เทคนิคการบันทึกภาพท้องฟ้าสุดประทับใจไว้กับตัวเรา
ในช่วงฤดูหนาวหากใครมีโอกาสเดินทางไปค้างคืนตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ ทางภาคเหนือกัน ไม่ว่าจะเป็นดอยอินทนนท์ ดอยหลวงเชียงดาว ดอยอ่างขาง ภูชี้ฟ้า หรือที่กำลังดังเลยในช่วงหน้าหนาวนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น ดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน (แต่ผมเองก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปกับเค้าสักที) คงจะได้สัมผัสท้องฟ้าในช่วงฤดูหนาวของทางภาคเหนือที่จะค่อนข้างใสเคลียร์ และยังมีค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ดีอีกด้วย ทำให้เรามีโอกาสสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างๆ เต็มท้องฟ้า อีกทั้งในช่วงนี้ตั้งแต่เวลาประมาณตี 3 เราก็ยังจะได้มีโอกาสสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ สำหรับคอลัมน์นี้ผมขอแนะนำเทคนิควิธีการถ่ายภาพท้องฟ้าสุดประทับใจไว้กับตัวเราถ่ายภาพ ภาพที่ได้นั้นส่วนตัวผมคิดว่ามันสร้างคุณค่าของภาพถ่ายได้ค่อนข้างมาก โดยภาพถ่ายจะแสดงให้เห็นถึงความสวยงามและเต็มไปด้วยดวงดาวทั่วท้องฟ้าทั้งดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ หรือแม้กระทั่งกาแล็กซี หรือเนบิวลา ให้เห็นได้ในภาพของเรา ที่สร้างแรงบรรดาลใจในการอนุรักษ์ท้องฟ้าของเราอีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ดวงดาวจะไร้คุณค่า หากท้องฟ้าปราศจากความมืด” ดังนั้น วันนี้เรามาสร้างคุณค่าให้กับภาพถ่ายของเรากันครับ
ในการถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวหรือแม้กระทั่งทางช้างเผือก หากเราถ่ายภาพแค่เพียงท้องฟ้าเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ใช้เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด เพียงถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และเปิดหน้ากล้องค้างไว้สัก 30 วินาที รวมทั้งตั้งค่าความไวแสง (ISO) สูง เราก็สามารถถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวเต็มฟ้าได้แล้วครับ
หากแต่วันนี้ผมขอแนะนำให้เอาตัวเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพด้วย เพราะจะเป็นภาพในอีกรูปแบบหนึ่งที่โชว์ให้เพื่อนๆ เห็นว่า เราได้ไปสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้ามาจริงๆ และยังทำให้ภาพถ่ายของเราดูมีเรื่องราวมากขึ้นอีกด้วย เกือบทุกครั้งหลังจากที่ผมจัดกิจกรรมดูดาวในสถานที่ที่ท้องฟ้าใสเคลียร์ผมก็มักจะให้ผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม มาถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก และสิ่งที่ผมมีความสุขเสมอก็คือ หลังจากที่ทุกคนร่วมถ่ายภาพเสร็จแล้วมาดูภาพหลังกล้องต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้โห สวยจัง” คำนี้ฟังแล้วมันได้ยินแล้วชื่นใจ และอาจเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเค้ารักการดูดาวมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นก็จะทำให้คุณกลายเป็นพระเอกในค่ำคืนนั้นไปเลยก็ว่าได้
ต่อให้ใครถ่ายภาพกลุ่มดาวอย่างเดียวมาได้สวยแค่ไหน หากเพื่อนๆ คุณได้มาเห็นภาพที่พวกเค้าถ่ายกับท้องฟ้า กลุ่มดาว หรือทางช้างเผือกแล้ว คุณจะกลายเป็นช่างภาพมือโปรในสายตาเพื่อนๆไปเลย และพวกเค้าก็ต้องมาขอภาพจากคุณเพื่อเอาไปลงใน Facebook โชว์เพื่อนๆ แน่นอน เรามาดูว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพแนวนี้มีอะไรบ้าง
อุปกรณ์ที่จำเป็น
1. กล้องดิจิตอล SLR
2. ขาตั้งกล้องที่มั่นคง
3. แฟลช
4. ไฟฉาย
เทคนิคและวิธีการ
- รู้ทิศรู้มุม
