xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องค้นฟ้า...ควานหาลีดเดอร์แห่งการถ่ายทอดดาราศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำแห่งนาริทพบผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ก่อนร่วมกิจกรรม ASEAN+3 Youth Leaders for Climate Change Study (FB: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page)
หากมองเผินๆ อาจเข้าใจว่านี่คือการประกวดเพื่อหาดาวประดับวงการบันเทิง แต่ความจริงการค้นหา “ผู้นำแห่งนาริท” ที่ทางสถาบันดาราศาสตร์จัดขึ้นเพื่อคัดเลือกเยาวชนที่มีความเป็นผู้นำเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสถาบัน รวมทั้งเป็นตัวแทนเข้าสู่กระบวนการเฟ้นหา “ยุวทูตดาราศาสตร์” รุ่นที่ 3

เป็นปีแรกของสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หรือนาริท (NARIT: Astronomical Research Institute of Thailand) ที่จัดการประกวดเฟ้น “ผู้นำแห่งนาริท” (NARIT Youth Leaders: NYL) เพื่อเฟ้นหาเยาวชนในระดับอุดมศึกษาที่อายุไม่เกิน 24 ปี ที่มีภาวะผู้นำ มีบุคลิกดีและมีทักษะในการสื่อสารต่อหน้าสาธารณชน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ลึกซึ้งในการเชิงวิชาการ หรือเรียนสายวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทางสถาบันจะจัดอบรมบ่มเพาะความรู้ให้ในภายหลัง

กระบวนการคัดเลือกเริ่มต้นที่แหวกแนวด้วยการให้ผู้สมัคร “ขอเป็นเพื่อน” (add friend) ทางโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊กกับ “น้องเอิร์ธ” (Nong Earth) คาแรคเตอร์เพื่อการประชาสัมพันธ์ของ สดร.แล้วคัดเลือกผู้เข้ารอบมาแข่งขันแสดงความสามารถพิเศษ และตัดสินผู้ได้รับเลือกเป็นผู้นำแห่งนาริททั้งหมด 8 คน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องแข่งขันกันอีกครั้งในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติที่จะจัดขึ้นช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในเดือน ส.ค.เพื่อรับเลือกเป็น “ยุวทูตดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย รุ่นที่ 3”   

กระบวนการคัดเลือกให้ได้ผู้นำแห่งนาริททั้ง 8 คน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ จามจุรีสแควร์ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนั้นด้วย ซึ่งผลคัดเลือกได้แก่ น.ส.ณัฏฐเนตร ชูเวทย์ (ป็อป) นายณัฐนัย โล้พิรุณ (นัท) นายนวีน ปิติพรวิวัฒน์ (นิว) นายทินกฤต กลิ่นหวล (บอมบ์) น.ส.พิชญา พิทักษ์สุธีพงศ์ (พีช) น.ส.รัฐวรรณ กิจรังษีวิบูลย์ (แพท) น.ส.ฤดีมาศ เที่ยงทัศน์ (ออย) และ นักเรียนนายเรืออากาศอิมพัลส์ อัสโย (ดิว)






ทั้ง 8 คนเพิ่งผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมในการประชุม ASEAN+3 Youth Leaders for Climate Change Study ณ จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกที่พวกเขาต้องเข้าร่วม อาทิ เป็นพิธีกรดำเนินรายการโทรทัศน์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทางช่องMOST SAT ซึ่งเป็นเคเบิลทีวีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือนำเสนอความรู้ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงสัปดาห์วิทยาศาสตร์ เดือน ส.ค. เป็นต้น

น.ส.พิชญา พิทักษ์สุธีพงศ์ หรือ พีช นิสิตชั้นปีที่2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้นำแห่งนาริท กล่าวว่าชอบเรื่องของดาราศาสตร์เป็นพิเศษ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองว่าดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ดาราศาสตร์นั้นเป็นจุดกำเนิดของหลายศาสตร์และอีกหลายเทคโนโลยี ทั้งนี้เชื่อว่าเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ของไทยถือว่าไม่เป็นรองใคร ขาดเพียงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ซึ่งเธอมีประสบการณ์ทางด้านการพูดอยู่บ้าง หากได้นำความสามารถที่มีอยู่มาช่วยเผยแพร่ข้อมูลด้านดาราศาสตร์แล้ว อาจทำให้คนเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มากขึ้น

