จากหลายๆ บทความถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่ผ่านมาคงมีหลายท่านหันมาถ่ายภาพประเภทนี้กันมากขึ้นนะครับ และคงจะมีภาพสวยๆ ในคลังภาพกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาพเส้นแสงดาว ภาพทางช้างเผือก ภาพดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือแม้แต่ภาพเมฆสี ฟ้าฝ่า ซึ่งมีอวดกันใน Facebook ไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งในช่วงหน้าฝนนี้มีคนถ่ายภาพปรากฏการณ์บนชั้นบรรยากาศโพสต์ใน Facebook กันทุกวันเลย ล้วนแต่เป็นภาพที่สวยงามกันทั้งนั้น
ผมจึงอยากเชิญชวนผู้ที่รักการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์มาปล่อยของกัน โดยสามารถส่งภาพถ่ายทางดาราศาสตร์มาร่วมประกวดกันใน “โครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2556” จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งกิจกรรมการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์นี้ เป็นการรวบรวมภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนามาใช้ในการจัดทำปฏิทินทางดาราศาสตร์ รวมทั้งนำภาพอื่นๆ ที่ส่งเข้าประกวดมาใช้ในการจัดทำสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์และสมุดภาพสำหรับใช้เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์และเทคนิคการถ่ายภาพ
ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดนอกจากจะมีคุณค่าความงามด้านศิลปะแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย และในปีนี้นอกจากผู้ชนะจะได้เงินรางวัลจากทางสถาบันฯ แล้วทางบริษัทแคนนอน บริษัทแคนนอน ประเทศไทย จํากัด ก็ยังได้สนับสนุนของรางวัลอีกด้วยครับ เรียกได้ว่ามีแต่ได้กับได้
แบ่งประเภทของภาพที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 5 ประเภท คือ Deep Sky Objects, ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์, วัตถุในระบบสุริยะ, วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์, ปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก ซึ่งแต่ละประเภทก็มักมีคนสงสัยว่าภาพถ่ายของตนเองจัดอยู่ในประเภทไหน และการใช้เทคนิควิธีการถ่ายภาพต่างๆ ในการประมวลผลภาพผิดกติกาหรือไม่ วันนี้เลยยกตัวอย่างของภาพถ่ายแต่ละประเภทมาอธิบายให้ฟังครับ
1. ภาพถ่ายประเภท Deep Sky Objects เช่น กาแล็กซี, เนบิวลา, กระจุกดาว
ภาพถ่ายประเภทแรกนี้เป็นภาพที่ต้องอาศัยความรู้ทางดาราศาสตร์ และเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ถ่ายส่วนใหญ่มักจะต้องมีความเชี่ยวชาญพอสมควร รวมทั้งเทคนิคการประมวลผลภาพถ่ายหลายขั้นตอน ซึ่งผู้ถ่ายภาพจะต้องบอกรายละเอียดถึงอุปกรณ์ ขั้นตอนการถ่ายภาพ เทคนิคการประมวลผลภาพถ่ายอย่างละเอียดเพื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ซึ่งภาพประเภทนี้มักจะมีคนแอบคัดลอกภาพถ่ายบุคลลอื่นในอินเทอร์เน็ตแล้วอัดภาพมาส่งประกวด แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดการถ่ายภาพมาได้ถูกต้อง จึงถูกตัดสิทธิ์ไป
2. ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก การบังกันของวัตถุในระบบสุริยะ การเกิด "คอนจังชั่น" (conjunction) ของวัตถุในระบบสุริยะเป็นต้น แต่ไม่รวมถึงปรากฏการณ์การขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ การเกิดดิถี หรือ “เฟส" (phase) ของดวงจันทร์ และปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ฟ้าผ่า เมฆสี หรือการเกิดรุ้ง เป็นต้น
สำหรับภาพถ่ายประเภทนี้ ผู้ถ่ายภาพสามารถส่งภาพปรากฎการณ์ที่ถ่ายจากต่างประเทศได้ เพียงแค่เป็นฝีมือของคนไทยก็ไม่ถือเป็นการผิดกติกา เนื่องจากปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง หรือแม้แต่การเกิดแสงเหนือแสงใต้ ที่เกิดขึ้นแทบทุกปี แต่สถานที่สามารถสังเกตการณ์ได้อาจเป็นประเทศเพื่อนบ้าน หรือตำแหน่งใดๆ ก็ได้บนโลกนี้ ดังนั้นภาพถ่ายประเภทนี้จึงไม่จำกัดสถานที่ในการถ่ายภาพครับ
3. ภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
ภาพถ่ายประเภทนี้ต้องแอบกระซิบว่า ปีก่อนมาผู้ส่งภาพมาประกวดค่อนข้างน้อย เหตุผลหนึ่งก็น่าจะมาจากการถ่ายภาพประเภทนี้มักต้องใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีทางยาวโฟกัส (focal length) ค่อนข้างสูง เพื่อให้ได้รายละเอียดของภาพที่คมชัด แต่หากมีความเข้าใจกับเทคนิคการถ่ายภาพประเภทนี้ เช่นการใช้เทคนิคการ Stacking Image ตามลิงค์ (http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000114250) ก็สามารถช่วยให้ภาพถ่ายมีรายละเอียดและความคมชัดที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้หากใครมีภาพประเภทนี้เก็บไว้ก็อย่าลืมส่งภาพมาร่วมประกวดกันนะครับ
4. ภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายที่ประกอบด้วยวัตถุบนพื้นโลกกับวัตถุบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เช่น ภาพเส้นแสงดาว ทางช้างเผือก หรือ ภาพท้องฟ้ากับกลุ่มดาว เป็นต้น
สำหรับภาพถ่ายประเภทนี้ถือว่าเป็นภาพที่มีความสวยงามและได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละปีก็ถือเป็นภาพที่ตัดสินค่อนข้างยากเพราะภาพถ่ายสวยๆ มีเยอะมาก แต่มักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคนิคและกติกาในการถ่ายภาพประเภทนี้ค่อนข้างมาก ผมจึงขออธิบายกันสักหน่อยครับ ภาพประเภทนี้สามารถถ่ายภาพด้วยเทคนิคการซ้อนภาพได้ แต่ต้องเป็นที่ตำแหน่ง ทิศทาง และทางยาวโฟกัสเดียวกัน และสามารถประมวลผลภาพด้วยเทคนิคการ Stacking Image ได้ รวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR ก็ไม่ถือว่าผิดกติกาครับ เพราะถือเป็นเทคนิคของการถ่ายภาพครับ
แบบไหนที่ผิดกติกา? ภาพแบบที่ผิดกติกา คือ ภาพที่เกิดจากการรีทัช การตัดแปะ การทำภาพให้ผิดสัดส่วนจริง หรือแม้กระทั่งที่ผมเคยเจอคือถ่ายภาพกลุ่มดาวจากอีกแห่งหนึ่งหรืออีกทิศหนึ่ง แล้วเอามาแปะกับภาพวิวทิวทัศน์อีกแห่งหนึ่ง เรียกได้ว่าผิดทิศผิดมุม อันนี้ก็คงขอต้องตัดสิทธิ์ครับ เพราะมันเป็นภาพที่ผิดหลักการครับ
5. ภาพถ่ายประเภทปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก เช่น ปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ ฟ้าผ่า เมฆ การเกิดรุ้งกินน้ำ ดวงจันทร์ทรงกลด หรือดวงอาทิตย์ทรงกลด เป็นต้น
ประเภทสุดท้ายนี้น่าจะเป็นประเภทที่ถ่ายกันได้บ่อย เพียงแต่หมั่นสังเกตท้องฟ้า และดูการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก ซึ่งในช่วงฤดูฝนเป็นโอกาสทองของผู้ที่ชอบถ่ายภาพประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำที่มักเกิดหลังฝนตก ในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือเมฆสีที่มักจะเกิดในช่วงเย็น ก็มักปรากฏให้เห็นกันบ่อยครั้ง ฃหากใครอยากลองถ่ายภาพแนวนี้ก็อาจ เริ่มจากหมั่นสังเกตท้องฟ้าบ่อย หรืออาจศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “ชมรวมคนรักมวลเมฆ” ได้ตามลิงค์ครับ (http://cloudloverclub.com/pages/first-page/) หรืออาจลองดูเทคนิคการถ่ายภาพได้ตามลิงค์ครับ (http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000087029)
สำหรับผู้ที่สนใจส่งภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไป อ่านรายละเอียดได้ที่
http://www.narit.or.th/files/contest56.pdf ในปีนี้ผมก็หวังว่าคงจะมีหลายท่านให้ความสนใจเข้าร่วมส่งภาพประกวดกันนะครับ แม้ภาพที่ไม่ชนะการประกวดแต่ก็ไม่สูญเปล่านะครับ เพราะภาพถ่ายทุกภาพทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จะนำไปเผยแพร่และใช้ประกอบการสร้างสื่อการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์เพื่อประโยชน์ต่อไปครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน