สถาบันไม้กลายเป็นหินเปิดตัว "พอพันธ์ไน" แรดไร้นอดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ของโลก พบในไทยบริเวณบ่อทรายริมน้ำมูลที่โคราช แหล่งเดียวกับที่เคยพบเอปโบราณและบรรพบุรุษหมูป่าโบราณก่อนหน้านี้ บ่งชี้สมัยดึกดำบรรพ์บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นทุ่งหญ้าติดกับป่าทึบริมน้ำมูลโบราณ
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานแถลงข่าวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์แรดไทยพันธุ์ใหม่ของโลก คือ อาเซราเธียม พอพันธ์ไน (Aceratherium porpani) เมื่อวันที่ 23 ก.ย.56 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียาเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
การค้นพบแรดดึกดำบรรพ์พันธุ์ใหม่ดังกล่าวเป็นงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.ดร.เติ้ง เถา (Prof Dr.Deng Tao) ผู้เชี่ยวชาญด้านแรดวิทยา จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมนุษยวิทยาบรรพกาล กรุงปักกิ่ง จีน กับ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ และ ดร.รัตนาภรณ์ หันตา นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ทั้งนี้ ฟอสซิลดังกล่าวได้จากบ่อทรายในบ้านท่าช้าง ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา และทีมวิจัยได้รับซากฟอสซิลดังกล่าวซึ่งเป็นโครงกะโหลกและกรามที่สมบูรณ์จาก รศ.ดร.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาวิจัย ตั้งแต่ปี 2550 ทีมวิจัยจึงตั้งชื่อแรดดึกดำบรรพ์ดังกล่าวตามชื่อผู้มอบฟอสซิล
ดร.รัตนาภรณ์ หันตา ผู้วิจัยอธิบายว่าใช้เวลา 2 ปีเพื่อวิจัยจนทราบว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นแรดดึกดำบรรพ์พันธุ์ใหม่ของโลก และเป็นแรดไม่มีนอ จึงจัดอยู่ในวงศ์ย่อย อาเซธีริเน สกุล อาเซราธีเรียม เนื่องจากมีลักษณะกะโหลกด้านบนบานเรียบขอบท้ายกะโหลกเป็นแนวตรงเด่นและมีสันกลางกะโหลกแผ่ขยายกว้างกว่าแรดอื่นในสกุลเดียวกันอีก 2 ชนิดคือ อาเซราธีเรียม อินซิสิวัม (A. incisivum) และ อาเซราธีเรียม เดเปเรทิ (A. deperrati) และมีวิวัฒนาการที่ใหม่กว่า คือมีอายุน้อยกว่า โดยมีชีวิตอยู่เมื่อ 7.5-6.0 ล้านปีก่อน
ลักษณะสันกลางกะโหลกที่แผ่ขยายนี้บอกถึงวิวัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อเคี้ยวน้อยลง ดังนั้นอาหารสำหรับแรดชนิดนี้จึงน่าจะเป็นใบไม้ ไม่ใช่หญ้าเหมือนแรดอื่นที่ต้องใช้กล้ามเนื้อในการเคี้ยวมากกว่า นอกจากนี้ลักษณะไม่มีนอยังเป็นลักษณะโบราณของแรด ส่วนแรดมีนอเป็นลักษณะของวิวัฒนาการภายหลัง เพื่อใช้ต่อสู้หรือเกี้ยวพาราสี
ในบริเวณบ่อทรายริมน้ำมูลที่ ต.ท่าช้างนั้น ยังเป็นแหล่งขุดพบหมูป่าโบราณ เมอริโคโปเตมัส ท่าช้างเอนซิส และเอปโบราณ โคราชพิเธคัส พิริยะอิ จากข้อมูลทีมวิจัยลักษณะสัณฐานของแรดบ่งบอกว่าในบริเวณ ต.ท่าช้างในปลายสมัยไมโอซีนนั้นเคยมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าอยู่ติดกับป่าทึบ มีบึงเล็กๆ ให้แรดได้จมปลัก เนื่องจากลักษณะผิวค่อนข้างบาง จึงต้องเคลือบโคลนปกป้องผิว
ขนาดของแรดดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเทียบเท่ากระซู่ในปัจจุบัน เนื่องจากกระซู่มีนอเล็กๆ อาศัยอยู่ในป่าได้ และกระซู่เป็นญาติใกล้ชิดแรดขนยาวโบราณยุคน้ำแข็งที่อพยพจากทางยุโรปลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกระซู่มีขนปกคลุมตามร่างกายเช่นกัน
