xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

แสงจักรราศี บนท้องฟ้าในทางด้านทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในภาพจะมองเห็นดาวศุกร์ด้วย (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F2.8 / 30 วินาที /  ISO 2500)
ในช่วงเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วหากใครมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวตามยอดดอยหรืออุทยานแห่งชาติต่างที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีๆ นอกจากเราจะได้ชื่นชมกับภาพบรรยากาศของช่วงดวงอาทิตย์ตกดินและช่วงแสงทไวไลท์หลังจากดวงะอาทิตย์ตกดินไปแล้ว 10 -15 นาที หากลองสังเกตดูดีๆ ทางทิศตะวันตกบริเวณขอบฟ้า เราจะสังเกตเห็นแสงเรื่องๆ พุ่งขึ้นมาเป็นรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ซึ่งบางครั้งเราอาจคิดว่าเป็นแสงไฟจากตัวเมือง แท้จริงแล้วมันคือแสงที่เราเรียกกันว่า “แสงจักรราศี” (Zodiacal Light) แต่สภาพท้องฟ้าที่จะมีโอกาสสังเกตเห็นแสงจักรราศี นั้นก็ต้องเป็นคืนที่อากาศโปร่ง ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงจันทร์ แสงจากตัวเมือง และหมอกควันด้วย ใช้แล้วครับคอลัมน์นี้เราจะมาพูดกันถึงการถ่ายภาพแสง Zodiacal Light ครับ

มาทำความรู้จักกันก่อน
แสงจักราศี (Zodiacal Light) เป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้วโดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี โดยปกติความสว่างจะน้อยกว่าทางช้างเผือก เกิดขึ้นจากอนุภาค ของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือ ฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสง จากดวงอาทิตย์ จะปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยะวิถี เราสามารถเห็น zodiacal light ได้จากท้องฟ้าที่มืดสนิทไม่มีแสงจันทร์ และมลภาวะ ทางแสงจาก ขอบฟ้ารบกวน ทางด้านทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และด้านทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ความท้าทายของการถ่ายภาพ Zodiacal Light นั้นจะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 30 นาทีโดยประมาณเท่านั้น ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมกันให้ดี ไม่เช่นนั้นมีหวังต้องรอถ่ายวันต่อไป เรามาเตรียมความพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ และเทคนิควิธีการกันครับ

อุปกรณ์

1.ขาตั้งกล้อง: เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแสงน้อย ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาพชัดและคุณภาพของภาพดีที่สุด แต่สำหรับใครที่ไม่มีขาตั้งกล้องลองหาถุงทราบ หรือถุงถั่วแทนก็ได้โดยใช้หนุนใต้กล้อง เพื่อปรับองศาให้ได้ตามต้องการ

2.เลนส์มุมกว้าง: เพราะเป็นการถ่ายภาพท้องฟ้าบริเวณกว้าง ดังนั้นการจะเก็บภาพ Zodiacal Light ซึ่งเป็นลำแสงค่อนข้างใหญ่ เราจึงควรเลือกช่วงเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเริ่มตั้งแต่ 8-35 มม. ส่วนจะเลือกใช้ช่วงเลนส์มุมกว้างแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเราเองว่าต้องการเก็บองค์ประกอบภาพอื่นๆมากน้อยแค่ไหน หรืออาจเลือกใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษหรือเลนส์ตาปลา (Fisheye lens) มีความยาวโฟกัสน้อยมาก ซึ่งอยู่ระหว่าง 6-16 มม. มีมุมองศาในการรับภาพ 180-360 องศา ภาพที่ได้จะมีลักษณะโค้งกลม นิยมใช้สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะสร้างสรรค์ และแปลกตา

3.สายลั่นชัตเตอร์: เป็นอุปกรณ์เสริมที่ควรจะมีเพื่อให้ภาพไม่สั่นไหว หรือหากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็อาจเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาก็ได้ ที่กล้องทุกตัวมีอยู่แล้ว

4.ไฟฉาย: อย่าลืมไฟฉายเมื่อต้องไปถ่ายในที่ที่มืดมากๆ เอาไว้ส่องการปรับตั้งค่ากล้อง เพื่อความปลอดภัยครับ

เทคนิคและวิธีการ

นอกจากการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคงแล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำคือ การตั้งค่าต่างในกล้องถ่ายภาพของเราเสียก่อนเอาหล่ะครับมาดูกันว่าเราต้องต้องค่าอะไรกันบ้าง

1. เริ่มตั้งแต่การตั้งค่าคุณภาพการบันทึกภาพ หากกล้องของเราสามารถตั้งไฟล์ภาพแบบ Raw File ได้ ควรตั้งเป็นแบบ Raw File เพื่อสามารถนำภาพมาปรับเปลี่ยนอุณภูมิสีให้ตรงตามต้องการได้ภายหลัง

