ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2005 Chantal Ly นิสิตวัย 32 ปี ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Wisconsin, Madison ได้พบว่า Elizabeth Goodwin ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้เสนอโครงการขอทุนวิจัยที่ไม่ตรงความจริง ทันทีที่เห็น Ly รู้สึกตกใจสับสน และกังวลมาก เพราะถ้าเธอแจ้งเรื่องนี้ให้ผู้บริหารทราบ การ “เป่านกหวีด” อาจทำให้อาจารย์ถูกไล่ออก และเธอจะไม่สำเร็จการศึกษา หลังจากที่ได้พยายามทำงานมานาน 7 ปี หรือเธออาจต้องเริ่มต้นการทำวิทยานิพนธ์ใหม่จากศูนย์ โดยหาอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ แล้วอีกนานแค่ไหน เธอจึงจะจบ Ph.D สำหรับประเด็นการหางานทำของเธอในอนาคตก็จะมีปัญหาเช่นกัน เพราะคนที่จะรับเธอเข้าทำงาน ก็จะระมัดระวังคน “ปากโป้ง” เป็นพิเศษ แต่ถ้าเธอปล่อยให้เหตุการณ์นี้ดำเนินไปโดยไม่ปริปากบอกใคร อาจารย์ก็จะได้ทำวิจัยในมหาวิทยาลัยต่อไป เธอก็จะจบปริญญาเอก มหาวิทยาลัยก็จะ “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” เพราะไม่มีเรื่องเสียหายใดๆ ให้สังคมรู้เลย แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ตระหนักว่า ประเทศชาติจะสูญเสียเงินงบประมาณมหาศาลโดยการให้ทุนวิจัยแก่คนทุจริตที่ไม่สมควรจะได้รับการสนับสนุนเลย
เพื่อนของเธออีก 6 คนที่ทำวิทยานิพนธ์ภายใต้ความดูแลของ Goodwin เมื่อเห็นหลักฐานการทุจริตทั้งหมด ทุกคนต่างก็ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออกเช่นเดียวกับ Ly บางคนคิดว่าควรให้โอกาสอาจารย์แก้ตัว โดยการทำเรื่องระงับการขอทุนวิจัย แต่ทุกคนก็ไม่มั่นใจว่าสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการจ้างบุคลากรจะยินยอมให้ Goodwin ทำงานต่อไป ได้หลังจากที่ได้พบปะสนทนากับ Goodwin เกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลใดๆ ในที่สุด Ly กับเพื่อนทั้ง 6 คนก็นำเรื่องทั้งหมดพร้อมหลักฐาน ไปรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งมหาวิทยาลัย Wisconsin ตั้งก็ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ Office of Research Integrity (ORI) ที่ Washington D.C. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องจริยธรรมในการทำวิจัยของประเทศ
เมื่อเรื่องแดงและข้อกล่าวหาต่างๆ ถูกนำออกเปิดเผย Goodwin ได้กล่าวปฏิเสธเรื่องทั้งหมด โดยอ้างว่า เป็นความสะเพร่า เลินเล่อ และบกพร่องทางเทคนิคการใช้คอมพิวเตอร์ของเธอ แต่แล้วกระแสความกดดันจากสังคมมหาวิทยาลัย ก็ได้ทำให้เธอตัดสินใจลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 สำหรับนิสิตที่อยู่ในความดูแลของเธอก็กระเซ็นกระสาย บ้างขอลาออกจากมหาวิทยาลัย บ้างไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ และเริ่มทำวิทยานิพนธ์ใหม่ รวมเวลาของนิสิตทุกคนที่สูญเสียไปเนื่องจากเหตุการณ์นี้นานประมาณ 16 ปี
Elizabeth Goodwin คืออาจารย์สตรีวัย 50 ปี ผู้เคยทำงานที่มหาวิทยาลัย Northwestern ที่ Chicago ในรัฐ Illinois มาก่อน และได้โอนมาทำงานที่มหาวิทยาลัย Wisconsin ในปี 2000 เพราะเธอชอบบรรยากาศทำงาน จากประสบการณ์วิจัยหลังปริญญาเอกที่นี่ งานวิจัยที่เธอเชี่ยวชาญคือ เรื่องหนอนในระยะตัวอ่อน และได้มีผลงานตีพิมพ์กว่า 20 ชิ้น ในวารสารชั้นนำของโลก เช่น Science เป็นต้น
เมื่อเริ่มทำงานที่ Wisconsin เธอมีความกระตือรือร้น ขยัน และทุ่มเทเวลาให้งานวิจัยมาก จนนิสิตในความดูแลของเธอรู้สึกประทับใจ เพราะเธอให้ความเป็นกันเองกับนิสิตทุกคน เช่น เชิญไปงานปาร์ตี้ที่บ้านในวันคริสต์มาส และชวนไปขี่ม้าเล่นเวลาปิดภาคเรียน
