ถ้าปล่อยให้น้ำซึมผ่านหิน 4 ชนิด หินแกรนิต หินปูน หินภูเขาไฟ และหินตะกอน คิดว่าน้ำจะซึมผ่านหินชนิดไหนได้เร็วที่สุด?
พิสูจน์คำตอบด้วยตาตัวเองได้ภายในนิทรรศการ “วิทยาศาสตร์ในสายน้ำ (Water at the Heart of Science) ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ จามจุรีสแควร์ ซึ่งประยุกต์นาฬิกาทรายให้กลายเป็นนาฬิกาน้ำ ที่มีหินแต่ละชนิดคือ หินแกรนิต หินปูน หินภูเขาไฟและหินตะกอนอยู่ตรงกลาง เมื่อพลิกกลับด้านน้ำจะไปไหลผ่านหินลงสู่อีกด้านหนึ่ง
น้ำซึมผ่านหินชนิดไหนได้ดีก็จะเห็นว่าไหลได้เร็วกว่า ซึ่งผลจากกาพิสูจน์ด้วยตาของทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้คำตอบว่าในหิน 4 ชนิดนี้ น้ำซึมผ่านหินปูนได้เร็วที่สุด ตามมาติดๆ คือหินตะกอน จากนั้นเป็นหินภูเขาไฟ ส่วนหินแกรนิตนั้นน้ำซึมผ่านได้ยากที่สุด
แล้วมีประโยชน์อย่างไร?
เราประยุกต์ใช้ความรู้นี้ได้สักวัน เช่น วันดีคืนดีเราหลงเข้าไปในป่าแล้วไม่มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ ก็ลองขุดดินลงไป หากเจอหินแกรนิต ให้ขุดต่อไปเพราะจะเจอน้ำอยู่ใต้หินนั้น เหตุที่น้ำซึมผ่านได้ยากหินแกรนิตจึงกักน้ำได้ดีกว่าหินอื่นๆ เป็นต้น (แต่เราจะหาเครื่องมืออะไรมาขุดหินแกรนิต?)
สำหรับนิทรรศการวิทยาศาสตร์ในสายน้ำนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถานอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนเห็นความสำคัญของน้ำ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ และใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า ตามที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี 2556 เป็นปีสากลแห่งความร่วมมือด้านน้ำ และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกับประเทศฝรั่งเศส
นอกจากเครื่องมือวัดการซึมผ่านของน้ำแล้วในนิทรรศการยังมีของเล่นรวมทั้งหมด 12 ชิ้นให้เราเล่นสนุกและได้เรียนรู้ธรรมชาติของน้ำ อาทิ ลูกโลกที่จำลองการควบแน่นจนเกิดฝน ซึ่งมีหลอดไฟทำหน้าทีให้ความร้อนและลูกแก้วที่มีน้ำอยู่ภายใน เมื่อน้ำระเหยเป็นไอจนลอยขึ้นมาปะทะผนังแก้วด้านในของลูกโลกก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ เป็นต้น
แล้วอยากรู้หรือเปล่าว่าน้ำดื่มที่เราดื่มกันนั้นมีอยู่บนโลกปริมาณเท่าไหร่ ก็มีเครื่องเล่นให้ลองเอาเข็มจิ้มไปตามแหล่งน้ำบนแผนที่โลก จิ้มโดนแหล่งน้ำประเภทไหนก็จะมีไฟติดที่รูปหยดน้ำซึ่งแสดงถึงปริมาณน้ำของแหล่งนั้นๆ (พร้อมตัวเลขเป็น%) เช่น น้ำเค็มที่มีมากถึง 97% ก็แสดงด้วยหยดน้ำที่ใหญ่กว่าใครเพื่อน ส่วนแหล่งน้ำพื้นผิวที่เราใช้ดื่มกันมีแค่ 0.01% แทนสัญลักษณ์ด้วยก๊อกน้ำที่บดบังหยดน้ำเล็กๆ จนมิด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการทดลองต่อวงจรเพื่อจำลองน้ำดื่มจากแหล่งน้ำส่งไปยังโรงงานและบ้านเรือน การทดลองต่อวงจรบำบัดน้ำเสีย หรือการหาปริมาณน้ำในอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งมีอาหารจำลองและน้ำในปริมาณต่างๆ ให้ทดลองชั่ง หากชั่งจนตาชั่งสมดุลก็จะได้ข้อมูลปริมาณน้ำในอาหารแต่ละชนิด ทั้งขนมปัง น่องไก่ทอด เนื้อวัว ข้าวโพด และกล้วย เป็นต้น รวมถึงเรียนรู้สิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น แมลง ตัวอ่อนของแมลง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆในน้ำ
"นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย "ลาแฟ็ต” (La Fête) เพื่อนำเสนอเรื่องของวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลอง ซึ่งน้ำเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับเราทุกคน โดยองค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี 2556 เป็นปีสากลแห่งความร่วมมือด้านน้ำ และประเทศไทยเพิ่งประสบมหาอุทกภัยในปี2554เราจึงเห็นว่าปัญหาเรื่องน้ำนั้นส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง” นายตีแยรี วีโต (Mr.Thierry Viteau) เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสกล่าว
สำหรับผู้สนใจนิทรรศการวิทยาศาสตร์ในสายน้ำสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 ก.ค.56 เวลา 10.30-19.30 น. ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ สามย่าน และจะมีการจัดแสดงนิทรรศการนี้อีกครั้งในเดือน ส.ค. ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2160-5356