xs
xsm
sm
md
lg

หนาวแล้ว! ประเดิมเทศกาลถ่ายดาว...ด้วยใจกลาง “ทางช้างเผือก”

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกในช่วงปลายเดือนตุลาคม ทางทิศตะวันตก ในช่วงหัวค่ำ โดยใจกลางทางช้างเผือกที่สังเกตเห็นในภาพจะอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้า (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fish Eye Lens 15 มม. / F2.8 / ISO 3200 / 30 วินาที)
จากบทความการถ่ายภาพทางช้างเผือก ที่เคยกล่าวไว้ในคอลัมน์ก่อนๆ (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บทความเรื่อง “การถ่ายภาพทางช้างเผือก” (The Milky Way) ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุด คือ ช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนตุลาคม เพราะสามารถเห็นใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้จะสว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ และในช่วงเดือนดังกล่าวทางช้างเผือกก็จะอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน แต่ก็มักมีอุปสรรคในเรื่องเมฆฝน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูฝน แต่หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนในช่วงเดือนดังกล่าวจะถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือก แต่จากประสบการณ์ผมมีโอกาสค่อนข้างน้อย เพราะบางวันที่ฟ้าใสเคลียร์ก็อาจมีแสงดวงจันทร์รบกวน แต่บางวันไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนวันนั้นก็อาจมีเมฆฝนเต็มท้องฟ้าก็เป็นได้ครับ

ดังนั้น ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน นี้ ก็ถือได้ว่าเป็นช่วงโอกาสสุดท้ายของการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก ซึ่งช่วงเดือนนี้ก็เป็นช่วงต้นฤดูหนาวแล้ว ทำให้อุปสรรคเรื่องเมฆฝนน้อยลง และใน 1 ปีอาจมีเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ที่เหมาะแก่การถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก ซึ่งหากเราทราบและวางแผนก่อนหน้าก็ทำให้เราไม่พลาดโอกาสในการเก็บภาพทางช้างเผือกได้ไม่ยากเย็น
ภาพตัวอย่างใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู ในช่วงปลายเดือนตุลาคม – กลางเดือนพฤศจิกายน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า โดยการสังเกตนั้นเราจะใช้กลุ่มดาวสองกลุ่มนี้เป็นตำแหน่งอ้างอิง
ทำความเข้าใจกันก่อน
ในการสังเกตทางช้างเผือกนั้น เราจะสังเกตเห็นแถบสีขาวจางพาดผ่านท้องฟ้า โดยมากจะพาดจากขอบฟ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งปี โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่อท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดี และไม่มีแสงรบกวน (Light pollution) เช่น แสงจากดวงจันทร์ แสงไฟจากเมือง

ทั้งนี้ คนในเมืองส่วนใหญ่มักไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เคยสังเกตทางช้างเผือก เนื่องจากในตัวเมืองมีแสงไฟและฝุ่นละออง ควัน เป็นจำนวนมาก ทำให้ทัศนวิสัยของฟ้าที่ในเขตเมืองไม่เอื้อต่อการสังเกตเห็นทางช้างเผือก ดังนั้น หากต้องการสังเกตทางช้างเผือกก็จำเป็นต้องไปยังสถานที่ที่ห่างจากตัวเมืองอย่างน้อยประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นละอองต่างๆ

โดยสรุปแล้วจะเห็นว่า เราสามารถสังเกตทางช้างเผือกได้ตลอดทั้งปี แต่ก็จำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีทัศนะวิสัยของท้องฟ้าดี และไม่มีแสงรบกวน ทั้งนี้ อย่างลืมเรื่องแสงของดวงจันทร์ด้วยนะครับ หากคืนไหนมีแสงจันทร์รบกวนก็จะเป็นอุปสรรคจากแสงจันทร์รบกวนทำให้เราสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ไม่ชัดเจนเช่นกัน