แต่ในวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ค.ศ.2005 ทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางร้าย หลังจากที่ Ly ได้เข้าพบ Goodwin และบอกอาจารย์ของเธอว่า งานทดลองที่เธอกำลังทำเพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์นั้นไม่ได้ผลเลย ทั้งๆ ที่ได้ทุ่มเทและพยายามมานานหลายเดือนแล้ว Goodwin จึงหันไปหยิบโครงการวิจัยที่เธอกำลังเสนอขอทุนมาให้ Ly อ่าน แล้วบอกว่า มันเป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะค่อนข้างสำคัญและใหญ่ และเป็นไปได้ที่นิสิตอีกคนหนึ่งชื่อ Garett Padilla ที่เธอมอบให้ทำ คงทำคนเดียวหมดไม่ได้ และถ้า Ly สนใจ ก็ให้แบ่งไปทำเป็นโจทย์วิจัยใหม่
เมื่อ Ly ได้อ่านโครงการวิจัยเกี่ยวกับยีน (gene) ในตัวหนอน ที่มีความยาวเพียง 3หน้ากระดาษ เธอได้พบว่า ในเอกสารนั้นมีข้อมูลมากมายที่ไม่ถูกต้อง เช่น ภาพถ่ายของยีน 3 ภาพที่ Goodwin อ้างว่า ยังไม่เคยลงพิมพ์ที่ใดเลย ในความเป็นจริง Goodwin ได้เคยตีพิมพ์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2004 เธอจึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับ Garett Padilla ซึ่งก็รู้สึกกังวลใจเหมือนกันที่เห็นเหตุการณ์ที่ตนไม่สมควรจะได้เห็น เพราะ Ly ท้องแก่และใกล้จะคลอดลูก เธอจึงขอให้ Padilla เดินเรื่องนี้ต่อ
หลังจากที่ได้ครุ่นคิดเป็นเวลานาน Padilla จึงขอเข้าพบ Goodwin แต่ไม่บอกอาจารย์ตรงๆ กลับบอกว่าตนรู้สึกเบื่องานวิจัยที่กำลังทำมาก จนคิดจะไปทำปริญญาด้านกฎหมายต่อ แต่ Goodwin ก็บอกให้อดทนไปก่อน แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น
Padilla จึงไปหาอาจารย์อีก 2 ท่านเพื่อขอคำแนะนำว่าจะต้องทำหรือควรทำอะไรต่อไป หลังจากที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้ตรวจเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด ก็เสนอให้ Padilla เข้าพบ Goodwin เพื่อขอคำชี้แจง
Padilla ได้ระดมรวบรวมความกล้าหาญเป็นเวลานาน เพื่อเข้าพบอาจารย์ แต่ Goodwin ตอบประเด็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่จริง โดยอ้างว่า ไฟล์คอมพิวเตอร์ของเธอทำงานผิดพลาด
ข่าว Goodwin ทำผิดทางจริยธรรมในการวิจัยแพร่สะพัดในมหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็ว และ Padilla ก็นำหลักฐานมาแสดงให้ทุกคนดู (ส่วน Ly ไม่ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะลาคลอด) และนิสิตของ Goodwin ทุกคนที่กำลังทำปริญญาเอก ต่างรู้สึกกังวลและกลัวเรื่องอนาคตของแต่ละคนว่าจะถูกกระทบกระเทือน ถ้าอาจารย์ Goodwin ถูกไล่ออก ในที่สุดทุกคนก็ได้ขอร้องให้ Padilla เข้าพบ Goodwin อีกครั้ง เพื่อขอให้เธอถอนใบสมัครขอทุนวิจัย และให้อธิบายเหตุผลที่ทำไป
ในการเผชิญหน้ากันครั้งที่สาม Goodwin บอกขอโทษที่ทำผิดไป และขอแสดงความชื่นชมศิษย์ที่ติดตามเรื่องนี้ แล้วเสริมว่า ยังไงๆ ก็คงไม่ได้ทุนวิจัย จะอย่างไรก็ตาม Goodwin บอกว่าจะรายงานให้ National Institute of Health (NIH) ซึ่งเป็นองค์กรอนุมัติทุนทราบว่า โครงการที่เธอเสนอมีปัญหา Padilla รู้สึกพอใจกับคำชี้แจง
บรรยากาศการทำงานของทุกคนที่ห้องปฏิบัติการเครียดมาก เพราะ Goodwin ยังยืนยันว่า ไม่เคยทำการใดๆ ที่ทุจริต และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากภาพที่ Goodwin บันทึกในคอมพิวเตอร์ได้สลับที่กัน เพราะภาพเหล่านี้ไม่มีเลขกำกับ