ทางด้าน นายพิริยะ วัชจิตพันธ์ ลูกชาย ดร.พอพันธ์ กล่าวว่าได้รับโครงกะโหลกแรดดึกดำบรรพ์ดังกล่าวจากชาวบ้านที่ขุดพบจากบ่อทรายมาได้ 10 กว่าปีแล้ว เดิมกะโหลกดังกล่าวเป็นก้อนดินที่มีกระดูกโผล่มาเท่านั้น จนทิ้งไว้ที่บ้านนานวันเข้าดินก็กระเทาะออก และเผยให้เห็นเนื้อกระดูกมากขึ้น จึงค่อยๆ แซะดินออกและพบเป็นกะโหลกที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จากนั้นชาวบ้านคนเดิมก็นำกรามอีกคู่ของแรดมาให้
"ฟอสซิลนี้นับว่ามีความสมบูรณ์มาก เพราะในการดูดทรายไปใช้ในการก่อสร้างนั้น คนงานจะฉีดน้ำด้วยแรงดันมหาศาล ทำให้กะโหลกที่ค่อนข้างเปรอะบางแตกเป็นชิ้นๆ เราได้รับฟอสซิลจากบ่อทรายดังกล่าวเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นเศษฟัน เศษกระดูก ซึ่งไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่าเป็นชนิดใหม่ แต่บอกได้ว่าเป็นสัตว์สกุลอะไร" พิริยะกล่าว
หลังจากแซะจนได้กะโหลกที่สมบูรณ์แล้วทางครอบครัววัชจิตพันธ์ก็คิดว่าตั้งทิ้งไว้ในบ้านคงไม่เกิดประโยชน์ จึงตัดสินใจมอบให้ทางสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ นำไปศึกษา ซึ่งยังมีฟอสซิลอีกหลายชิ้นที่อยู่ระหว่างการศึกษา โดยทีมวิจัยยังจำแนกแรดยักษ์ในสกุล บราไชโพธีเรียม (Brachypotherium) แต่เนื่องจากมีเพียงกรามชิ้นเดียว จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นชนิดใหม่หรือไม่
"เมื่อ 10 กว่าปีก่อนชาวบ้านเขาเจอซากฟอสซิลเหล่านี้เยอะแยะ แต่เขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เลยเอาไปกองที่ศาลพระภูมิ ฝรั่งก็ไปเดินดูแล้วเก็บไป เราเห็นว่าปล่อยไว้อย่างนี้คงโดนเอาไปหมด เลยบอกเขาว่า ให้เก็บมาไว้ให้เรา ตอนนี้เขาเริ่มเห็นคุณค่าแล้ว เมื่อเจอก็จะส่งมอบให้สถาบันวิจัย ผมอยากเรียกร้องให้คนที่ฟอสซิลในครอบครอง เก็บไว้เฉยก็ไม่เกิดประโยชน์ เอามาให้สถาบันนำไปศึกษาเพื่อเผยแพร่ความรู้เป็นวิทยาทานดีกว่า" พิริยะกล่าว
พร้อมกันนี้ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ อดีตนักวิจัยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และนักผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านนิเวศวิทยาทางน้ำ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) อธิบายถึงการพบสัตว์หลายชนิดบริเวณบ่อทรายโคราชว่า แผ่นดินอีสานเป็นแผ่นดินเก่าแก่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อน และเมื่อแผ่นดินยกตัวขึ้นก็มีสิ่งมีชีวิตอื่นมาอาศัยอยู่มาก เมื่อตายลงก็เกิดการทับถมตามชั้นดิน และแผ่นดินมีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา ในอดีตเคยอยู่ติดกับญี่ปุ่นตอนใต้
สำหรับงานวิจัยแรดดึกดำบรรพ์นี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเจอร์นัลออฟเวอร์ทีเบนตพาเลียนโทโลจี (Journal of Vertebrate Paleontology) ของสมาคมบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกเปิดตัวในวันแถลงข่าวนี้ ดนื่องจากวันที่ 22 ก.ย. เป็นวันที่ WWF ประกาศให้เป็นวันแรดโลก ซึ่งนอกจากการช่วยอนุรักษ์แรดปัจจุบันไม่ให้สูญพันธุ์แล้ว อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ฟอสซิลแรดไม่ให้หายไปด้วย