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะแก่การถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องเมฆฝนนั้น จะอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว คือประมาณกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนพฤศจิกายนครับ โดยจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่หลังจากนี้ตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกก็จะถูกแสงดวงอาทิตย์บดบัง เนื่องจากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง และคนยิงธนู ซึ่งเป็นบริเวณใจกลางทางช้างเผือกครับ และต้องรอไปอีกประมาณ 3 เดือนครับ จึงจะสามารถถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกได้อีกครั้งในช่วง ปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนเมษายน เพราะหลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนซึ่งมักมีอุปสรรคเรื่องเมฆบดบังได้ครับ
ภาพถ่ายทางช้างเผือกโดยบริเวณที่ใช้ไฟฉายส่องเป็นลำไปคือ บริเวณใจกลางทางช้างเผือกที่สังเกตเห็นในภาพจะมีดาวอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fish Eye Lens 15 มม. / F3.5 / ISO 3200 / 30 วินาที)
เทคนิคและวิธีการ
ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกอาจมีบางคนเคยลองถ่ายกันมาบ้างแล้ว แต่ก็มีหลายคนสงสัยว่าทำไมถึงถ่ายภาพทางช้างเผือกมาไม่สวยหรือไม่สว่างเหมือนกับคนอื่น วันนี้ผมมีคำตอบครับ ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น ส่วนมากเราจะถ่ายตรงบริเวณใจกลางทางช้างเผือก เนื่องจากกาแล็กซีทางช้างเผือก เป็นบริเวณที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ บริเวณของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง อุกกาบาต รวมทั้งแก๊สและฝุ่นธุลีในอวกาศ ซึ่งบริเวณใจกลางทางช้างเผือกนั้นมีดาวอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด หากมองไปยังบริเวณอื่นเราจะเห็นเพียงแถบจางๆ เท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังมองออกไปนอกกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรานั่นเอง

ดังนั้น เราจึงพอสรุปเทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ดังนี้

1.ตั้งกล้องถ่ายภาพโดยหันไปในทิศทางบริเวณใจกลางทางช้างเผือก หรือบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูที่เป็นจุดศูนย์กลางทางช้างเผือก ซึ่งสามารถดูแผนที่ดาว หรือโปรแกรมดูดาวประกอบได้ (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ http://www.stellarium.org/)

2.เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้น เพราะแนวทางช้างเผือกจะพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา โดยส่วนตัวผมมักเลือกใช้เลนส์ฟิชอาย (Fisheye Lens) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเลนส์ตาปลา มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถเก็บภาพได้กว้างถึง 180 องศา ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเสน่ห์ของเลนส์ตาปลาเลยทีเดียวครับ

3.การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี) หรือระยะอนันต์ ให้มองหาสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายเลข 8 เป็นแนวนอนที่ตัวเลนส์ เนื่องจากภาพที่เราจะถ่ายคือดาวนั่นเองครับ โดยอาจทดลองปรับระยะไกลสุดในช่วงกลางวันก่อน โดยโฟกัสไปที่ระยะไกลสุดเท่าที่จะหาสิ่งที่ใช้ปรับโฟกัสได้ แล้วดูว่าภาพชัดทั่วทั้งภาพที่สุด ที่ตำแหน่งบนกระบอกเลนส์ตำแหน่งใด แล้วติดเทปเอาไว้เพื่อป้องกันโฟกัสเคลื่อน เพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในตอนกลางคืน รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย

4.กล้องดิจิตอลเหมาะกับถ่ายภาพทางช้างเผือก มากกว่ากล้องแบบฟิล์มครับ เนื่องจากImage sensor ในกล้องดิจิตอลมีความไวแสงมากกว่าฟิล์มหลายเท่า และนอกจากนั้นเพื่อให้ได้ภาพทางช้างเผือกที่ดีที่สุด หากเป็นไปได้ควรใช้กล้องดิจิตอลที่สามารถปรับค่าความไวแสงได้มากๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไปหรือมากกว่านั้น หากกล้องที่ท่านใช้มีระบบกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดี ส่วนตัวผมมักเลือกใช้ค่าความไวแสงที่ ISO 3200 ครับ เพราะทำให้ได้ภาพทางช้างเผือกที่สว่างและสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นในภาพยังพอรับได้