มหาวิทยาลัย Wisconsin ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมการได้สัมภาษณ์ทั้ง Goodwin และบรรดานิสิต หลังจากที่เวลาผ่านไป 3 สัปดาห์ คณะกรรมการก็ได้ข้อสรุปว่า Goodwin บกพร่องในหน้าที่ และได้ตัดแต่งข้อมูลโดยเจตนาและอ้างว่า เพราะศิษย์ในความดูแลของเธอทำงานไม่ได้ผล เธอจึงต้องพยายามหาเงินมาเพื่อให้ห้องปฏิบัติการสามารถเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อได้ข้อสรุป มหาวิทยาลัยได้ระงับการขอทุนวิจัยของ Goodwin และหยุดโครงการวิจัยอีก 2 โครงการที่ Goodwin ได้รับทุนวิจัยจาก NIH และ U.S. Department of Agriculture
เมื่อถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2006 Goodwin ได้ลาออกโดยไม่ลาใคร
อีก 3 เดือนต่อมา มหาวิทยาลัย Wisconsin ได้ออกแถลงข่าวว่า E. Goodwin ได้บิดเบือนข้อมูลอย่างเจตนาเพื่อขอทุนวิจัยมูลค่าร่วม 1.8 ล้านเหรียญ การสืบสวนยังทำให้รู้อีกว่า เวลานิสิตทดลองได้ผลไม่ตรงกับที่คาดหวัง Goodwin จะสั่งนิสิตไม่ให้พิจารณาข้อมูลนั้นๆ
การประพฤติเช่นนี้จึงเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมการวิจัยอย่างรุนแรงและ Goodwin ก็ได้จากไปโดยไม่ได้กล่าวคำขอโทษใดๆ
เมื่อพายุในมหาวิทยาลัยสงบ คณะกรรมการวิทยานิพนธ์ของนิสิตที่กำลังศึกษาภายใต้ความดูแลของ Goodwin ได้มีการประชุมกันเพื่อประเมินสถานภาพของงานที่นิสิตแต่ละคนได้ทำไปแล้ว
สำหรับคนที่งานยังไม่คืบหน้าเลย มหาวิทยาลัยได้เสนอให้เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา หลายคนขอลาออก เช่น Padilla ได้หันไปเรียนกฎหมาย และเห็นความสำคัญของการมีกฏหมายสำหรับควบคุมความประพฤติของสมาชิกในองค์กร สำหรับ Ly เอง เมื่องานที่ทำไม่ได้ผลเลย หลังจากที่เสียเวลาไปแล้ว 7 ปี เธอได้ย้ายไปเรียนวิชาบริหารธุรกิจแทน นิสิตคนอื่นบอกเสียดายเวลาที่ได้ทุ่มเทไป แต่เมื่อเป็นเรื่องสุดวิสัย ก็ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ สำหรับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ก็ได้แสดงความชื่นชมในความซื่อสัตย์ และการมีจริยธรรมของนักวิชาการส่วนใหญ่ พร้อมบอกว่าประเทศต้องการบุคคลแบบนี้ในทุกวงการ และได้จัดให้มีการวางแผนป้องกัน การเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้อีก เช่น ให้คำมั่นสัญญาแก่นิสิตว่า ถ้านิสิตกล้าเปิดเผยความจริงในกรณีอาจารย์ทุจริต นิสิตก็ยังได้รับทุนเรียนต่อไป โดยไม่กลัวตกอยู่ในอุ้งมือของอาจารย์ที่ประพฤติผิด Sarah La Martina ซึ่งนิสิตคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ปรารภว่า “Sure it’s the right thing to do, but right for who?
ผมว่าดีและถูกต้องสำหรับประเทศครับ Sarah
การทำวิจัยในบ้านเราไม่มีใครเก็บสถิติว่า อาจารย์ และนิสิตทุจริตทางวิชาการมากหรือน้อยเพียงใด แต่จากประสบการณ์ที่พบ ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงลักษณะนี้เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจะปิดและปกป้องชื่อของผู้เกี่ยวข้อง เพราะกลัวว่าชื่อเสียงของสถาบันจะเสื่อมเสีย เท่านั้นยังไม่พอยังปล่อยให้ผู้ทุจริตลอยนวล และลอยหน้าลอยตา โดยอ้างว่าทุกคนต้องสงสาร ต้องมีเมตตา และต้องให้โอกาสแก้ตัว จนขณะนี้วงการวิชาการหลายแห่งเละครับ
อ่านเพิ่มเติมจาก Principia Ethica โดย G.E. Moore, จัดพิมพ์โดย Prometheus Books (1998) และ Science ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2006 หน้า 1222
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์