โอ้โห! โอ้โห! ... เสียงร้องแสดงอาการตื่นตาตื่นใจเป็นระยะๆ ของเด็กนักเรียนที่เข้าไปสัมผัสท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นบนเกาะกลางทะเลสาบในสระบุรี และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์อีกแห่งของคนไทย ที่มาพร้อมระบบฉายดาวดิจิทัลแบบฟูลโดม
“ผมชอบยานอวกาศครับ อยากขึ้นไป ชอบดวงจันทร์ด้วย เดี๋ยวจะให้แม่พามาดูอีก” ด.ช.พงศธร ชุมศิริ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนเกตุพิชัยวิทยา บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ หลังรับชมตัวอย่างภาพยนตร์จากท้องฟ้าจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบบ้านหม้อ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เด็กชายยังบอกอีกว่าเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นท้องฟ้าจำลอง และยังได้เห็นทางช้างเผือกที่ไม่เคยเห็นอีกด้วย
ส่วนนักเรียนหญิงอีก 2 คน คือ ด.ญ.ชลธิชา ชิงชัย นักเรียนชั้น ป.5 และ ด.ญ.ทักษพร วงษ์สง่า นักเรียนชั้น ป.6 จากโรงเรียนเกตุพิชัยที่มีโอกาสได้สัมผัสท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่นี้ก่อนใครๆ ต่างประทับใจประสบการณ์ที่ได้รับ โดยชลธิชาเผยต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่าชอบกลุ่มดาวที่ได้รับชมมากที่สุด เพราะสวยดี และยังมีภาพยนตร์ที่ดูแล้วตื่นเต้น ซึ่งทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับชื่อกลุ่มดาวต่างๆ พร้อมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่อยู่ในภาพยนตร์
“คิดว่าหนังให้ความรู้ความบันเทิงมากเลยคะ ให้ความรู้ว่าดาวมีกี่ชนิด มีดาวอะไรบ้าง และยังได้รู้จักรราศีต่างๆ การโคจรของราศี หนูชอบเรื่องของราศีและเรื่องตำแหน่งของดวงดาวที่สุด เพราะทำให้เราได้รู้ว่าตำแหน่งของแต่ละราศีอยู่ตรงไหน” ด.ญ.ทักษพรเผยหลังได้รับชมภาพยนตร์จากท้องฟ้าจำลองแล้ว
ท้องฟ้าจำลองดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ดาราศาสตร์ที่ดูแลโดยกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ซึ่งเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 23 ส.ค.54 และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ มีโอกาสได้ไปเยือนแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์แห่งใหม่นี้ด้วย
ท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่นี้จัดฉายดาวด้วยระบบดิจิทัลได้แบบเต็มโดมหรือฟูลโดม (Full Dome) โดยฉายดาวผ่านเครื่องโปรเจกเตอร์ที่ติดเลนส์พิเศษ 6 ชุด ลงบนโดมครึ่งวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ที่จำลองเป็นผืนฟ้า และยังแสดงภาพดาวที่ปรากฏบนท้องฟ้าในแต่ละพื้นที่ของไทยหรือของโลกได้ตามเวลาจริง (Real Time) และรองรับผู้เข้าชมได้รอบละ 50 คน
สำหรับภาพยนตร์ซึ่งจัดฉายในท้องฟ้าจำลองแห่งนี้มี 2 เรื่อง คือ เรื่อง “เมืองมายา” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดปฏิทินซึ่งเกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าของชาวมายา และเรื่อง “กำเนิดชีวิต” ซึ่งเล่าเรื่องราวกำหนดสิ่งมีชีวิตตั้งแต่กำเนิดจักรวาลขึ้นมา โดยมีราคาเรื่องละ 2.7 ล้านบาท
นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการหอดูดาวเกิดแก้ว ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าชมท้องฟ้าจำลอง ที่ทะเลสาบบ้านหมอแห่งนี้ กล่าวว่าแนวโน้มของท้องฟ้าจำลองยุคใหม่จะใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากใช้งานได้เอนกประสงค์ โดยนอกจากฉายภาพกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้าแล้ว ยังจัดฉายภาพยนตร์ให้ความรู้ดาราศาสตร์ อีกทั้งยังมีลูกเล่นในการนำเสนอกลุ่มดาวต่างๆ ได้มากกว่าระบบฉายดาวแบบเดิมที่ทำงานคล้ายกระบอกไฟฉายติดเลนส์
สำหรับระบบฉายดาวแบบดิจิทัลนั้น นอกจากแสดงกลุ่มดาวต่างๆ แล้ว ยังแสดงเส้นลากระหว่างกลุ่มดาว รวมทั้งฉายภาพสัญลักษณ์ของกลุ่มดาวนั้นๆ ลงไปได้พร้อมกันหลายภาพ หรือนำเสนอภาพดาวเคราะห์ในระบบสุริยะได้ละเอียดเหมือนส่องกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง และสามารถย่อหรือขยายภาพดาวเคราะห์ต่างๆ รวมทั้งจันทร์บริวารได้ ซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า
อย่างไรก็ดี นอ.ฐากูรกล่าวว่า เมื่อเทียบความคมชัดแล้วระบบฉายดาวผ่านเลนส์นั้นให้ภาพที่คมชัดกว่า และหากจะใช้ประโยชน์จากระบบฉายดาวดิจิทัลให้คุ้มค่านั้นต้องซื้อภาพยนตร์ดาราศาสตร์ที่มีราคาแพงมาฉายหลายๆ เรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้เข้าชมท้องฟ้าจำลองรู้สึกเบื่อกับการชมภาพยนตร์ซ้ำๆ