5.เวลาในการถ่ายภาพ โดยใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องนานไม่ควรเกิน 30 วินาที เนื่องจากที่องศาการรับภาพมุมกว้าง เช่น เลนส์ขนาด 18 mm.ซึ่งมีองศาในการรับภาพประมาณ 100 องศา เป็นต้นนั้น การเปิดหน้ากล้องในเวลา 30 วินาทีจะยังคงไม่ทำให้ดาวยืดเป็นเส้น ทั้งยังไม่ทำให้เกิดสัญญาณรบกวนมากเกินไปด้วย

6.รูรับแสงยิ่งกว้าง ยิ่งได้เปรียบ สำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือกควรเลือกใช้ค่ารูรับแสงของเลนส์ที่กว้างที่สุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการสร้างภาพได้ดีมากที่สุด เนื่องจากเราจะเปิดหน้ากล้องในการถ่ายภาพไม่เกิน 30 วินาที

7.ปรับตั้งค่าสมดุลสีขาว (White Balance) โดยอุณหภูมิสีของท้องฟ้าในช่วงกลางคืน ผมจะเลือกใช้ที่ 4500 เคลวิน หรืออาจเลือกใช้ในโหมดการปรับค่า White Balance เป็นแบบฟลูออเรสเซนต์ก็ได้ เพื่อให้ได้ภาพท้องฟ้าที่ไม่อมสีแดงมากเกินไปครับ

8.การถ่ายภาพในที่แสงน้อย ทำให้ต้องใช้ ISO สูงๆ หรือต้องเปิดชัตเตอร์ให้รับแสงนานขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้เกิดจุดรบกวนบนภาพที่เรียกว่า Noise ซึ่งแก้ไขได้บ้าง ด้วยการเปิดระบบ Long exposure noise reduction เมื่อความเร็วชัตเตอร์ช้าเกินกว่าที่กำหนด ระบบกำจัด noise เริ่มทำงาน ซึ่งกล้องจะจัดการประมวลผลระดับสัญญาณรบกวนที่ปรากฎบนภาพ และปรับแก้ไขผลในภาพให้ได้ผลที่ดีที่สุด นอกจากนั้นหากกล้องใครที่มีระบบ High ISO speed noise reduction ซึ่งเมื่อใช้ ISO สูงๆ ระบบจะช่วยลด Noise ให้เมื่อเปิดใช้งาน และปรับแก้ไขผลในภาพให้ได้ผลที่ดีที่สุด

9.วิธีการวัดแสงที่ดีที่สุดคือการเลือกวัดแสงแบบเฉลี่ยทั่วทั้งภาพ โดยเลือกวัดบริเวณท้องฟ้า

10.ใช้สายลั่นชัตเตอร์บนขาตั้งกล้องที่มั่นคงในการถ่ายภาพเพื่อลดความสั่นไหว หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้

11.การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกด้วย
ภาพถ่ายทางช้างเผือก  ในช่วงกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมาโดยเป็นช่วงฤดูฝน แต่หากท้องฟ้าไม่มีเมฆฝนในค่ำคืนในช่วงเดือนดังกล่าว เราจะสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกในตำแหน่งเกือบกลางท้องฟ้าเลยทีเดียว ซึ่งจากภาพถ่ายใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏให้เห็นในมุมบนซ้ายของภาพโดยเป็นตำแหน่งที่สูงจากขอบฟ้าค่อนข้างมาก และบริเวณใจกลางทางช้างเผือกก็จะมีความสว่างกว่าด้านข้างอย่างชัดเจน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / Fish Eye Lens 15 มม. / F3.5 / ISO 3200 / 30 วินาที)
ภาพถ่ายทางช้างเผือกบริเวณใจกลางทางช้างเผือก โดยในช่วงปลายฤดูฝนอาจมีเมฆบริเวณขอบฟ้าอยู่บ้าง (ภาพโดย : ชนากานต์  สันติคุณาภรณ์ : Nikon D800 / 14 มม. / F2.8 / ISO 3200 / 30 วินาที)
หลังจากนี้ ในคืนของวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ก็จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือ ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ซึ่งจะสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงคืนของคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพฝนดาวตกลีโอนิดส์จะมีอย่างไรนั้น ติดตามในคอลัมน์ต่อไปได้เลยครับ




เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น