xs
xsm
sm
md
lg

เธอเห็น "โลกสีฟ้า" นั่นไหม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) โลกจากมุมดาวเสาร์ เป็นจุดสีฟ้าจางๆ ใต้วงแหวนดาวเสาร์ และ (ขวา) โลกจากมุมดาวพุธเป็นจุดสว่างกว่าอยู่ข้างดวงจันทร์ที่มีแสงหรี่กว่า (ภาพทั้งหมดจากนาซา)
นาซาเผยภาพ "โลก" บันทึกจากมุมดาวเสาร์และดาวพุธ ด้วยยานอวกาศ 2 ลำ ในช่วงเวลาที่องค์กรอวกาศรณรงค์ให้ชาวโลกโบกมือทักทายดาวเสาร์ระหว่างการบันทึกภาพ ซึ่งมีคนร่วมกิจกรรมกว่า 20,000 คน

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เผยภาพโลกที่บันทึกเมื่อวันที่ 19 ก.ค. โดยยานอวกาศของนาซา 2 ลำคือ ยานแคสสินี (Cassini) ที่บันทึกภาพโลก ณ มุมมองจากดาวเสาร์ และยานเมสเซนเจอร์ (Messenger) ณ มุมมองจากดาวพุธ

ในวันที่ยานอวกาศทั้งสองบันทึกภาพโลกนั้น นาซาได้รณรงค์ให้ชาวโลกโบกมือทักทายดาวเสาร์ขณะที่ยานอวกาศบันทึกภาพโลก ซึ่งสเปซด็อทคอมระบุว่า มีผู้ร่วมกิจกรรมดังกล่าวราว 20,000 คน

สำหรับภาพโลกจากมุมดาวเสาร์นั้นแคสสินีได้ฉวยโอกาสระหว่างเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงจากมุมดาวเสาร์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ทำให้กล้องที่ไวต่อแสงของแคสสินีบันทึกภาพโลกจากมุมที่หันไปยังดวงอาทิตย์โดยตรงได้ และภาพจากมุมมองไกล 1.4 พันล้านกิโลเมตร เผยให้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ โลกและดวงจันทร์ในภาพเดียว

แน่นอนว่าภาพโลกที่เป็นจุดสีน้ำเงินนี้ไม่มีรายละเอียดของมนุษย์โลกที่โบกมือทักทายดาวเสาร์ แต่ ลินดา สปิลเกอร์ (Linda Spilker) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการแคสสินี จากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาในพาสาเดนา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าวว่าจุดสีน้ำเงินซีดดังกล่าวเป็นสิ่งที่สรุปได้ชัดเจนว่าเราเป็นใครในวันที่ 19 ก.ค.

"ภาพของแคสสินีย้ำเตือนเราว่า ดาวเคราะห์โลกของเรานั้นเล็กแค่ไหนในอวกาศอันกว้างใหญ่ และยังพิสูจน์ถึงการเป็นนักประดิษฐ์ของพลเมืองของดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ นี้ ที่ส่งยานอวกาศออกไปไกลแสนไกลจากบ้านเพื่อศึกษาดาวเสาร์ แล้วหันกลับมาถ่ายภาพโลกของพวกเขา" สปิลเกอร์กล่าว

ส่วนภาพจากยานเมสเซนเจอร์นั้นเห็นโลกและดวงจันทร์ได้ง่ายกว่า แม้จะเป็นแค่จุดสว่างก็ตาม โดยยานบันทึกภาพจากวงโคจรรอบดวงพุธที่ระยะทาง 98 ล้านกิโลเมตร

ด้าน ฌอน โซโลมอน (Sean Solomon) นักวิทยาศาสตร์ผู้สังเกตการณ์หลักในโครงการเมสเซนเจอร์จากหอดูดาวลามอนท์-โดเฮอร์ตีเอิร์ธ (Lamont-Doherty Earth Observatory) ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า เหตุเพราะดาวพุธและดาวเสาร์เป็นผลจากการก่อเกิดและวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน ทำให้ภาพจากทั้งสองมุมนั้นเน้นย้ำถึงความพิเศษของโลก และไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านดวงนี้

อย่างไรก็ดี ภาพทั้งสองไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกถูกบันทึกจากมุมไกลๆ ในอวกาศ ก่อนหน้านี้เคยมีภาพอื่นๆ ที่สร้างความประทับใจมาแล้ว อาทิ ภาพโลกทั้งใบภาพแรกที่บันทึกเมื่อ 7 ธ.ค.1972 โดยลูกเรือยานอพอลโล 17 (Apollo 17) จากมุมบนดวงจันทร์ และเป็นที่รู้จักในชื่อ "The Blue Marble" หรือภาพ "Pale Blue Dot" ที่บันทึกโดยยานวอยเอเจอร์ 1(Voyager 1) ของนาซาที่บันทึกเมื่อปี 1990 จากระยะทาง 6 พันล้านกิโลเมตรจากโลก เป็นต้น

ทว่า ภาพจากมุมดาวพุธและมุมดาวเสาร์นี้ก็เป็นภาพแรกที่ชาวโลกส่วนหนึ่งพยายามออกท่าทางในช่วงเวลาที่ยานอวกาศทั้งสองหันกลับมาบันทึกภาพโลก โดยแนวคิดในการสร้าง "จุดขาย" นี้ก็จากหลายคน หนึ่งในนั้นนักธุรกิจพันล้านที่มีความคิดบรรเจิดอย่าง เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน (Sir Richard Branson) ผู้ก่อตั้ง เวอร์จินกาแล็กติก (Virgin Galactic) บริษัทด้านการท่องเที่ยวอวกาศเอกชน

สำหรับยานแคสสินีนั้นถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่ปี 1997 และไปถึงดาวเคราะห์วงแหวนเมื่อ ก.ค.2004 และคาดว่าจะศึกษาดาวเสาร์และดวงจันทร์ของดวเคราะห์ไปจนถึงปี 2017 และเมื่อสิ้นสุดภารกิจก็จะโหม่งสู่บรรยากาศของดาวเสาร์ ส่วนเมสเซนเจอร์ถูกส่งไปเมื่อ ส.ค.2004 และไปถึงดาวเคราะห์ดวงแรกของระบบสุริยะเมื่อเดือน มี.ค.2011 ซึ่งนับเป็นยานอวกาศดวงแรกที่ไปโคจรรอบดาวพุธ
โลกจากมุมดาวเสาร์ ปลายลูกศรด้านขวา
โลก (ซ้าย) และดวงจันทร์ (ขวา) จากมุมดาวเสาร์

โลกและดวงจันทร์จากมุมดาวพุธเห็นเป็นเพียงจุดสว่าง (ภาพบน) และภาพโลก (ซ้ายล่าง) กับภาพดวงจันทร์ (ขวาล่าง) ที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ ให้ว่าโลกและดวงจันทร์หันด้านใดระหว่างถูกยานเมสเซนเจอร์บันทึกภาพ
ชาวโลกส่วนหนึ่โบกมือทักดาวเสาร์ในจังหวะที่ยานอวกาศซึ่งโคจรรอบดาวเคราะห์อื่น หันกลับมาถ่ายรูปโลก






กำลังโหลดความคิดเห็น