xs
xsm
sm
md
lg

Wernher von Braun วิศวกรจรวดแห่งกองทัพนาซีและนาซา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Wernher von Braun นั่งโต๊ะทำงานที่เต้มไปด้วยแบบจำลองจรวด และภาพเบื้องหลังแสดงภาพยานลงจอดดวงจันทร์ (สเปซด็อทคอม/NASA/Marshall Space Flight Center)
วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1944 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิตของผู้นำนาซีเยอรมันชื่อ Adolf Hitler เพราะในวันนั้นเขาถูกคนร้ายพยายามลอบสังหาร แต่ไม่เป็นผล บรรดาคนที่อยู่ในเหตุการณ์รู้ดีว่า ความประสงค์ร้ายนี้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเยอรมนีหลายคนรู้เห็นเป็นใจด้วย

ณ เวลานั้นประชาชนเยอรมันส่วนใหญ่รู้ดีว่า กองทัพนาซีไม่มีวันจะมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย เพราะประเทศกำลังถูกกองทัพรัสเซียบุกโจมตีทางด้านตะวันออก และกองทัพสัมพันธมิตรก็กำลังบุกเข้าโอบล้อมทางใต้กับทางตะวันตก ส่วนบนฟ้าเหนืออาณาจักร Reich นั้นก็ถูกกำลังทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรครอบครองอย่างสมบูรณ์แล้ว

เมื่อเข้าตาจนบรรดาทหารนาซีที่จงรักภักดีต่อ Hitler จึงได้ทุ่มเทเวลาทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำที่เมือง Peenemünde และที่ Dora Mittellau ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Nordhausen เพื่อผลิตจรวดนำวิถีสำหรับใช้ยิงถล่มเกาะอังกฤษ

บุคคลกลุ่มนี้ได้ตั้งปณิธานว่าจะทำงานเพื่อชาติ และอยู่ใต้บังคับบัญชาของ Wernher von Braun ผู้เป็นวิศวกรสำคัญในกองทหารนาซี ซึ่งมีหน้าที่สร้างจรวดให้กองทัพใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้นเมื่อสงครามโลกยุติ von Braun ได้ถูกนำตัวไปอเมริกา และในเวลาต่อมาเขาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงการ Apollo ของสหรัฐฯ ที่ส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ แล้วกลับได้อย่างปลอดภัยเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1969

Werner von Braun เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1912 ที่เมือง Wirsitz ในเยอรมนี (ปัจจุบันคือเมือง Wyrzysk ในโปแลนด์) เป็นบุตรของขุนนางเยอรมันชื่อ Magnus Freiherr von Braun ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ส่วนมารดา Emmy von Quistoys ก็มีชาติสกุลสูงเช่นกัน von Braun มีน้องชายหนึ่งคน ในวัยเด็ก von Braun ชอบฟังและเล่นดนตรีคลาสสิกมาก และสามารถเล่นเพลงของ Beethoven และ Bach ได้คล่องแคล่วจากความทรงจำ จนทำให้นึกอยากจะเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิก

เมื่ออายุ 12 ปี von Braun ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำแห่งเมือง Ettessburg และพบว่าเรียนฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ได้ไม่ดี จึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียน Hermann-Lietz-Internat แห่ง Spiekeroog ขณะเรียนหนังสือที่นี่ von Braun บังเอิญได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ By Rocket into Interplanetary Space ซึ่งเขียนโดยวิศวกรจรวดชื่อ Hermann Oberth และได้กล่าวถึงการเดินทางไปในอวกาศด้วยจรวด von Braun รู้สึกตื่นเต้นและสนใจมากจึงตัดสินใจหันมาสนใจวิชาฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์เพื่อจะได้เป็นวิศวกรสร้างจรวดในอนาคต

ในปี 1930 von Braun ได้เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ Berlin Institute of Technology และได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคม Spaceflight Society ด้วย ความรู้ด้านเทคโนโลยีการทำจรวดในเวลานั้นได้ทำให้ von Braun ตระหนักว่า การเดินทางของคนในอวกาศจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อวิศวกรมีเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เท่านั้น ดังนั้นจึงพยายามเรียนฟิสิกส์ เคมี และดาราศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้น หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบินแล้ว von Braun ได้เรียนต่อ และสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ในปี 1934 จากมหาวิทยาลัย Berlin และความสำเร็จในช่วงเวลานี้คือ von Braun มีประสบการณ์สร้างจรวดได้กว่า 80 ลูก โดยบางลูกสามารถพุ่งขึ้นสูง 2 กิโลเมตร

ในปี 1933 Hitler ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการปกครองเยอรมนี และสนใจจะให้กองทัพนาซีมีจรวดไว้ใช้เพื่อยิงถล่มข้าศึก เป็นการช่วยให้นาซีสามารถครองยุโรปได้ Hitler จึงประกาศรับสมัครนักสร้างจรวด และกำหนดให้เมือง Peenemünde ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเล Baltic เป็นศูนย์กลางของการสร้างจรวดเพื่อการทหารเพียงอย่างเดียว และห้ามสร้างจรวดเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น

von Braun เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับบรรจุเข้าทำงานในโรงงานนี้ และมีหน้าที่พัฒนาจรวดให้มีพิสัยยิงไกล และให้ทรงพลังในการบรรทุกวัตถุระเบิด และในช่วงเวลาเดียวกันนี้วิศวกรเยอรมันได้สืบทราบว่า Robert H. Goddard ของกองทัพสหรัฐก็กำลังพัฒนาจรวดเช่นกัน จึงศึกษาผลงานของ Goddard ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แล้วนำมาปรับปรุงเพื่อสร้างจรวดของเยอรมันเอง จนในที่สุด ในปี 1949 von Braun ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างจรวด V-2 ที่สามารถบรรทุกระเบิดที่หนัก 750 กิโลกรัมและสามารถบินได้ไกลถึง 300 กิโลเมตรได้ เพื่อส่งไปถล่มกรุงลอนดอน จรวด V-2 มีความเร็ว 1.6 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งนับว่ามากจนกองทัพอังกฤษไม่มีทางรู้ตัวล่วงหน้าได้เลยว่า จรวดกำลังเดินทางมาทำลาย

ความสำเร็จของ V-2 ได้ทำให้ Hitler ยินดีมาก ถึงขนาดแต่งตั้งให้ von Braun ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทันที นี่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครในเยอรมันเคยคาดคิดมาก่อน เพราะขณะนั้น von Braun มีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้นเอง
นับเป็นโชคดีสำหรับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ von Braun สร้างจรวด V-2 ให้กองทัพนาซีไม่เพียงพอจะยิงไปทำลายลอนดอนจนราบเรียบ ดังนั้นเมื่อหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษและรัสเซียรู้แหล่งผลิต V-2 อย่างแน่ชัดกองทัพอากาศของอังกฤษจึงส่งเครื่องบิน 576 ลำทิ้งระเบิด 1,800 ตัน ลงที่ Peenemünde ซึ่งมีผลทำให้อุปกรณ์ในโรงงานถูกทำลายจนการสร้าง V-2 ต้องหยุดชะงัก แต่ von Braun ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายใดๆ

ดังนั้น เมื่อเยอรมันปราชัยในสงคราม von Braun จึงประกาศยอมจำนนต่อกองทัพอเมริกันที่กำลังรุกเข้าประเทศเยอรมนี ทั้งๆ ที่รู้ว่ากองทัพรัสเซียอยู่ไม่ไกลจาก Peenemünde ทั้งนี้เพราะ von Braun รู้ดีว่านักโทษเชลยศึกของรัสเซียจะถูกทรมาน
Wernher von Braun (กลาง) ขณะอธิบายระบบการส่งยาน Saturn แก่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ที่กำลังชี้มือ (สเปซด็อทคอม/นาซา)
ในวันที่ 2 พฤษภาคม 1945 von Braun จึงได้เข้ามอบตัวต่อกองทัพสหรัฐ เหตุการณ์นี้ได้ทำให้พลเอก Einsenhower แห่งสหรัฐฯ รู้ว่านี่คือ เชลยชาวเยอรมันคนสำคัญที่สหรัฐต้องการตัวมาก von Braun จึงถูกนำตัวส่งไปอเมริกาทันที และได้รับอนุญาตให้ทำงานในกองทัพของสหรัฐเพื่อสร้างจรวดต่อไป

แม้จะเคยเป็นทหารนาซีมาก่อน แต่ von Braun ก็ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นมากในอเมริกา ต่อมาอีกไม่นานก็ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญในคณะกรรมการวิจัยจรวดของอเมริกา ผู้มีหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีจรวดให้กองทัพสหรัฐฯ จากจรวด V-2 ต้นแบบของเยอรมัน

ในปี 1958 von Braun จึงได้ออกแบบจรวด Jupiter ซึ่งมี 4 ท่อน สำหรับใช้ในการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐชื่อ Explorer I ขึ้นโคจรรอบโลก และเมื่อจรวด Jupiter สามารถนำดาวเทียมขึ้นท้องฟ้าได้เป็นผลสำเร็จ ฝันของ von Braun เรื่องการเดินทางของมนุษย์ในอวกาศก็เริ่มจะเป็นจริงมากขึ้น