“ถ้าใช้สอนดาวอย่างเดียวแบบเดิมดีกว่า แต่ก็ราคาแพงเพราะต้องใช้เลนส์หลายตัว แต่ถ้าจะใช้งานเอนกประสงค์และให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม แบบดิจิทัลดีกว่า เพราะเข้าถึงได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังราคาถูกกว่า ถ้าใช้เงินหลายสิบล้านซื้อระบบเดิมจะได้แค่เครื่องฉายดาว แต่ถ้าใช้เงินในราคาเท่ากันซื้อระบบดิจิทัลจะได้ทั้งเครื่องฉายดาวและอาคารท้องฟ้าจำลองด้วย” นอ.ฐากูรเปรียบเทียบ
ทางด้าน นายเฉลิม วงษ์ไพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ถึงเหตุผลที่สนับสนุนให้สร้างท้องฟ้าจำลองขึ้นที่กลางทะเลสาบบ้านหมอว่า เขาได้แนวคิดจากการไปเยี่ยมท้องฟ้าจำลอง ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต เมื่อปี 2552 อีกทั้งนักเรียนและผู้ปกครองในจังหวัดอยากให้สร้าง จึงได้ระดมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาร่วมประชุมและหารือเพื่อสร้างท้องฟ้าจำลองแห่งนี้ขึ้น
“ตั้งใจจะให้พื้นที่กว่า 10 ไร่ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเลือกสร้างหอดูดาวกลางทะเลสาบเพราะเป็นทำเลเหมาะ ดิน น้ำ และอากาศดี” นายก อบจ.สระบุรีกล่าว และบอกด้วยว่าประชาชนสามารถเข้าใช้บริการหอดูดาวและเยี่ยมชมศูนย์ดาราศาสตร์แห่งนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ส่วนเหตุผลที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตั้งศูนย์ดาราศาสตร์แห่งนี้ขึ้นมานั้น นายสุเทพ ศรีสรวล ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อธิบายเพิ่มเติมว่า ทะเลสาบบ้านหมอนั้นเกิดจากในอดีตมีการขุดเอาดินขาวไปเป็นส่วนผสมของปูนซีเมนส์จนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,600 ไร่ เป็นผืนดินเพียง 400 ไร่
“พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้าม แต่ยังพบการบุกรุกมาเรื่อยๆ ทางจังหวัดจึงมอบหมายให้ทาง อบจ.เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว เริ่มแรกเราอยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็พยายามโปรโมทเป็นทะเลบ้านหมอ แต่คนไม่นิยม เพราะน้ำลึก จึงกลับมาคิดกันใหม่ว่าจะให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเลือกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพบอกอีกว่า ขณะนี้ห้องฉายดาวของท้องฟ้าจำลองและศูนย์ดาราศาสตร์ที่ลงทุนไปประมาณ 40 ล้านบาทนั้นรองรับคนเยี่ยมชมได้เพียงครั้งละ 50 คน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงพื้นที่โดยรอบเพื่อให้รองรับคนได้มากขึ้น โดยกำลังก่อสร้างอาคารนิทรรศการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งแสดงนิทรรศการ 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นลูกโลกจำลองที่ใช้ระบบฉายภาพแสดงทวีปและประเทศต่างๆ ทั่วโลก อีกส่วนคือภาพยนตร์ 4 มิติ และส่วนสุดท้ายคือน้ำพุที่ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ศูนย์ดาราศาสตร์แห่งนี้ยังมีกล้องโทรทรรศน์สำหรับศึกษาดวงดาวอีก 4 ตัว โดยกล้องดังกล่าวมีระบบติดตามดาวบนท้องฟ้า สามารถค้นหาดาวได้โดยอัตโนมัติ มีฐานข้อมูลดวงดาวและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะกว่า 40,000 ดวง ซึ่งนายชลเทพกล่าวว่า กองการศึกษาซื้อกล้องดังกล่าวมาใช้งานได้ 2 ปีแล้ว โดยมีความร่วมมือกับอาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบที่เป็นวิทยากรอบรมความรู้ในกิจกรรมศึกษาฝนดาวตกเจมินิดส์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ธ.ค.
นอกจากนี้บริเวณศูนย์ดาราศาสตร์ยังติดตั้งกำหันลมและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อเปิดไฟให้แสงสว่างในยามค่ำคืน โดยผู้อำนวยการกองการศึกษา อบจ.สระบุรีกล่าวว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภทจะเป็นตัวอย่างของแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนด้วย
***
ท้องฟ้าจำลอง ทะเลสาบบ้านหมอ เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดให้บริการในวันจันทร์) มีรอบฉายท้องฟ้าจำลองวันละ 4 รอบ คือ 09.00 น. ,10.30 น., 13.00 น. และ 14.30 น. ผู้สนใจเข้าชมท้องฟ้าจำลองเป็นหมู่คณะสอบถามรายละเอียดและติดต่อล่วงหน้า โทร. 0-3620-2721, 0-3620-2722 โทรสาร.0-3620-2722