xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจพบสารพลาสติกบน "ไททัน" ดวงจันทร์ดาวเสาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะไททัน ดวงจันทร์ของดาวเสาร์มีชั้นบรรยากาศ จึงเกิดแสงเป็นวงรอบดวงจันทร์ (ภาพเผยแพร่โดยนาซาเมื่อ 30 ก.ย.2013/สเปซด็อทคอม)
ยานแคสสินีของนาซาตรวจพบสารประกอบพลาสติกบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบสารประเภทนี้ที่โลกอื่นซึ่งไม่ใช่โลกของเรา

บีบีซีนิวส์รายงานว่า ยานอวกาศแคสสินี (Cassini) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ตรวจพบ "โพรพีน" (propene) หรือ โพรพีลีน (propylene) บนไททัน (Titan) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ สำหรับบนโลกนั้นโมเลกุลของสารดังกล่าวประกอบด้วยคาร์บอน 3 อะตอม และไฮโดรเจน 6 อะตอม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของพลาสติกหลายๆ ชนิด

ทั้งนี้ นาซาระบุว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบองค์ประกอบของพลาสติกบนดวงจันทร์ หรือดาวเคราะห์อื่นที่ไม่ใช่โลก และการค้นพบดังกล่าวได้จากเครื่องตรวจวัดอินฟราเรดของยานแคสสินี โดยได้รายงานการค้นพบในวารสารแอสโตรฟิสิคัลเจอร์นัลเลตเตอร์ส (Astrophysical Journal Letters)

"สารเคมีดังกล่าวมีอยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน ยึดโยงเป็นสายโซ่ยาวกลายเป็นพลาสคิกที่เรียกว่าโพลีโพรพีลีน (polypropylene) ตัวอย่างคลาสสิคน่าจะเป็นกล่องพลาสติกที่ใช้เก็บอาหารในครัวทั่วโลก" คอนอร์ นิกซ์สัน (Conor Nixon) นักวิทยาผศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซาจากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) กล่าว

ทั้งนี้ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนมีอิทธิพลสำคัญต่อดวงจันทร์ไททัน ซึ่งหลักๆ คือมีเทน โดยเป็นรองจากไนโตรเจนที่เป็นองค์ประกอบที่มีมากที่สุดในชั้นบรรยากาศของบริวารดาวเสาร์ดวงนี้ ซึ่งแสงอาทิตย์คือตัวการที่ขับเคลื่อนปฏิกริยาในการแตกตัวของมีเทน ทำให้องค์ประกอบที่แตกออกมานั้นรวมตัวกันแล้วก่อตัวเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น

ทางด้านสเปซด็อทคอมรายงานเพิ่มเติมว่า การค้นพบดังกล่าวช่วยต่อจิ๊กซอว์ของปริศนาอันยาวนานของบรรยากาศไททัน โดยเมื่อปี 1980 เมื่อยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) ผ่านใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้เป็นครั้งแรก และได้จำแนกก๊าซในชั้นบรรยากาศสีน้ำตาลของดวงจันทร์ว่าเป็นไฮโดรเจน

วอยเอเจอร์ที่หลุดขอบระบบสุริยะไปแล้วนั้นได้พบหลักฐานของไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอน 3 อะตอม ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนที่หนักที่สุด และยังพบโพรเพน (propane) รวมถึงโพรไพน์ (propyne) ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนที่เบาที่สุดในตระกูลนี้ ทว่าวอยเอเจอร์ยังขาดข้อมูลโพรพีนหรือเรียกอีกชื่อว่าโพรพิลีน ซึ่งเป็นสารเคมีหนักกลางๆ ในกลุ่มนี้

ไมเคิบ ฟลาเซอร์ (Michael Flasar) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดในโครงการเครื่องมือตรวจวัดอินฟราเรดของแคสสินีอธิบายว่า การวัดโพรพีนทำได้ยาก เพราะมีสัญญาณอ่อนอยู่ท่ามกลางสารเคมีอื่นๆ ที่มีสัญญาณเข้มกว่า และความสำเร็จในการค้นพบสร้างความเชื่อของพวกเขาว่า พวกเขายังจะได้เจอสารเคมีที่ซ่อนอยู่ชั้นบรรยากาศไททันอีก

สำหรับไททันนั้นมีขนาดครึ่งหนึ่งของโลก และเป็นดวงจันทร์ใหญ่อันดับสองของระบบสุริยะ รองจากแกนีมีด (Ganymede) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และยังเป็นดวงจันทร์เพียงหนึ่งเดียวในระบบสุริยะที่มีเมฆและบรรยากาศคล้ายดาวเคราะห์ ซึ่งมักประกอบด้วยไนโตรเจนและมีเทน

ส่วนยานแคสสินีถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1997 และไปถึงวงโคจรของดาวเสาร์เมื่อเดือน ก.ค.2004 โดยภารกิจมีเป้าหมายในการศึกษาดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร ซึ่งคาดว่าจะทำงานต่อไปถึงปี 2017 ปีที่ยานอวกาศจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์







กำลังโหลดความคิดเห็น