xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพทางช้างเผือก (The Milky way)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ถ่ายในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม บริเวณใจกลางทางช้างเผือก (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F4 / 30 วินาที /  ISO 3200)
ในค่ำคืนที่มืดสนิทไม่มีแสงไฟหรือแสงดวงจันทร์ เรามักจะมีโอกาสได้เห็นแถบสีขาวจางพาด ผ่าน ท้องฟ้าโดยมากจะพาดจากขอบฟ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศรบกวนแถบนี้จะจางจนหลายคนไม่ได้ให้ความสนใจหรือบางครั้งก็เข้าใจว่าเป็นเพียงเมฆบางๆ ในเวลากลางคืนเท่านั้น แต่หากสังเกตจากป่าเขาที่อยู่ห่างไกลเขตเมือง หรือยอดดอยสูงตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ ที่ไม่มีมลภาวะแถบฝ้าดังกล่าวจะปรากฏสุกสว่างโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้าเป็นภาพที่น่าประทับใจแก่ผู้สังเกต ใช่แล้วครับแถบฝ้านี้คือ “ทางช้างเผือก” นั่นเองครับ

โลกของเราอยู่ในระบบสุริยะ และระบบสุริยะก็อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกครับ ผมพยายามลำดับจากน้อยไปหาใหญ่นะครับ ในคืนเดือนมืดที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวนถ้าเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า จะเห็นเป็นแทบสีขาวพาดอยู่ ชาวกรีกจินตนาการว่าเป็นเสมือนทางน้ำนม จึงเรียกว่า "The Milky way" สำหรับคนไทยจินตนาการว่าเป็นทางเดินของช้างเผือก จึงเรียกว่า "ทางช้างเผือก"

กาแล็กซีทางช้างเผือก เป็นบริเวณที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ บริเวณของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง อุกกาบาต รวมทั้งแก๊สและฝุ่นธุลีในอวกาศกาแล็กซีเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปทรงกลมหมุนรอบตัวเองแบบทวนเข็มนาฬิกา แต่ถ้ามองด้านข้างจะเห็นคล้ายจานแบน แต่หากมองจากบนโลกจะเห็นเป็นแนวฝ้าขาว พาดจากขอบฟ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง

ทางช้างเผือกพาดผ่านกลุ่มดาวสว่างเช่น กลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (ค้างคาว) เพอร์เซอุส สารถี คนคู่ กางเขนใต้ แมงป่อง คนยิงธนู นกอินทรี และกลุ่มดาวหงส์ ท่านสามารถดูแผนที่ดาวประกอบ โดยแกนหมุนของโลกทำมุมเอียง กับระนาบของกาแล็กซีประมาณ 60 องศา และโลกก็หมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงมองเห็นทางช้างเผือกพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศทางการวางตัวบนท้องฟ้า เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา บางเวลาก็อยู่ในแนวเหนือ-ใต้ บางเวลาก็อยู่ในแนวเฉียง เป็นต้น
ภาพถ่ายทางช้างเผือกบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ถ่ายในช่วงเวลาหลังจากฝนหยุดตก ขณะนั้นทัศนวิสัยของท้องฟ้าใสเคลียร์มาก ทำให้สามารถบันทึกภาพทางช้างเผือกได้สุกสว่างมาก(ภาพโดย : ประณิตา  เสพปันคำ : Canon EOS 500D / F3.5 / 29 วินาที /  ISO 1600)
การสังเกตทางช้างเผือก
การสังเกตทางช้างเผือกควรจะสังเกตจากบริเวณที่มืดสนิทและมีมลภาวะทางอากาศน้อย เช่น พื้นที่ในชนบทหรือตามป่าเขา ในคืนเดือนมืดที่ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวน หากไม่แน่ใจว่าทางช้างเผือกอยู่ ณ ตำแหน่งใดบนท้องฟ้า ควรใช้แผนที่ดาวประกอบการสังเกต ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุดคือ ช่วงปลายเดือนเมษายน - ต้นเดือนตุลาคม เพราะสามารถเห็นทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูได้ง่าย ทางช้างเผือกบริเวณนี้สว่างและสวยงามกว่าบริเวณอื่นๆ เนื่องจากเป็นมุมมองที่เรามองเข้าไปยังศูนย์กลางทางช้างเผือก
ภาพตัวอย่างใจกลางทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู โดยการสังเกตนั้นเราจะใช้กลุ่มดาวสองกลุ่มนี้เป็นตำแหน่งอ้างอิง
ทำความเข้าใจกันก่อนครับ
สำหรับผู้ที่ต้องการจะถ่ายภาพ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดจะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน (ช่วงใกล้รุ่งสาง) ถึงเดือนมิถุนายน เพราะช่วงหลังจากนี้จะเข้าฤดูฝน ทำให้โอกาสที่ฟ้าจะเปิดมีน้อยลงแต่หากโชคดีฟ้าเปิดไม่มีเมฆ และได้มีโอกาสสังเกตหรือถ่ายภาพทางช้างเผือกในช่วงฤดูฝน (ช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม) ภาพที่เห็นจะเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด เพราะในช่วงสองเดือนนี้ทางช้างเผือกส่วนที่สว่างที่สุดจะปรากฏพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ คล้ายกับจะแบ่งท้องฟ้าออกเป็นสองส่วน

ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนอกจากเราจะสามารถเก็บภาพดวงดาวเป็นจุดละเอียดคล้ายเม็ดทรายทั่วทั้งภาพแล้ว ยังจะได้วัตถุพวกกระจุกดาวและเนบิวลาน้อยใหญ่มากมายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ
1. กล้องดิจิตอล
2. ขาตั้งกล้อง
3. สายลั่นชัตเตอร์
4. แผนที่ดาว
5. เข็มทิศ

เทคนิคและวิธีการ
ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้นมีวิธีการที่คล้ายกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไปแต่จะแตกต่างกันตรงที่ เป็นการถ่ายในเวลากลางคืนซึ่งมีแสงน้อยกว่ามากเท่านั้น เราเรียกภาพประเภทนี้ว่าภาพแนว Skyscape และแน่นอนครับหากใครที่มีกล้องดิจิตอลที่สามารถเพิ่มความไวแสงได้มากๆ ก็จะได้เปรียบครับเพราะสามารถเก็บแสงได้เร็วกว่าในเวลาอันสั้น โดยวิธีการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้นถ่ายได้ 2 วิธีครับ คือการถ่ายภาพแบบให้กล้องเคลื่อนที่ทางช้างเผือก กับ การถ่ายภาพแบบไม่เคลื่อนที่ทางช้างเผือก แต่สำหรับคอลัมน์นี้จะขออธิบายเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพแบบไม่เคลื่อนที่ทางช้างเผือก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและไม่ยุ่งยากดังนี้
ภาพแผนที่ดาวโดยจะแสดงบริเวณแนวทางช้างเผือกที่พาดผ่านกลุ่มดาวต่างเพื่อใช้ในการหาตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือก
1. การถ่ายภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกนั้นใช้วิธีเดียวกับการถ่ายภาพถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไป โดยเล็งกล้องไปยังบริเวณใจกลางทางช้างเผือก หรือกลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนูที่เป็นจุดศูนย์กลางทางช้างเผือก ซึ่งสามารถดูแผนที่ดาวประกอบได้
2. ควรเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง หรืออาจเลือกใช้เลนส์ตาปลา (Fisheye Lens) เพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้างมากขึ้นเพราะแนวทางช้างเผือกจะพาดยาวข้ามขอบฟ้า โดยมีทิศพาดจากทิศใต้ผ่านกลางท้องฟ้าขึ้นไปยังทิศเหนือ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลา
3. กล้องดิจิตอลที่เหมาะที่จะใช้ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบไม่เคลื่อนที่ตามทางช้างเผือก ควรเป็นกล้องที่สามารถปรับค่าความไวแสงได้มากๆ ตั้งแต่ 800 – 1600 หรือมากกว่านั้น และมีระบบกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise)ได้ดี หรือกล้องแบบ Full Frame นั้นเอง เพราะนอกจากจะได้ค่าความไวแสงที่สูงแล้ว ก็จะได้องศาการรับภาพมุมกว้างแบบปกติในกล้องลักษณะความแตกต่างนี้จะเห็นได้ชัดจากเลนส์มุมกว้าง ซึ่งพื้นที่ด้านกว้างที่เลนส์สามารถทำได้นั้นถูกตัดหายไปจากกล้องแบบ APS (แต่มีเท่ากับปกติในกล้องแบบ Full Frame) ทำให้ภาพที่ได้นั้นขาดพื้นที่จากทางยาวโฟกัสปกติของเลนส์ตัวนั้นๆ ไป
ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ขนาด 18 mm. เมื่อใช้กับกล้อง Full Frame แล้วก็จะได้องศาการรับภาพมุมกว้างแบบปกติ แต่ในกล้องแบบ APS-C ก็จะต้องคูณด้วย 1.5 เป็นต้น ถ้าใช้เลนส์ 17mm. ก็จะกลายเป็น 27 mm. โดยทันที
4. การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์ก่อนการถ่ายภาพเนื่องจากระยะชัดที่สุดของระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์แต่ละตัวอาจปรับอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน ให้ลองปรับระยะไกลสุดในช่วงกลางวันก่อน โดยโฟกัสไปที่ระยะไกลสุดเท่าที่จะหาสิ่งที่ใช้ปรับโฟกัสได้ แล้วดูว่าภาพชัดที่สุด ที่ตำแหน่งวงแหวนบนกระบอกเลนส์ตำแหน่งใด แล้วติดเทปเอาไว้เพื่อป้องกันโฟกัสเคลื่อน และไม่ควรใช้ระบบออโต้โฟกัสอย่างเด็ดขาด เพราะกล้องจะไม่สามารถหาโฟกัสได้ในตอนกลางคืน รวมทั้งเมื่อกล้องอยู่บนขาตั้งกล้องที่มั่นคงแล้วให้ปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย
5. เวลาในการถ่ายภาพ โดยใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องนานไม่ควรเกิน 30 วินาที เนื่องจากที่องศาการรับภาพมุมกว้าง เช่น เลนส์ขนาด 18 mm. ซึงมีองศาในการรับภาพประมาณ 100 องศา นั้นเวลา 30 วินาทีจะยังคงไม่ทำให้ดาวยืด และเป็นช่วงเวลาที่กล้องจะเปิดรับแสงได้พอสมควรทั้งยังไม่ทำให้เกิดสัญญาณรบกวนมากเกินไปด้วย
6. รูรับแสง สำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือก เนื่องทางช้างเผือกมีแสงสว่างน้อยมาก จากประสบการณ์แล้วผมจะใช้ค่ารูรับแสงของกล้องที่กว้างที่สุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงเพิ่มขึ้นเพ่อให้ได้ภาพทางช้างเผือกมาความสว่างและเห็นรายละเอียดมากยิ่งขึ้น
7. เลือกใช้ค่าความไวแสงตั้งแต่ 800 – 3200 หรืออาจมากกว่านั้น หากกล้องที่ท่านใช้มีระบบกำจัดสัญญาณรบกวน (Noise)ได้ดี เนื่องจากเราใช้เวลาในการถ่ายภาพนานภาพละไม่เกิน 30 วินาที ดังนั้นในช่วงเวลาเปิดหน้ากล้อง 30 วินาทีหากสามารถใช้ค่าความไวแสงมากๆก็จะได้ภาพทางช้างเผือกที่มีความสุกสว่างมากขึ้นเท่านั้น
8. ปรับเพิ่มค่าความอิ่มสี Saturation และความคมชัด sharpness เปิดคู่มือกล้องประกอบด้วยครับ สีของดวงดาวเมื่อเรามองด้วยตาเปล่าอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย จึงต้องปรับเพิ่มค่าความอิ่มสีเพื่อให้ภาพมีสีสันที่สวยงามมากขึ้น
9. วิธีการวัดแสงที่ดีที่สุดคือการเลือกวัดแสงแบบเฉลี่ยทั่วทั้งภาพ โดยเลือกวัดบริเวณท้องฟ้า
10. ใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการถ่ายภาพเพื่อลดความสั่นไหว หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาและตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
11. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับแก้ได้ภายหลัง
ภาพถ่ายทางช้างเผือกที่ใช้ค่าความไวแสงสูงมาก จะทำให้เกรนหรือสัญญาณรบกวน(Noise) เกิดขึ้นในภาพทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอของความสว่างและสี จนเห็นจุดสีรบกวนได้อย่างชัดเจน (ภาพโดย : กรกมล  ศรีบุญเรือง : Canon EOS 5D Mark2 / F4 / 30 วินาที /  ISO 6400)
ภาพนี้หากพิจารณาดูจะเห็นว่าท้องฟ้ามีแสงจากตัวเมืองรบกวนทำให้เห็นรายละเอียดของทางช้างเผือกได้ไม่ชัดเจน (ภาพโดย : ทวีศักดิ์  บุทธรักษา: Nikon D3S / F2.8 / 30 วินาที /  ISO 1250)
การถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ได้ภาพที่สวยงามนั้นไม่ใช้เรื่องยากเย็นจนเกินความสามารถครับ หากแต่เรารู้เทคนิควิธีการ และการเตรียมการล่วงหน้าที่ดีก็สามารถเก็บภาพทางช้างเผือก ซึ่งเป็นกาแล็กซีที่เราอาศัยอยู่อันน่าประทับใจไว้ได้อย่างน่าภูมิใจครับ
ภาพนี้ผมตั้งกล้องถ่ายภาพใช้เวลาเปิดหน้ากล้องนานกว่า 44 วินาที โดยให้เพื่อนๆยืนนิ่งๆค้างไว้และใช้ไฟฉายส่องกวาดไปมาบริเวณกลุ่มคนและต้นไม้ด้านหลังทำให้ได้ภาพบุคคลกับทางช้างเผือก (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F4.5 / 44 วินาที /  ISO 4000)
*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น