เพื่อให้โครงการอวกาศของสหรัฐสามารถก้าวทันรัสเซีย รัฐบาลสหรัฐจึงได้จัดตั้งองค์การบินอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration หรือ NASA) ขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1958 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งมนุษย์ให้เดินทางได้อย่างปลอดภัยในอวกาศ โดยบุคคลแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำงานในองค์การนี้ชื่อ von Braun

ขณะทำงานที่ NASA von Braun ได้ริเริ่มโครงการสำคัญ 3 โครงการ คือ โครงการ Mercury, Gemini และ Apollo ซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องกัน โดยโครงการสุดท้ายจะนำมนุษย์ไปดวงจันทร์ และกลับโลกอย่างปลอดภัยด้วยจรวดที่ von Braun ออกแบบ

ในความคิดของ von Braun นั้น จรวดที่ไปดวงจันทร์จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ จรวดส่วนแรกเป็น service module ที่มีเครื่องยนต์กำลังสูงที่สามารถนำยานส่วน 2 และส่วน 3 ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ จรวดส่วนที่สองมีอุปกรณ์ช่วยให้มนุษย์อวกาศสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และส่วนที่สาม เป็นยานบังคับการ (command module) ซึ่งมียานที่จะลงจอดบนดวงจันทร์อยู่ด้วย โดยจะมีมนุษย์อวกาศ 2 คน ที่จะลงเหยียบบนดวงจันทร์ และ 1 คนที่เหลืออยู่ในยานบังคับการที่จะโคจรไปรอบดวงจันทร์ จนขณะที่มนุษย์อวกาศ 2 คน กำลังสำรวจดวงจันทร์อยู่ และเมื่อเสร็จสิ้นการสำรวจ ยาน Lunar Landing Module ก็จะทะยานขึ้นจากผิวดวงจันทร์กลับมาเชื่อมต่อกับยานบังคับการ แล้วมุ่งหน้ากลับโลกโดยจะพุ่งตกในมหาสมุทรแปซิฟิก

เพื่อให้แผนการนี้บรรลุผล จรวดที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์จะต้องสามารถยกน้ำหนัก 100 ตันขึ้นโคจรรอบโลกได้ และนำสัมภาระหนัก 45 ตันไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ von Braun จึงสร้างจรวด Saturn V ที่สูง 120 เมตร และหนัก 3,000 ตัน ซึ่งในขณะนั้นถือว่าใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะพลังยกตัวของจรวดออกจากแท่นยิงมีค่ามากถึง 3.4 แสนกิโลเมตร ทั้งนี้โดยการเผาเชื้อเพลิงวินาทีละ 10 ตัน

ฝันของ von Braun ได้กลายเป็นจริงในวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 เมื่อนักบินอวกาศนำยาน Apollo 11 สู่ดวงจันทร์ และกลับอย่างปลอดภัย ในเวลาต่อมาจรวด Saturn V ก็ได้นำทีมมนุษย์อวกาศไปเยือนดวงจันทร์อีก 6 ครั้ง
จากนั้น von Braun ก็ได้เริ่มวางแผนนำมนุษย์สู่ดาวอังคารอีก แต่ถูก NASA ชะลอโครงการ เพราะประชาชนสหรัฐเริ่มกังวลเรื่องความคุ้มค่าของงบประมาณที่ค่อนข้างสูงมาก

เมื่อถูกปฏิเสธ von Braun จึงรู้สึกผิดหวังมาก และได้ลาออกจาก NASA เพื่อไปทำงานกับบริษัทเอกชน Fairchild Industries ที่เมือง Germantown รัฐ Maryland ในปี 1972

อีกหนึ่งปีต่อมา von Braun ก็ได้พบว่าไตกำลังป่วยเป็นมะเร็ง แม้ได้รับการผ่าตัด แต่แพทย์ก็ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งได้

ในปี 1977 รัฐบาลสหรัฐได้มอบ National Medal of Science ประจำปี 1975 ให้ von Braun ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุด ณ งานเลี้ยงที่ทำเนียบขาว แต่ von Braun ไปรับรางวัลในงานไม่ได้ เพราะกำลังป่วยหนัก และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1977 นี้เองที่ Alexandria รัฐ Virginia สิริอายุ 65 ปี

อ่านเพิ่มเติมจาก Werner von Braun: Crusade for Space Vol.Ⅰ A Biological Memoir และ Vol.Ⅱ An Illushated Memoir โดย Ernest Stuhlenger และ FrederickⅠ. Ordway Ⅲ ที่จัดพิมพ์โดย Krueger ในปี 1994

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น