xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตทุ่มงบ 4 ล้านติดตั้งเครื่องตรวจวัดมวลดิน ป้องกันเหตุดินถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัยฯ เร่งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน บริเวณพื้นที่ ต.ป่าตอง-กะรน จำนวน 2 เครื่อง คาดเสร็จสิ้นภายใน 15 วันนับจากนี้ เพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณแจ้งเตือนเฝ้าระวังภัย และอพยพชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม ร่วมกับอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังฯ ทั้ง 10 ตำบลของภูเก็ต

วันนี้ (6 ส.ค.) นายเลิศสิน รักษาสกุลวรณ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กล่าวภายหลังร่วมหารือถึงมาตรการป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มจังหวัดภูเก็ต กับนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ว่า ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตอยู่ในช่วงฤดูฝนและมีมรสุมพัดผ่าน มีลมแรงเป็นระยะๆ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดดินโคลนถล่ม หรือธรณีพิบัติภัยอื่นๆ ได้ ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภูเก็ตได้ประสบกับปัญหาดินโคลนถล่มโดยไม่ทราบล่วงหน้า ทำให้รับมือกับปัญหาดังกล่าวไม่ทันเวลา

ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มใน 10 ตำบล ได้แก่ อ.กะทู้ ต.กะทู้ ต.กมลา และ ต.ป่าตอง อ.ถลาง ต.เทพกระษัตรี ต.ศรีสุนทร ต.ป่าคลอก และ ต.สาคู และ อ.เมืองภูเก็ต ต.กะรน ต.ฉลอง และ ต.ราไวย์ โดยทางจังหวัดภูเก็ต ได้ประสานสำนักทรัพยากรธรณีเขต 4 (สุราษฎร์ธานี) เพื่อขอรับสนับสนุนเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 (สุราษฎร์ธานี) พร้อมให้ความร่วมมือ และได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินแล้ว ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งในพื้นที่ สำนักสงฆ์ดอยเทพนิมิต ต.ป่าตอง อ.กะทู้ และพื้นที่ยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต

นายเลิศสิน กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินมีการตรวจวัดข้อมูลที่สำคัญ 3 ด้านคือ 1.ปริมาณน้ำฝน 2.ตรวจวัดระดับน้ำใต้ดินบนลาดเขา และ 3.ตรวจการเคลื่อนตัวของมวลดิน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาเสถียรภาพของลาดดินในบริเวณดังกล่าว หากเสถียรภาพของลาดดินเริ่มขาดเสถียรภาพ เครื่องมือจะเริ่มส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังภัยทราบ และในกรณีเสถียรภาพของลาดดินอยู่ในชั้นวิกฤต หรือเริ่มมีการขยับตัวของลาดดิน เครื่องมือดังกล่าวจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนผ่านเว็บไซด์ เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีจะทำการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตอง และกะรน

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ยังได้กำชับให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังภัยดินถล่ม ที่มีการจัดตั้งและอบรมไปเมื่อ พ.ศ.2554 ในพื้นที่ 10 ตำบลดังกล่าว จำนวน 118 คน ได้ช่วยตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และเฝ้าระวังสิ่งบอกเหตุดินถล่ม หากพบสิ่งบอกเหตุดินถล่ม เครือข่ายอาสาสมัครจะทำการแจ้งเตือนให้ผู้นำชุมชนทำการประกาศแจ้งเตือนภัยพร้อมอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย

“เป็นที่รู้กันว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว มีชุมชนหนาแน่น ชาวบ้านอาศัยอยู่ตามสมควร โดยปกติพื้นที่อื่นจะอาศัยความสัมพันธ์ระบบเครือข่าย ชุมชน ชาวบ้าน ในพื้นที่จะออกเตือนเฝ้าระวังกันเอง แต่ที่ภูเก็ตจะเน้นไปมากกว่านั้น เนื่องจากผู้อยู่อาศัยเป็นชาวต่างชาติ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการเฝ้าระวัง โดยเครื่องมือดังกล่าวจะเตือนเป็นขั้นตอน ถ้ามีฝนตกในพื้นที่ก็จะแจ้งเตือนระดับ 1 มีน้ำไหลหลาก มีปริมาณน้ำฝนมากก็จะแจ้งเตือนเป็นระดับ 2 และเมื่อมวลดินเริ่มมีการเคลื่อนตัวก็จะแจ้งเตือนเป็นระดับ 3 ซึ่งการแจ้งเตือน ระดับ 1-2 ก็จะมีเวลาเพียงพอในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยจะมีการกำหนดพื้นที่หนีภัยไว้ให้” นายเลิศสิน กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ตนได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่า จะต้องมีการซักซ้อมประชาชนในพื้นที่ให้มีความคุ้นเคยกับการที่ต้องหลบภัย ให้รู้ว่าพื้นที่ไหนปลอดภัย ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงที่ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน ทั้ง 2 จุด จะเริ่มดำเนินการวันนี้ และจะแล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยใช้งบดำเนินการทั้ง 2 จุด จำนวน 4 ล้านบาท



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น