xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักเขาให้มากขึ้น “พลเดช อนันชัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเดช อนันชัย วัยรุ่นที่มีดีในหลายด้าน (ภาพถ่ายในชุดเสื้อเชิ้ตขาวระหว่างทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวภายในค่ายวิทยาศาสตร์เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค)
คุณคิดว่าวัยรุ่นคนหนึ่งจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นๆ ได้แค่ไหน สำหรับ “พลเดช อนันชัย” หนุ่มน้อยจากเชียงรายอาจไม่ใช่ผู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นวัยรุ่นพันล้าน แต่ความสามารถและประสบการณ์ในวันนี้ของเขาจะเป็นฐานหนุนให้เขาเติบเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าในอนาคต ซึ่งประเทศชาติจะได้พึ่งพิงเขาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะอย่างน้อยเป้าหมายของเขาคือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์

บนเวทีการคัดเลือกเยาวชนเพื่อรับตำแหน่งยุวทูตดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา พลเดช อนันชัย นักเรียนชั้น ม.5 จาก โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เชียงราย อาศัยไหวพริบในการแก้ปัญหาและทักษะในการถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ โดยอาศัยเพียงเลเซอร์ชี้ดาว (Laser Pointer) ขนาดกะทัดรัด มาประยุกต์ทำอุปกรณ์เป็น “เลเซอร์สตาร์” (Laser Star) สำหรับสร้างกลุ่มดาวจำลอง จนสามารถคว้าตำแหน่งดังกล่าวมาครอง

พลเดชตัดสินใจสมัครเข้ารับคัดเลือกเป็นยุวทูตดาราศาสตร์หลังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจากนัคเรศ อินทนะ ยุวทูตดาราศาสตร์คนแรก ประจำปี 2553 ซึ่งเป็นเพื่อนในโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) และเพื่อนร่วมค่ายอบรมดาราศาสตร์โอลิมปิก และส่วนตัวเขามองว่ามีคุณสมบัติที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ เพราะมีความชอบดาราศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีทักษะในเชิงช่างและวิศวกรรม รวมถึงมีทักษะในการสื่อสาร

ศึกษาดาวเข้าใจ “อนิจจัง-อนัตตา”

ไม่ใช่แค่สนใจแต่พลเดชยังทำวิจัยทางด้านดาราศาสตร์จากการเข้าร่วมโครงการลีซาตั้งแต่ ม.2 โดยงานวิจัยที่ทำคือการศึกษาดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งเขาแอบคาดหวังอยู่ลึกๆ ว่าจะได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่สักดวง และจะได้ใช้ชื่อตัวเองตั้งชื่อให้ดาวเคราะห์น้อย ทั้งนี้ เขาต้องค้นหาดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อยกว่า 300,000-400,000 ดวง ซึ่งบันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์รอทซี (ROTSE) ที่ติดตั้งอยู่ทั่วโลก 4 แห่งใน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นามิเบียและตุรกี

“นำภาพถ่ายเป็นชุดมาวิเคราะห์ เอามาสลับดู ดาวฤกษ์จะอยู่นิ่ง แต่ดาวเคราะห์จะเคลื่อนที่ เราก็บันทึกพิกัด ดูวิถีการเคลื่อนที่ เปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งการทำงานตรงนี้ทางนาซา (องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ) มีโครงการพัฒนาโปรแกรมที่สามารถระบุดาวเคราะห์น้อยได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำเร็วกว่านำภาพมาเปรียบเทียบเอง” พลเดชกล่าว พร้อมเล่าเรื่องน่าตื่นเต้นว่ารุ่นพี่ในโครงการลีซาพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงเดียวกันนั้นมีคนพบก่อนหน้าแค่ 1 ปี

อีกงานวิจัยคือการเก็บสเปกตรัมของดาวลูกไก่ ซึ่งเขาเลือกศึกษากลุ่มดาวลูกไก่เพราะคนทั่วไปรู้จักกันดี ทำให้คนที่อ่านงานวิจัยนี้รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว อีกทั้งยังเป็นกระจุกดาวเกิดใหม่ ทั้งนี้ สเปกตรัมจะบอกถึงอายุของดาว ธาตุที่เป็นองค์ประกอบและข้อมูลอื่นๆ โดยข้อมูลสเปกตรัมนั้นได้จากกล้องโทรทรรศน์ในต่างประเทศที่ทางโครงการลีซาติดต่อให้ และกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวได้ติดตั้งชุดสเปกโตรมิเตอร์สำหรับบันทึกสเปกตรัมของดาวที่ให้ข้อมูลออกมาเป็นแถบสีและกราฟ และนักดาราศาสตร์จะข้อมูลเดียวกันนี้ไปวิเคราะห์ต่อ

