xs
xsm
sm
md
lg

"วิทย์กับความงาม" วิชาใหม่ช่วยวัยใสรอดจากครีมเถื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนฑล และ นางสดับพิณ คำนวณทิพย์
บ่อยครั้งที่วิชาวิทยาศาสตร์ถูกมองว่าเป็นวิชาไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณหาแรงแรงในการยกกล่อง หาสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน หรือคำนวณครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสี แต่สำหรับ "วิทยาศาสตร์กับความงาม" วิชาใหม่จาก สสวท.จะตอบคำถามในสิ่งที่วัยรุ่นวัยเรียนสนใจโดยตรง

"ที่ผ่านมาการเรียนวิทยาศาสตร์ส่วนมาก เรียนยาก เรียนไม่สนุก ท่องจำสูตรบ้าง รูปทรงต่างบ้างๆ เด็กไม่สนุก สสวท.จึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อยากให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ศึกษาเป็นผลใกล้ตัว เรียนวิทยาศาสตร์จากชีวิตจริง ซึ่งความสวยความงามเป็นเรื่องที่วัยรุ่นคุยกันในหมู่เพื่อน มีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง" ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนฑล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าว

สำหรับวิชา "วิทยาศาสตร์กับความงาม" เป็นรายวิชาเพิ่มเติมสำหรับนักเรียน ม.ต้น ในหลักสูตรใหม่ตามยุทธศาสตร์ "สะเต็มศึกษา" (STEM: Science Technology Engineering and Mathematics Education) ที่ สสวท.อิงมาจากสหรัฐฯ ซึ่งมีอีกหลายประเทศที่ใช้การศึกษารูปแบบนี้ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เยอรมนี และ เกาหลีใต้ เป็นต้น

ด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์กับความงามว่า ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความสวยความงามเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และผลิตภัณฑ์บางอย่างเป็นอันตรายแก่วัยรุ่นถึงชีวิต จึงจำเป็นต้องให้วัยรุ่นได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ สสวท.ได้จัดทำหนังสือเรียนวิชานี้ที่แยกเป็น 5 บทเรียน ได้แก่ เรื่องความงามสมวัย เรื่องโครงสร้างร่างกายที่เป็นพื้นฐานความงาม คือ ผิวหนัง ผม เล็บปากและฟัน เรื่องเครื่องสำอางในชีวิตประจำวัน เรื่องเครื่องสำอางในท้องตลาด และภูมิปัญญาไทยกับความงามและสุขภาพ

นางเบ็ญจวรรณ ศรีเจริญ ผู้อำนวยการสาขาวิทยาศาสตร์ ฝ่ายมัธยมศึกษา กล่าวถึงวิชานี้ว่าเป็นวิชาที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 13-15 ปี ซึ่งอยู่ในวัยรักสวยรักงาม ซึ่งจะตอบคำถามพื้นฐานในการดูแลตัวเองของวัยรุ่น เช่น การดูแลเรื่องกลิ่นตัว ปัญหาสิวและผิวพรรณ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และให้ความรู้เพื่อให้วัยรุ่น "สวย-หล่ออย่างปลอดภัย" เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเร็วมาก และบางอย่างเป็นอันตรายถึงชีวิต

"ที่สำคัญอีกอย่างคืออยากให้เด็กไทยภูมิใจในความงามที่บรรพบุรุษให้มา ไม่ว่าจะอ้วนเตี้ย หรือตัวดำ แต่พวกเขาได้สิ่งที่ดีที่สุดจากบรรพบุรุษและสวยงามที่สุดแล้ว เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เปล่งปลั่ง แต่ทำอย่างไรจึงจะดูแลความงามเหล่านี้ให้ดีที่สุด และชื่นชมความงามที่มีอยู่" นางเบ็ญจวรรณ ตัวแทนฝ่ายมัธยมซึ่งดูแลวิชาวิทยาศาสตร์กับความงามกล่าว

รายวิชาวิทยาศาสตร์และความงามของ สสวท.เพิ่งได้งบพัฒนาหลักสูตรเมื่อปี 2555 และมีการนำร่องใช้เมื่อต้นปี 2556 ใน 5 โรงเรียนนำร่อง ได้แก่ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพฯ โรงเรียนบดินทร์เดชา จ.สมุทรปราการ โรงเรียนหันคาพิทยาคม จ.ชัยนาท โรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ จ.สุโขทัย และโรงเรียนพังเคนพิทยา จ.อุบลราชธานี และมีแผนขยายไปทั่วประเทศ โดยเริ่มจากโรงเรียนในโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 180 โรงเรียน

พร้อมกันนี้ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้สนับสนุนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ประกอบการรายวิชาเป็นวิดีทัศน์ 5 ชุด ตามจำนวนบทเรียนของรายวิชา โดยนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครที่เสมือนเป็นตัวแทนนักเรียน ม.ต้น ซึ่งจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อใหม่ และเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร "รู้สู้ flood"

นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ลอรีอัลประเทศไทย กล่าวว่า ลอรีอัลเป็นเอกชนรายแรกที่เข้าไปร่วมสร้างสื่อการเรียนการสอนกับ สสวท. และยังเป็นที่มีความเชี่ยวชาญด้านความงามมานานกว่า 100 ปี และมีผู้ก่อตั้งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์กับความงามเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้

"วิทยาศาสตร์ทำให้รู้ถึงกลไกภายในร่างกาย ทำให้เราเข้าใจกลไกของผิวหนัง เส้นผม ฟัน ที่เป็นส่วนประกอบของความงาม และวิทยาศาสตร์ทำให้พัฒนาเราพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่เหมาะสม" นางสดับพิณกล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์กับความงาม

นอกจากนี้ ตามที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรีระบุ ลอรีอัลจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความงามของบริษัทไปอบรมความรู้แก่ครูแกนนำตามโปรแกรมของ สสวท.ในฐานะ "ทูตสะเต็ม" ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาตามยุทธศาสตร์สะเต็มศึกษาที่จะนำผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ตามความต้องการของประเทศออกไปเผยแพร่ความรู้แก่ครูทั่วประเทศ







 ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร, ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนฑล, นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ และ สิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์ ลอรีอัลประเทศไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น