xs
xsm
sm
md
lg

มุดถ้ำตามหาฟอสซิล นั่งชิลล์ชมหินงอกหินย้อยที่ “ถ้ำเลสเตโกดอน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หินย้อยหลอดเป็นแท่งเล็กแหลมย้อยลงจากเพดานถ้ำ
“สตูล” เป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีดีแค่มีหมู่เกาะอันงดงามท่ามกลางทะเลสวยใสและหาดทรายขาว

แต่สตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยวบนแผ่นดินมีความน่าสนใจโดยเฉพาะทางด้านธรณีวิทยา เพราะสตูลได้ชื่อว่าเป็น “ฟอสซิลแลนด์” ดินแดนแห่งซากดึกดำบรรพ์ที่จะพาเราย้อนอดีตกลับไปเมื่อราว 500 ล้านปีก่อน เมื่อครั้งที่มนุษย์เรายังไม่ถือกำเนิดขึ้นมาเสียด้วยซ้ำไป
แต่งองค์ทรงเครื่องบริเวณปากทางเข้าถ้ำ
ลอดถ้ำเล “สเตโกดอน” ชมหินงอกหินย้อยในถ้ำน้ำเค็มที่ยาวที่สุดในประเทศ

ถ้าพูดถึงช้างดึกดำบรรพ์ หลายคนคงจะนึกถึง “ช้างแมมมอธ” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลช้างที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งราว 20,000 ปีก่อน แต่รู้หรือไม่ว่า ที่ อ.ทุ่งหว้า ใน จ.สตูล ได้มีการพบฟอสซิลส่วนฟันกรามของ “ช้างสเตโกดอน” ช้างดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ อายุอยู่ในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือประมาณ 1.8-0.01 ล้านปีก่อน ซึ่งว่าเก่าแก่กว่ามากทีเดียว และเป็นการค้นพบแห่งแรกแห่งเดียวในพื้นที่ภาคใต้
นั่งเรือแคนูชมความงดงามของหินงอกหินย้อย
ฟอสซิลดังกล่าวถูกพบเมื่อปี 2551 ในถ้ำวังกล้วย อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ถ้ำเลสเตโกดอน” หลังจากที่ชาวบ้านได้เข้าไปหากุ้ง หาปูในถ้ำตามวิถีปกติ และได้พบซากดึกดำบรรพ์ที่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กก. ยาวประมาณ 44 ซม. สูงประมาณ 16 ซม. เมื่อตรวจสอบจากทางสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ และกรมทรัพยากรธรณีแล้วจึงทราบว่าเป็นกระดูกฟันกรามของช้างสเตโกดอน โดยปัจจุบันทาง อบต.ทุ่งหว้าได้เก็บรักษาไว้ในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า

“ถ้ำเลสเตโกดอน” จึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงของ จ.สตูล ที่ทาง อบต.ทุ่งหว้า นำโดยนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์และธรณีวิทยา แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นเรื่องหนักๆ เครียดๆ ทางวิชาการ เพราะภายในถ้ำเลสเตโกดอนที่มีความยาวกว่า 4 กม. นี้ถือเป็นถ้ำน้ำเค็มที่ยาวที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังงดงามไปด้วยหินงอกหินย้อย ผสมกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ต่างๆ แล้วก็ทำให้การท่องเที่ยวถ้ำนี้เต็มไปด้วยความเพลิดเพลินไม่น้อยเลย
หินย้อยลักษณะคล้ายปลีกล้วย
การท่องเที่ยวภายในถ้ำเลสเตโกดอนนั้น เราจะนั่งเรือแคนูเข้าไปในถ้ำ โดยจุดขึ้นเรือจะอยู่บริเวณบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 416 เรือแคนูลำหนึ่งบรรทุกได้ 3 คน คือนักท่องเที่ยว 2 คน และนายท้าย 1 คน ที่เป็นทั้งฝีพายและไกด์คอยให้ข้อมูลต่างๆ กับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่จะล่องเรือแคนูจะต้องมีเครื่องแบบคือเสื้อชูชีพ หมวกกันกระแทก และไฟฉายคาดหัว เพราะในถ้ำจะมืดสนิท
บรรยากาศภายในถ้ำเลสเตโกดอน
จากปากถ้ำเมื่อล่องเรือแคนูเข้าไปสู่ความมืด พบว่าภายในถ้ำมีอากาศโปร่งสบาย เพราะเป็นถ้ำที่กว้าง สูง และมีปล่องอากาศ สายน้ำที่ไหลพาเราเข้าไปสู่ภายในด้านหนึ่งไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเข้ามาจากทะเลตามน้ำขึ้นน้ำลง ไม่นานนักเราก็เริ่มมองเห็นหินงอกหินย้อยตามเพดานและผนังถ้ำ ซึ่งมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บ้างลักษณะคล้ายปลีกล้วยห้อยย้อยลงมาจากเพดาน บ้างเป็นหินย้อยหลอดที่ห้อยย้อยเป็นแท่งเล็กแหลมลงมาจากเพดานถ้ำดูงดงาม บ้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ คล้ายขั้นบันได และบ้างก็เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ยังคงมีน้ำไหลลงมาเป็นม่านน้ำตกแสดงถึงความเป็น “หินเป็น” หรือหินที่ยังงอกย้อยได้อีก
เมื่อส่องไฟจะเห็นหินมีประกายคล้ายกากเพชร
หินงอกหินย้อยบางก้อนมีสีออกเหลืองแดง เนื่องจากมีแร่เหล็กผสมอยู่ในหิน บางก้อนมีประกายแวววาวคล้ายมีกากเพชรเกาะอยู่ นั่นก็เพราะมีส่วนผสมของแคลไซต์ โดยหินในถ้ำเป็นหินยุคโครินเธียนตอนปลาย อายุประมาณ 400 ล้านปี ซึ่งถือว่าเป็นหินที่มีอายุเก่าแก่เป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มหินตะรุเตาซึ่งเป็นชั้นหินที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ชมหินงอกหินย้อยอย่างเพลิดเพลินไม่นานนักเราก็มาถึงช่วงบริเวณกลางถ้ำ ซึ่งเป็นจุดที่พบเจอฟอสซิลเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าน้ำจากภูเขาได้พัดพาซากฟอสซิลเข้ามาในถ้ำ และเมื่อมาเจอกับน้ำทะเลซึ่งหนุนขึ้นมา (เรียกว่าจุดเบรกของน้ำ) ทำให้พบฟอสซิลบริเวณนี้มากเป็นพิเศษ ซึ่งนอกจากฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอนแล้ว ยังพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย และคาดว่ามีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับช้างสเตโกดอน นอกจากนั้นก็ยังพบฟอสซิลแรดชวา กระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้วซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้นกว่า 300 ชิ้นเลยทีเดียว
ตามหาหัวใจที่ปลายอุโมงค์
หลังจากชมหินงอกหินย้อยอย่างจุใจ และฟังเรื่องราวของฟอสซิลดึกดำบรรพ์ต่างๆ มาสักพักราว 1.30 ชม. เรือแคนูก็พาเรามาใกล้กับปากถ้ำที่เชื่อมต่อกับป่าชายเลนก่อนจะออกสู่ทะเล บริเวณปากถ้ำนี้มีความพิเศษตรงที่มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ หากน้ำลดลงมากๆ และเรืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมก็จะเห็นปากถ้ำเป็นรูปหัวใจชัดเจน จนพูดกันว่าต้องมา “ตามหาหัวใจที่ปลายอุโมงค์” กันเลยทีเดียว

จากปากถ้ำตรงนี้เราต้องเปลี่ยนจากเรือแคนูเป็นเรือหางยาวติดเครื่องเพื่อล่องต่อออกไปยังคลองวังกล้วยผ่านป่าชายเลนและออกสู่ทะเลเพื่อไปขึ้นที่ท่าอ้อย ซึ่งเป็นคนละจุดกับตอนลงเรือ
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า
ทึ่งกับฟอสซิลทั้ง 6 ยุค และร่วมสนุกในงานสตูลฟอสซิล เฟสติวัล

และเพื่อให้การเดินทางมาชม “ฟอสซิลแลนด์” สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็ต้องมาที่ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อบต.ทุ่งหว้า และอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า ที่นี่เป็นที่เก็บรักษาฟอสซิลที่พบในท้องที่ อ.ทุ่งหว้า และใน จ.สตูล
ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า กำลังนำชมในพิพิธภัณฑ์
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มขึ้นหลังจากได้พบฟอสซิลช้างสเตโกดอนชิ้นแรกในปี 2551 จากนั้นในปี 2552 สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้เสด็จมายัง อ.ทุ่งหว้า ทาง อบต.ทุ่งหว้าได้มารับเสด็จและจัดบูธนิทรรศการและถวายรายงานการค้นพบฟอสซิลกระดูกฟันช้างสเตโกดอน สมเด็จพระเทพรัตนฯ ตรัสแก่คณะ อบต.ทุ่งหว้าให้อนุรักษ์รักษาสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ จึงเป็นที่มาของการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น

ภายในมีการจัดแสดงเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จมาเยือนสตูลถึง 4 ครั้ง รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับช้างต้นคู่พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว ประวัติความเป็นมาของอำเภอทุ่งหว้า ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงเกี่ยวกับยุคดึกดำบรรพ์โดยเริ่มจากการจัดแสดงขวานหินของมนุษย์โบราณ ก่อนจะเข้าเรื่องเกี่ยวกับช้างดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย และช้างดึกดำบรรพ์ที่พบในสตูล
ส่วนจัดแสดงซากฟอสซิลทั้ง 6 ยุค
ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังทำให้เราได้ทึ่งอีกว่า ที่ จ.สตูล นั้นเป็นแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ในยุคแรกๆ ของสิ่งมีชีวิต คือมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) ในราว 542-251ล้านปี ในมหายุคนี้เราได้พบซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค ได้แก่ ยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวินเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคดีโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และยุคเพอร์เมียน ซึ่งก็พบทั้งสาหร่ายทะเลดึกดำบรรพ์ แมงดาทะเลดึกดำบรรพ์ หอยทะเลดึกดำบรรพ์ ปลาหมึกทะเลดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีการจัดแสดงตัวอย่างในแต่ละยุคให้ชมครบทั้ง 6 ยุค รวมไปถึงฟอสซิลชิ้นไฮไลท์อย่างฟอสซิสกรามช้างสเตโกดอน และฟอสซิลกระดูกฟันของแรด จัดแสดงไว้ให้ชมกันแค่บางส่วน ส่วนใหญ่ยังคงเก็บรวบรวมไว้ไม่ได้นำมาจัดแสดง หากอยากชมคงต้องขอเป็นกรณีพิเศษ ถือได้ว่าซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้มีคุณค่ามากในทางวิชาการ และนำมาปรับเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ฟอสซิลฟันกรามช้างสเตโกดอน
ใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องของธรณีวิทยา รวมถึงสนใจอยากมาชมฟอสซิลที่หายาก และมาชมธรรมชาติที่สวยงามของถ้ำเลสเตโกดอน หากเดินทางมาชมในช่วงนี้คงจะเหมาะสมที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นฤดูท่องเที่ยวของท้องทะเลสตูลแล้ว ในช่วงนี้ก็กำลังมีงาน “สตูลฟอสซิล เฟสติวัล” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ณ บริเวณสนามกีฬาหน้าที่ว่าการ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล โดยในงานได้นำเอาซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญๆ จากทั่วประเทศมาจัดแสดงให้ชม ไม่ว่าจะเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ กรามช้าง 4 งา ฟันแพนด้า และนิทรรศการน่าสนใจเกี่ยวกับอุทยานธรณีและการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์อีกมากมาย โดยงานจะจัดถึงวันที่ 15 ธ.ค. นี้ หากใครมาเที่ยวในช่วงนี้ก็นับว่าคุ้มค่ามากทีเดียว

เห็นทรัพยากรทางธรณีวิทยาที่อุดมสมบูรณ์ของสตูลเช่นนี้แล้ว โครงการที่จะจัดทำ จ.สตูลให้เป็น Geo Park หรืออุทยานธรณีวิทยาของไทย และก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ Global Geo Park หรืออุทยานธรณีโลก ที่ทาง จ.สตูล และทางกรมทรัพยากรธรณีกำลังร่วมกันผลักดันคงไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
ฟอสซิลของสัตว์จำพวกหอยต่างๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้ที่สนใจนั่งเรือท่องเที่ยวถ้ำเลสเตโกดอน ตั้งแต่วันนี้ -31 ธ.ค. 56 เสียค่าใช้จ่ายท่านละ 300 บาท/คน และควรติดต่อมาก่อนล่วงหน้าเพื่อเช็คจำนวนนักท่องเที่ยว และหลังจากปลายเดือน ธ.ค. 56 อาจจะมีการปรับราคาอีกครั้งหนึ่ง สนใจสอบถามการเที่ยวถ้ำเลสเตโกดอนและพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ที่ โทร. 09 1034 5989, 0 7478 9317

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดตรังได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง โทร. 0 7521 5867, 0 7521 1058, 0 7521 1085


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น