“สำหรับดาวลูกไก่นั้นเป็นกลุ่มดาวเกิดใหม่ อยู่กันเป็นกระจุกดาว และมีสเปกตรัมต่างจากดวงอาทิตย์ของเรา สำหรับดวงอาทิตย์นั้นปล่อยแสงเกือบทุกย่าน แต่ที่เข้มสุดคือ “แสงที่ตามองเห็น” (visible light) ทำให้เราวิวัฒนาการมีตาที่รับแสงในย่านนี้ได้ดีที่สุด แต่สำหรับดาวใหม่ๆ จะปล่อยแสงที่เข้มที่สุด เป็นพวกที่มีพลังงานสูงกว่า เช่น รังสียูวี ดังนั้นถ้ามีมนุษย์ต่างดาวในระบบสุริยะของดาวใหม่ๆ เหล่านั้น ก็อาจมีตาที่มองเห็นยูวีได้ดี อันที่จริงผึ้งเป็นสัตว์ที่เห็นยูวีได้ดีนะครับ ถ้าพวกงูก็จะเห็นอินฟราเรดหรือความร้อนได้ดี แต่สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกที่หากินกลางวัน ใช้แสงอาทิตย์มองก็จะเห็นแสงในความยาวคลื่นย่าน 400-700 นาโนเมตรดีที่สุดครับ” พลเดชอธิบาย

นอกจากนี้พลเดชยังมีงานวิจัยอีกชิ้นเกี่ยวกับการศึกษากาแลกซีที่ยังไม่สงบ ซึ่งในใจกลางกาแลกซีนั้นมีหลุมดำอยู่ แต่เขาต้องหยุดงานวิจัยเรื่องนี้ไปก่อน และคิดไว้ว่าอาจจะกลับไปทำงานวิจัยนี้ต่อให้เสร็จ ทั้งนี้ เขามองว่าดาราศาสตร์ให้อะไรหลายอย่างแก่เรา แต่หลักๆ มี 2 เรื่อง คือ 1.ให้วิทยาศาสตร์หรือความรู้ และ 2.ให้สุนทรียภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านศิลป์ พร้อมทั้งบอกความสำคัญของดาราศาสตร์ว่า เราไม่สามารถหาห้องทดลองที่ทำอุณหภูมิสูงถึง 10 ล้านเคลวินหรือมากกว่านี้ได้ แต่ข้างนอกในอวกาศนั้นมีให้ และดาราศาสตร์ยังทำให้เราก้าวหน้าในทางฟิสิกส์ และฟิสิกส์ก็ทำให้สาขาอื่นๆ ก้าวหน้า

“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawkng) ก็ยังถูกรวมเป็นนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ส่วนทางด้านศิลป์ก็คือความน่าหลงใหล ความสวยงาม ความสงบ ความยิ่งใหญ่ของจักรวาลทำให้เรา มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งตระหนักได้ว่าเราเล็กแค่ไหน ไม่มีตัวตนแค่ไหน เราจะได้ไม่ต้องยึดติด ยึดมั่น ถือมั่น จะได้ตระหนักได้ว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน เป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้วดับไป” ยุวทูตดาราศาสตร์กล่าว

เป็นเลิศในการสื่อสาร

สำหรับทักษะทางในด้านการสื่อสารของพลเดชถือว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก เพราะความสามารถนี้เองทำให้เขาซึ่งเป็นนักเรียนในโครงการโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (เจเอสทีพี) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วยนั้น ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวเยาวชนภายในค่ายวิทยาศาสตร์เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 (4th APEC Youth Science Festival: AYSF) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี

ในค่ายดังกล่าวพลเดชมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.ฮันส์ ฮิลเกนแคมป์ (Prof. Dr. Hans Hilgenkamp) นักฟิสิกส์จากสถาบันนาโนเทคโนโลยีเมสา (MESA,and Institute for Nanotechnology) มหาวิทยาลัยทเวนท์ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์ซึ่งได้มอบของขวัญแก่ประเทศไทยเป็น “แผ่นที่ประเทศไทยบนเส้นผม” ซึ่งเขาได้ใช้เทคนิคเทคโนโลยีโฟกัส ไอออน บีม (Focused Ion Beam) วาดแผนที่ประเทศไทยและช้างลงบนเส้นผมของลูกสาว และนักวิทยาศาสตร์ดัตช์ผู้นี้ยังเดินทางมาบรรยายพิเศษเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนจากเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 500 คน จาก 16 ประเทศที่มาเข้าค่ายในเมืองไทยด้วย