ก่อนการเชิญชวนให้เพื่อนๆ มาร่วมถ่ายภาพนั้น เราต้องดูทิศทางของกลุ่มดาวสว่างที่น่าสนใจ หรืออาจเป็นแนวทางช้างเผือกก่อนเสมอ เพราะมันคือสิ่งที่เราต้องการจะให้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยกลุ่มดาวสว่างหรือแนวทางช้างเผือกนั้นมาเป็นฉากหลังที่สวยงามของเรานั้นเอง ส่วนตัวผมมักเลือกกลุ่มดาวนายพรานเป็นฉากหลัง หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า ดาวไถ นั่นแหละครับ เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มดาวสว่างใหญ่แล้ว บริเวณของดาบนายพรานยังมีเนบิวลา M42 ซึ่งเป็นเนบิวลาสว่างใหญ่อีกด้วย รวมทั้งกลุ่มดาวนี้ยังอยู่ใกล้กับแนวทางช้างเผือกอีกด้วย ทำให้ภาพพื้นหลังของเรานั้นจะเต็มไปด้วยกลุ่มดาวสว่างมากมาย หรือหากโชคดีขณะที่เราจะถ่ายภาพอยู่ในช่วงที่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู คุณจะได้ภาพถ่ายคู่กับทางช้างเผือกที่สวยสุดๆ อีกด้วย
สำหรับช่วงเดือนเมษายนนี้ ในช่วงหัวค่ำเราจะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวนายพรานได้ทางทิศตะวันตกและจะตกลับขอบฟ้าไปในช่วงดึก และสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกบริเวณใจกลาง ได้ในช่วงรุ่งเช้าตั้งแต่ตี 3 ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู
- เทคนิคและการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพ
1. โพสท่านิ่งๆ ค้างไว้สัก 20-30 วินาที หลังจากหาทิศและมุมของการถ่ายภาพได้แล้ว ผมจะเรียกให้เพื่อนๆยืนโพสต์ท่านิ่งๆ ค้างไว้สัก 20-30 วินาที เพื่อเก็บแสงของกลุ่มดาวให้สว่างพอที่จะเห็นรายละเอียดของกลุ่มดาวบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมใช้บ่อยที่สุดและง่ายที่สุด
2. เลือกใช้ค่า ISO สูงๆ ปกติผมใช้ค่า ISO ที่ 2000-4000 เพื่อเก็บภาพแสงดาวบนท้องฟ้า หรืออาจโชคดีมีฝนดาวตกผ่านเข้ามาในเฟรมของกล้องเราขณะถ่ายภาพ การใช้ ISO สูงๆ จะทำให้กล้องของเรามีความไวแสงพอที่จะบันทึกภาพดาวตกเข้าไปด้วย
3. เปิดหน้ากล้องค้างไว้ 30 วินาที และใช้ค่ารูรับแสงกว้างที่สุดของเลนส์ เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บภาพ
4. ใช้แสงแฟลชเปิดเงาและรายละเอียดของฉากหน้า หรือกลุ่มบุคคลที่เราต้องการถ่าย โดยการปรับโหมดการยิงแฟลชสัมพันธ์ม่านชัตเตอร์ชุดหลัง เนื่องจากการยิงแสงแฟลชในชุดหลังก่อนชัตเตอร์จะปิดนั้น จะช่วยหยุดการสั่นไหวของตัวแบบได้ดีกว่าการยิงแฟลชตั้งแต่ครั้งแรกที่ลั่นชัตเตอร์
5. ตัวแบบควรห่างจากกล้องถ่ายภาพอย่างน้อย 4 เมตร เนื่องจากการถ่ายภาพกับท้องฟ้ามุมกว้างส่วนมากเรานิยมใช้เลนส์มุมกว้าง ซึ่งค่า Hyperfocal Distance หรือระยะความคมชัดตั้งแต่ฉากหน้าไปถึงฉากหลังของเลนส์มุมกว้างทั่วไป ก็ใช้ค่าประมาณ 4 เมตร เป็นต้นไปก็พอที่จะทำให้เราสามารถปรับโฟกัสที่ระยะอินฟินิตีได้
6. ไฟฉายช่วยเปิดเงามืดของฉากหน้าบริเวณที่แสงแฟลชไปไม่ถึง เนื่องจากแสงแฟลชที่เราใช้อาจไม่สามารถเปิดรายละเอียดของพื้นที่โดยรอบได้ ดังนั้นไฟฉายก็ยังถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ภาพถ่ายของเราสว่างทั่วทั้งภาพได้
การตั้งค่าแฟลชที่ใช้ในการถ่ายภาพให้สัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดหลัง ควรเริ่มปรับกำลังไฟในการยิงแสงแฟลชจาก 1/128 ก่อนเสมอ เนื่องจากเวลาที่เปิดหนากล้องนานกว่า 20 วินาทีนั้นภาพอาจสว่างพอสมควร แล้วค่อยเพิ่มกำลังไฟในภายหลังหากภาพของฉากหน้าสว่างไม่พอ
จากเทคนิคและวิธีการที่แนะนำมาข้างต้น หลังจากการถ่ายภาพค้างไว้กว่า 30 วินาที สิ่งสุดท้ายก็เหลือแค่ เรียกกลุ่มเพื่อนๆ ของคุณมาชื่นชมกับภาพท้องฟ้าสุดประทับใจไว้กับเพื่อนๆ ของคุณแล้วครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน