สตูล - กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ จ.สตูล จัดงาน “สตูลฟอสซิล เฟสติวัล ครั้งที่ 1” ครั้งแรกของประเทศไทย รวมฟอสซิลทั่วประเทศยุคโบราณให้ศึกษาค้นคว้า และท่องเที่ยวดินแดนดึกดำบรรพ์
วันนี้ (7 ธ.ค.) จ.สตูล จัดงาน “สตูลฟอสซิล เฟสติวัล ครั้งที่ 1” ขึ้นที่สนามกีฬาหน้าที่ว่าการ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ระหว่างวันที่ 6-15 ธ.ค.นี้ โดยนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าฯ จ.สตูล นายทศพร นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล และนายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า ร่วมกันเปิดงาน
โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการมหัศจรรย์ฟอสซิลไทย โดยการนำซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีจัดเก็บเป็นชิ้นแรกของประเทศไทย หมายเลข TF1 ซึ่งเก็บได้จาก จ.กระบี่ รวมทั้งซากดึกดำบรรพ์สำคัญของประเทศ ซากดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อย่าง ไดโนเสาร์ กรามช้าง 4 งา ฟันแพนด้า พร้อมกันนี้ มีนิทรรศการอุทยานธรณี และภารกิจของกรมทรัพยากรธรณีที่เกี่ยวข้องกับ จ.สตูล ธรณีพิบัติภัย หลุมยุบ การจัดตั้งอุทยานธรณีในจังหวัด พร้อมกันนี้ มีการจัดส่งเสริมองค์ความรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์ เช่น กิจกรรมรู้ลึก รู้จริง พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กิจกรรมแฟนพันธุ์แท้ และกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สำหรับ จ.สตูล พบว่ามีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก และทางทะเลที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนของจังหวัด นอกจากนี้ ยังค้นพบหลักฐานด้านธรณีวิทยาว่าในชั้นหินมหายุคพาลีโอโซอีกที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่ยุคแคมเบรียนนั่นคือ กลุ่มหินตะรุเตา รวมถึงการค้นพบซากดึกดำบรรพ์โบราณต่างๆ เช่น ซากดึกดำบรรพ์ของแมงดาทะเลโบราณหรือหอยโบราณ หินสาหร่ายทะเลสีแดง ซากปลาหมึกทะเลนอติลอยด์ ซากแกรปโตไลด์ ซากหอยงวงช้าง หรือแอมโมนอยด์ ซากไดรนอยด์ หรือพลับพลึงทะเล ซากปะการังโบราณ ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้นับเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า จ.สตูล มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่อดีต หรือกว่า 550 ล้านปีก่อน นอกจากนี้ การค้นพบซากดึกดำบรรพ์แผ่นฟันกรามของช้างโบราณเอลอฟาส กรามแรดโบราณ และเขากวาง พร้อมกับขากรรไกร และฟันกรามล่างของช้างสกุล สเตโกดอน บริเวณถ้ำเล บ่งบอกอายุประมาณ 1.8 ล้านปีก่อน ถือเป็นหลักฐานสำคัญ และมีความโดดเด่นทั้งด้านธรณีวิทยา รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
สตูลฟอสซิล เฟสติวัล ครั้งที่ 1 เป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นที่ จ.สตูล เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจในจังหวัดให้แก่นักเรียน ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติได้รับรู้ และสนใจเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.สตูล การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ชั้นหินโบราณ กับหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับสากล การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่นักเรียน ครู อาจารย์ในบริเวณภาคใต้ พร้อมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างจิตสำนึก อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่าให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป ร่วมทั้งนักท่องเที่ยว โดย จ.สตูล จะเป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยั่งยืน และการผลักดันเพื่อประกาศจัดตั้งเป็นแหล่งอุทยานธรณีระดับชาติ กับยูเนสโกต่อไป พร้อมมีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551