"เหตุผลที่ผมสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากจะรู้สึกสนใจเรื่องดาราศาสตร์อยู่แล้ว ยังติดใจในคุณสมบัติของการสมัครที่บอกว่า ต้องการนักสื่อสารในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนครับ เพราะด้วยความที่ผมสนใจในเรื่องของกิจการเพื่อสังคมอยู่พอสมควรผมจึงคิดว่า นอกจากที่จะได้รับโอกาสมากมายที่โครงการนี้มอบให้แล้ว ยังสามารถได้ตอบแทนสังคมอีกด้วย" นาย กิตติธัชช์ คำเปลว หรือ ตูน บัณฑิตป้ายแดงจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็น แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับคัดเลือกก็ตาม

ด้าน นายอนุวัฒน์ บุญค้ำ หรือ โจม นิสิตชั้นปีที่2 จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมประกวดเวทีนี้ด้วย บอกว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยเข้าค่ายฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศญี่ปุ่น จึงสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์กับดาราศาสตร์มากพอสมควร ซึ่งในวงการดาราศาสตร์นั้นยังต้องการผู้ถ่ายทอดให้เข้าใจง่าย เขาจึงอยากนำความรู้ในด้านดาราศาสตร์ที่มีมาถ่ายทอด

ส่วน นนอ.ชินรัตน์ มารุ่งเรือง หรือ โอ๊ต นักเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศที่สมัครคัดเลือกและได้เป็นหนึ่งในผู้นำแห่งนาริท กล่าวว่า สมัครเข้าร่วมโครงการเนื่องจากหน้าที่ของทหารอากาศนั้นต้องมีความสัมพันธ์กับท้องฟ้าและอวกาศตลอดเวลา โดยส่วนมากแล้วในกองทัพอากาศนั้น หากอยู่ที่ความสูงเกินกว่า6หมื่นฟุตก็มีความเข้าใจในอวกาศที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งโครงการอวกาศของประเทศอื่นๆ นั้นคอนข้างล้ำหน้ากว่าไทยอยู่มาก การศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์จึงสามารถช่วยเพิ่มพูนทักษะด้านวิชาชีพของเขาได้มาก หากเขามีความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งนี้ก็เต็มใจอย่างยิ่งที่จะรับหน้าที่

ด้าน นายพลเดช อนันชัย หรือ สตังค์ ยุวฑูตดาราศาสตร์ประจำปี 2554 กล่าวถึงที่มาของการเฟ้นหาทีมเยาวชนฯ กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการว่า การคัดเลือกยุวฑูตดาราศาสตร์ในครั้งนี้เป็นการรวบยอดมาจาก ปี2555 ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปี2554 จึงได้พับโครงการไปหนึ่งปี ซึ่งในปีนี้สถาบันดาราศาสตร์ได้รับภารกิจใหม่จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ให้ตรวจดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climated change) ทาง สดร.จึงได้นำดาราศาสตร์มาหาทางช่วยระวังภัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

“ความพิเศษของโครงการในปีนี้ คือ สดร.มีแผนผลิตทำรายการโทรทัศน์13ตอน เผยแพร่ผ่านทางช่องโทรทัศน์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทำให้ยุวฑูตดาราศาสตร์เพียงคนเดียวไม่สามารถรองรับภารกิจได้ทั้งหมด จึงเกิดโครงการย่อยก่อนการคัดเลือกยุวฑูตดาราศาสตร์ ชื่อว่าโครงการเยาวชนผู้นำแห่งนาริท ซึ่งคิดว่าเยาวชนรุ่นใหม่น่าจะถ่ายทอดและสื่อสารในเรื่องความบันเทิงเชิงวิชาการได้ดี” สตังค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ดำเนินโครงการผู้นำแห่งนาริทให้ความเห็น
ผู้นำแห่งนาริททำหน้าที่พิธีกรรายการทางช่อง Most Sat (FB: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page)
น.ส.พิชญา พิทักษ์สุธีพงศ์ หรือ พีช
นนอ.ชินรัตน์ มารุ่งเรือง
นายพลเดช อนันชัย หรือ สตังค์
ผู้นำแห่งนาริททั้ง 8 คน (FB: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page)






กำลังโหลดความคิดเห็น