นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ทำการค้นพบครั้งใหญ่หลังเจอสัตว์ชนิดใหม่อยู่ใน “ป่าเมฆ” ของโคลัมเบียและเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อพันธุ์ใหม่ที่พบในซีกโลกตะวันตกครั้งแรกในรอบ 35 ปี และนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยในศตวรรษที่ 21 นี้
บีบีซีนิวส์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการจำแนกว่าสัตว์ดังกล่าวที่ชื่อ “โอลิงกีโต” (olinguito) นี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือไม่ ซึ่งการค้นพบดังกล่าวต้องยกประโยชน์ให้แก่ทีมวิจัยจากสถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institution) ในสหรัฐฯ
การตามรอยสัตว์ชนิดนี้เริ่มขึ้นโดย ดร.คริสโตเฟอร์ เฮลเกน (Dr.Kristofer Helgen) นักสัตววิทยาของสมิทโซเนีบน ที่ไปพบกระดูกและหนังบางอย่างเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ชิคาโก โดยเขาระบุว่าหนังดังกล่าวค่อนข้างสีแดงจัด กระโหลกก็ดูไม่เหมือนกายวิภาคของสิ่งมีชีวิตที่เขารู้จัก และดูต่างไปจากสัตว์คล้ายๆ กันที่เขาเคยเจอ เขาจึงตระหนักน่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวน่าจะเป็นสปีชีส์ใหม่ตามการจัดจำแนกทางวิทยาศาสตร์
ดร.เฮลเกนยังเป็นภัณฑรักษ์ด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวทยาสหรัฐฯ ในวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีตัวอย่างกว่า 600,000 ตัวอย่าง ถูกเก็บไว้อย่างดีในกระบะเก็บตัวอย่าง กระดูกได้รับการขจัดแมลงปีกแข็งที่อาจกัดกินตัวอย่าง และเก็บไว้ในกล่องข้างๆ หนังสัตว์เหล่านั้น
ทว่ามีตัวอย่างจำนวนไม่น้อยถูกเก็บรักษาไว้นานกว่าศตวรรษ และมักถูกระบุประเภทผิด หรือไม่ก็จำแนกได้ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทำให้นักวิทยาศาสตร์สกัดเอาตัวอย่างดีเอ็นเอจากซากที่เก่าที่สุดออกมาได้
สำหรับโลลิงกีโตที่มีความยาว 35 เซ็นติเมตรนี้เป็นสิ่งมีชีวิตล่าสุดที่ถูกจัดให้อยู่ในวงศ์เดียวกับสัตว์จำพวกแรคคูน และเมื่อเปรียบเทียบตัวอย่างดีเอ็นเอกับสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นอีก 5 สปีชีส์ ทำให้ ดร.เฮลเกนยืนยันการค้นพบของเขาได้ และเขาเองก็ยากจะอธิบายถึงความตื่นเต้นในการค้นพบครั้งนี้
“โอลิงกีโตนี้เป็นสัตว์กินเนื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รวมถึงแมว สุนัข หมี และญาติๆ ของพวกมันได้ เราหลายคนเชื่อว่าการจำแนกแค่นั้นสมบูรณ์แล้ว แต่นี่เป็นสัตว์กินเนื้อพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการค้นพบบนผืนทวีปอเมริกาในรอบมากกว่า 3 ทศวรรษ” ดร.เฮลเกนกล่าว
ทั้งนี้ ดร.เฮลเกนยังใช้ตัวอย่างของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านั้นเพื่อจำแนกสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงค้างคาวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และหนูพุกขนาดเล็กที่สุดในโลก ทว่าสำหรับเขาแล้วการจำแนกโอลิงกีโตเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์ของโอลิงกีโตคือ บาสสาริซิออนเนบลินา (Bassaricyon neblina) โดยเป็นสัตว์กินเนื้อชนิดในทวีปอเมริกาที่ได้รับการจำแนกล่าสุดตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้คือ เพียงพอนโคลัมเบีย (Colombian Weasel) ถึงจะจำแนกโอลิงกีโตได้แล้ว แต่คำถามต่อมาคือมีสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ในธรรมชาติหรือไม่
ดร.เฮลเกนกล่าวว่า พวกเขาอาศัยร่องรอยจากตัวอย่างที่มีว่า พวกมันควรจะอาศัยอยู่ที่ใดมาก่อน และใช้คาดการณ์ลักษณะของป่าที่พวกมันอาศัย แล้วพวกเขาก็ได้พบโอลิงกีโตในธรรมชาติจริงๆ โดยพวกมันอาศัยอยู่ในถิ่นอาศัยที่เป็นป่าอนุรักษ์ทางตอนกลางของโคลัมเบียและทางตะวันตกของเอกวาดอร์
ถึงแม้ว่าจะเป็นถูกจำแนกให้เป็นสัตว์กินเนื้อ แต่พวกมันก็กินผลไม้เป็นหลัก อาศัยอยู่ตามลำพัง ออกลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น และนักวิทยาศาสตร์ยังคาดว่าโอลิงกีโตเคยถูกนำไปจัดแสดงในสวนสัตว์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ระหว่างปี 1967-1976 โดยคาว่าผู้ดูแลคงสับสนกับ “โอลิงกา” (olinga) ญาติใกล้ชิดของโอลิงกีโต และอาจงงด้วยว่าทำไมพวกมันจึงไม่ผสมพันธุ์ ซึ่งโอลิงกีโตจำนวนหนึ่งถูกส่งไปยังสวนสัตว์ต่างๆ แต่ตายลงโดยไม่ได้ถูกจำแนกชนิดที่ถูกต้อง
ด้าน คริส นอร์ริส (Chris Norris) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาพีบอดี (Peabody Museum of Natural History in Connecticut) ของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในคอนเนคติกัต สหรัฐฯ และประธานสมาคมการเก็บรักษาตัวอย่างทางธรรมชาติ (Society for the Preservation of Natural History Collections) ให้ความเห็นว่า การค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่มักเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ที่มีการเก็บรวบรวมตัวอย่าง
นอร์ริสให้ความเห็นว่า ผู้ศึกษาในช่วง 70 ปีก่อนมักมีความเห็นที่แตกต่างจากตอนนี้ว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่นั้นควรมีองค์ประกอบใดบ้าง หรือบางทีอาจจะไม่ตระหนักถึงสิ่งที่คนในปัจจุบันเห็นว่าแตกต่างอย่างชัดเจน หรืออาจจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการจำแนกสปีชีส์ใหม่ได้ อย่างการการสกัดและลำดับดีเอ็นเอ แต่ปัจจุบันยังขาดฐานข้อมูลกลางของพิพิธภัณฑ์ และนักวิทยาศาสตร์ก็มีความเข้าใจอยู่น้อยว่าแต่ละตัวอย่างนั้นมีอะไรอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี เริ่มมีหลายองค์กรที่เผยแพร่ข้อมูลคลังตัวอย่างทางออนไลน์ ซึ่งจะทำให้งานวิจัยเติบโตได้เร็วขึ้นและเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นด้วย
ความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์ต่อจากนี้คือการรักษาตัวอย่างให้อยู่ในสภาพที่ดี ซึ่งมีตัวอย่างจำนวนมากที่มีอายุหลายร้อยปีและกำลังถูกผีเสื้อกลางคืนและแมลงบุกเข้าทำลาย ตอนนี้ตัวอย่างเก่าที่สุดที่ยังเหลือรอดคือตัวอย่างนกโดโด้ที่เก็บรักษามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดย จอห์น ทราเดสแคนต์ (John Tradescant) และตอนนี้ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University Museum of Natural History) ของอังกฤษ