วิจัยรักษ์สิ่งแวดล้อม-พลังงาน

นอกจากตำแหน่งยุวทูตดาราศาสตร์แล้วพลเดชยังเคยเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ปี 2553 (Bayer Young Environment Envoy 2010: BYEE) ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มบริษัทไบเออร์ และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Programme: UNEP) ซึ่งเขามีโอกาสได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เยอรมนีพร้อมกับเพื่อนๆ ที่เป็นตัวแทนอีก 5 คน ซึ่งเขาได้รับประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตในหลายๆ เรื่อง

“หลังได้รับตำแหน่งยุวทูตดาราศาสตร์แล้วคิดว่าชีวิตคงไม่เปลี่ยนมากนัก เพราะนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเป็นทูต หรือตัวแทนประเทศไทย หรือได้ออกสื่อ ช่วงเวลาในการปรับตัวอันยากลำบากให้เข้ากับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ได้เคยผ่านเข้ามาในชีวิตผม 2-3 ครั้งแล้ว ครั้งแรกที่มีโอกาสได้เป็นตัวแทนประเทศคือเป็นทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคัดเลือกจากการนำเสนอโครงการสิ่งแวดล้อม ได้อะไรกลับมาเยอะแยะเลยครับ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ต่างประเทศด้วย เป็นครั้งแรกที่ได้เป็นตัวแทนประเทศ เป็นครั้งแรกที่ได้ขึ้นเครื่องบิน เป็นครั้งแรกของชีวิตในหลายๆ อย่าง” พลเดชกล่าว

หากแต่สิ่งสำคัญที่เขาได้รับจากการเป็นยุวทูตสิ่งแวดล้อมคือ การได้เห็นวิทยาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีมากของเยอรมัน เขามีโอกาสได้เยี่ยมชมโรงงานบำบัดน้ำชีวภาพ อีกทั้งยังได้รับประสบการณ์ตรงในการเก็บตัวอย่างตะกอนจากแม่น้ำไรน์ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของยุโรปไปเข้าห้องปฏิบัติการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับระหว่างตัวแทนทูตสิ่งแวดล้อมประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังได้ฟังบรรยายจากวิทยากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ซึ่งเขาประทับใจการบรรยายของผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมากที่สุด เพราะพูดให้กำลังใจในการทำงานเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดีมาก

งานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เขาทำแล้วนั่นคือ การพัฒนาวัสดุที่สามารถเปลี่ยนความร้อนให้เป็นไฟฟ้าระหว่างเข้าร่วมโครงการเจเอสทีพี ซึ่งตามทฤษฎีเราสามารถเปลี่ยนความร้อนส่วนเกินจากระบบต่างมาเป็นไฟฟ้าได้ถึง 90% ตัวอย่างความร้อนส่วนเกิน เช่น รถยนต์ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากรถยนต์แค่ 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% กลายเป็นความร้อนส่วนเกิน เป็นต้น แต่โครงงานดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์และยังอยู่ในช่วงวิจัยต่อเนื่อง

ถึงอย่างนั้นการทำโครงงานดังกล่าวก็ทำให้เขาได้รับคัดเลือกให้รับทุนระยะยาวของเจเอสทีพีถึงปริญญาเอก และเขาได้เลือกเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนงานทางด้านดาราศาสตร์จะดำเนินควบคู่ไปในลักษณะงานอดิเรกที่เขารัก

การเรียนรู้เพื่อค้นหาตัวเองของหนุ่มน้อยจากเชียงรายเริ่มต้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล็กๆ เขาไม่ได้สนใจแค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังสนใจศาสตร์ทางด้านอื่นๆ ทั้งปรัชญา ภาษา ดนตรีและสังคมศาสตร์ แต่เมื่อถามตัวเองแล้วเขาได้ข้อสรุปว่าชอบวิทยาศาสตร์มากที่สุด และในวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เขาพบว่าตัวเองชอบฟิสิกส์และเคมีเป็นพิเศษ หากแต่เขาก็ยังไม่ทิ้งศาสตร์ทางด้านอื่นๆ และยังพยายามเรียนรู้เสมอ “เพื่อให้ตัวเองเป็นคนที่สมบูรณ์มากขึ้น” นั่นเอง
รับตำแหน่ง “ยุวทูตดาราศาสตร์” ปี 2
ทดลองเคลือบสารนาโนลงบนผ้าเพื่อไม่ให้เปียกน้ำภายในค่ายทูตไบเออร์สิ่งแวดล้อม
เลเซอร์สตาร์ (ซ้าย) ฉายภาพกลุ่มดาวจำลอง (กลาง) กลุ่มดาวนายพรานจากเลเซอร์สตาร์ (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น