2. เวลาในการเปิดหน้ากล้องหรือความเร็วชัตเตอร์ สำหรับการถ่ายภาพโดยปกติแล้วหากเราใช้เลนส์มุมกว้างตั้งแต่ช่วง 24-28 มม. (กล้องฟูลเฟรม) หรือ 17-18 มม. (กล้องตัวคูณ) เวลาที่สามารถถ่ายได้โดยไม่ทำให้ดาวยืดมานัก สามารถถ่ายได้นานกว่า 30 วินาที หรือหากเลือกใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษหรือเลนส์ตาปลา (Fisheye lens) ก็สามารถเปิดหน้ากล้องได้นานกว่า 30 – 60 วินาที

3. ความไวแสง (ISO) หากพูดตามหลักการถ่ายภาพเราก็ควรตั้งค่าความไวแสงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่มีสัญญาณรบกวน (noise) แต่ในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพ Zodiacal Light ในช่วงเวลากลางคืน เมื่อตั้งความไวแสงต่ำ เวลาในการบันทึกภาพก็จะนานยิ่งขึ้นทำให้ดาวยืดเป็นเส้น (เนื่องจากดวงดาวมีการเคลื่อนที่โดยประมาณ 1 ชั่วโมง ดาวเคลื่อนที่ไป 15 องศา) ดังนั้นเราจงควรเลือกใช้ค่าความไวแสงสูงๆ เพื่อให้กล้องเก็บแสง Zodiacal Light ในเวลาเมื่อเกิน 60 วินาที เพื่อไม่ให้ดาวที่อยู่ในภาพยืดเป็นเส้น

4. ควรเลือกขนาดรูรับแสงที่กว้างที่สุด เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุด

5. เลือกใช้ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Center-weight) เพราะเป็นระบบวัดแสงที่ให้น้ำหนักกับบริเวณจุดกลางภาพมากที่สุด จากนั้นจึงนำปริมาณแสงจากพื้นที่โดยรอบในสัดส่วนที่รองลงไปมาร่วมคำนวณหาค่าการเปิดรับแสงที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะกับการถ่ายภาพที่มีตัวแบบหลักอยู่บริเวณกลางภาพโดยต้องการสภาพแวดล้อมแวดล้อมเอาไว้ด้วย แต่มีสภาพแสงที่ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไปนัก

6. เปิดการใช้งานระบบ Noise Reduction หากเปิดรับแสงนานๆ เพื่อช่วยให้ภาพมี Noise น้อยลงแต่ต้องไม่ลืมว่าการประมวลผลก็จะนานเท่ากับเวลาที่เราถ่ายภาพ

7. ปรับตั้งค่าความเปรียบต่างของกล้อง โดยตั้งค่าพารามิเตอร์ความเปรียบต่างให้สูงๆ เพื่อให้ได้ภาพที่แสดงให้เห็นถึงส่วนมืดของท้องฟ้าและความสว่างของแสง Zodiacal Light ให้ชัดเจนมากที่สุด
แสงจักรราศี เหนือยอดเขาในทางด้านทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า
หลังจากตั้งค่ากล้อง แล้วลองถ่าย ปัญหาที่ตามมา คือทำไมถ่ายภาพไม่ชัดทั้งที่ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องแล้วก็ตาม นั่นก็เพราะกล้องไม่สามารถโฟกัสภาพปที่ระยะอินฟินิตี้ เนื่องมาจากแสงน้อย วิธีการแก้ปัญหาก็คือ

การปรับระยะโฟกัสของเลนส์ควรศึกษาระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์ก่อนการถ่ายภาพเนื่องจากระยะชัดที่สุดของระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) ของเลนส์แต่ละตัวอาจปรับอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน ให้ลองปรับระยะไกลสุดในช่วงกลางวันก่อน โดยโฟกัสไปที่ระยะไกลสุดเท่าที่จะหาสิ่งที่ใช้ปรับโฟกัสได้ แล้วดูว่าภาพชัดที่สุด ที่ตำแหน่งวงแหวนบนกระบอกเลนส์ตำแหน่งใด แล้วติดเทปเอาไว้ เนื่องจากในเวลากลางคืนที่แสงน้อยกล้องจะใช้ระบบออโต้โฟกัสได้ยากหรืออาจหาโฟกัสไม่ได้เลย เพียงเท่านี้เราก็พร้อมที่จะถ่ายภาพแสง Zodiacal Light กันแล้วครับ

ภาพเปรียบเทียบแสดงตำแหน่งแสงจักราศี (Zodiacal Light) ของทิศตะวันตกโดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 5D Mark2 / F2.8 / 30 วินาที /  ISO 2500)
ภาพเปรียบเทียบแสงจักราศี (Zodiacal Light) ทางทิศตะวันตก (บน) กับแสงจากตัวเมือง (ล่าง) ที่ถ่ายด้วยกล้องแบบเดียวกันและตั้งค่าเหมือนกัน จากภาพแสดงให้เห็นว่าแสงจักราศีจะมีลักษณะเป็นโครงรูปสามเหลี่ยมอย่างชัดเจน


*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น