถานที่จัดคือหมู่บ้าน Pugwash ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Nova Scotia ในแคนาดา
ในการประชุมครั้งแรกมีนักวิทยาศาสตร์มาร่วม 22 คน (Rotblat เป็นหนึ่งในนั้น) 3 คน ได้รับรางวัลโนเบล และมีรองประธานของ Academy of Sciences จากรัสเซีย กับอดีตผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลกเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้ทำรายงานเสนอวิธีป้องกันและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงได้เน้นเรื่องความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีต่อสังคมด้วย
จากครั้งแรกที่จัด ในเวลาต่อมา การประชุมได้เกิดตามมาอีกกว่า 300 ครั้ง โดยมี Rotblat เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทุกครั้ง ในที่สุดกิจกรรมนี้ก็ได้ทำให้เกิดองค์กร Pugwash Organization อย่างเป็นทางการ ซึ่งองค์กรนี้มีบทบาทในการลดอาวุธนิวเคลียร์ของชาติมหาอำนาจ รวมถึงมีหน้าที่ดูแลและตรวจสอบสรรพาวุธของกันและกัน จัดทำสนธิสัญญาควบคุมอาวุธสงคราม ติดต่อประสานงานระหว่าง Henry Kissinger กับ Le Due Tho ในสงครามเวียดนาม และเป็นผู้ประสานความขัดแย้งระหว่าง Arab กับ Israel ด้วยในบางครั้ง
ในปี 1995 Joseph Rotblat กับองค์กร Pugwash ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน
ในปี 2004 Rotblat กับ Mikhail Gorbachev อดีตนายกรัฐมนตรีของรัสเซียได้จัดตั้งโครงการเตือนภัยของอาวุธที่มีอำนาจ ทำลายล้างรุนแรง (Weapons of Mass Destruction Awareness)
ในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ Rotblat ทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์เป็นงานหลัก และแต่งตำรากว่า 40 เล่ม นอกเหนือจากรางวัลโนเบลแล้ว Rotblat ยังได้รับรางวัลของสมาคม Bertrand Russell Society ในปี 1983 รางวัล Albert Einstein Peace Prize ในปี 1992 และได้รับการโปรดเกล้าเป็นท่าน Sir ของอังกฤษในปี 1969 ด้วย
ในงานเลี้ยงฉลองรางวัลโนเบล Rotblat ได้กล่าวสรุปคำบรรยายว่า “ความประสงค์จะให้โลกปราศจากสงครามนั้น มีพื้นฐานมาจากความต้องการให้คนทุกคนมีชีวิต และการที่จะบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ เราต้องรักกันมากกว่ากลัวกัน”
Joseph Rotblat จากโลกไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2005 สิริอายุ 96 ปี
อ่าน เพิ่มเติมจาก Joseph Rotblat: Visionary for Peace โดย Reiner Braun et al. จัดพิมพ์โดย Wiley ในปี 2007
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
“หนังสือ “สุดยอดนักชีววิทยา” ของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี มีวางจำหน่ายแล้วในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
จากราคาปก 220 บาท ลด 30%”