ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท และคณะจากหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติของสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติของจังหวัดภูเก็ต
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายชัยรัตน์ สุขบาล รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง และคณะ ร่วมให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติของสหพันธ์สาธาณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย นำโดย Ato Mitiku Kassa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบาท Ato Tadesse Bekele รักษาราชการผู้อำนวยการด้านระบบการแจ้งเตือนภัยและการพัฒนาชนบท กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท และคณะเจ้าหน้าที่ของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center : ADPC) ในโอกาสเข้าเยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติของจังหวัดภูเก็ต
นายชัยรัตน์ กล่าวภายหลังร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติ ของทั้งสองฝ่าย ว่า ในส่วนของเทศบาลเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกับของทางเอธิโอเปีย ซึ่งเผชิญกับภัยแล้ง และน้ำท่วมฉับพลัน แต่ว่าเขาสามารถเอาบางส่วนของเราไปประยุกต์ใช้กับเขาได้ อย่างเช่น เรื่องการวางแผน การเตรียมการ เรื่องการสำรวจพื้นที่ว่ามีภัยพิบัติอะไรบ้าง เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับท้องถิ่น เพราะว่าไม่มีใครทราบพื้นที่ดีมากกว่าคนท้องถิ่นเอง แล้วก็สามารถตอบคำถามได้ดีที่สุด ว่า เราจะต้องมีการวางแผนอย่างไร ดังนั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องของคนท้องถิ่นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการภัยพิบัติ
“ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองป่าตอง ได้จัดโครงการ “ฒ เล่าเรื่อง” เราก็ได้รู้ความเป็นมาของป่าตองว่า เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ป่าตองเป็นอย่างไร มีระบบน้ำ ทางน้ำไหล อย่างไรบ้าง ถ้าเรารู้รายละเอียดตรงนี้ เราก็สามารถวางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าเรามีการวางแผน มีการเตรียมการล่วงหน้า และเรามีการประชาสัมพันธ์ด้านข้อมูลข่าวสารที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว เชื่อว่าเรื่องของภัยพิบัติมีสิทธิที่จะจัดการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อยู่ที่การเตรียมความพร้อมของเราเท่านั้นเอง ถ้าเตรียมความพร้อมได้ดี ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็ลดลง ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ” นายชัยรัตน์ กล่าว
นายชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการมาดูงานของจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ ทางคณะพอใจในการราบงานภัยพิบัติที่เราได้นำเสนอให้เขาฟัง ว่าเรามีการจัดการอย่างไร หลังจากที่เรามีประสบการณ์จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เมื่อปลายปี 2547 ที่ผ่านมา และเขาก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขตพื้นที่ของเรา เขามีความมั่นใจเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของเรา ที่ตนได้นำเสนอให้เขาฟัง คือ เรื่องของจราจร ในเรื่องของภัยที่เกิดจากปัญหาการจราจร เนื่องจากว่าเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ เรามีการก่อสร้างเรื่องของถนนหนทางอยู่ และอีกเรื่องคือการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการจอดรถ หรือการเอารถที่ไม่คุณภาพมาใช้ ตนว่าเรื่องเหล่านี้ในอนาคตข้างหน้าเมืองไทย หรือว่าภูเก็ต จะต้องมีการจัดการตรงส่วนนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
อย่างของประเทศนิวซีแลนด์ ทางขึ้นภูเขาสูงชัน แต่เขาไม่มีปัญหาเรื่องรถเกิดอุบัติเหตุ คนขับรถของเขามีมาตรฐาน เนื่องจากว่า เขากำหนดไว้ว่า คนขับรถสาธารณะควรขับกี่ชั่วโมงต่อวัน แต่ว่าบ้านเรายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายตรงนี้ให้เป็นมาตรฐาน อย่างเช่น รถที่ขับขึ้นป่าตองภูเก็ต ข้างนอกอาจจะดูใหม่แต่ข้างในอาจจะดูเก่า เพราะฉะนั้นอยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาควบคุม เรื่องการกำหนดมาตรฐาน เพื่อที่จะให้บ้านเรายกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น
ด้าน Ato Mitiku Kassa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบาท กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับฟังมาคิดว่าการพัฒนาของทางภูเก็ตเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตาม หวังว่าเมื่อมีการพัฒนาเมืองแล้วก็ควรจะมีการพัฒนาเรื่องคนควบคู่กันไปด้วย คิดว่าการจัดการภัยพิบัติต้องมีทั้งการเตรียมความพร้อม การบรรเทาภัย การฟื้นฟูภัย คิดว่าควรจะมีทุกส่วนรวมกันในด้านการจัดการภัยพิบัติทุกรูปแบบ
โดยในส่วนของทางเอธิโอเปีย ของเรามีปัญหาภัยแล้งมาเป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็นอุทกภัย ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำท่วมฉับพลัน และวิธีการรับมือของเราตอนนี้ ตั้งเป้าเรื่องของการพัฒนาทางด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนภายใน 5 ปี ตอนนี้อยู่ในช่วงของการเริ่มต้น ซึ่งกำลังดูเรื่องโครงการชลประทาน เพราะว่าฝั่งทางด้านตะวันตกของประเทศมีน้ำมาก คือ ฝนตก 6 เดือนต่อปี แต่ฝั่งด้านตะวันออกของประเทศ แล้งมาก ต้องจัดสรรน้ำจากฝั่งตะวันตกมาตะวันออก