Edited! หลายคนอาจะยังไม่ทราบว่าดาราศาสตร์ยุคใหม่ได้เข้ามาถึงเมืองไทยตั้งแต่สมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” และยุคนั้นเรายังมี “หอดูดาว” อันทันสมัย อีกทั้งมีความร่วมมือในโครงการดาราศาสตร์ระดับโลกในฐานะเป็นแหล่งเก็บข้อมูลการเกิดสุริยุปราคาด้วย
อ.ภูธร ภูมะธน นักศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่าเขาได้ศึกษาข้อมูลในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมานานนับ 40 ปี และทราบว่าพระองค์ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์มาก ซึ่งเมื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับ นายอารี สวัสดี จากสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็ยิ่งสนใจในเรื่องดาราศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มากขึ้น นอกจากนี้เมื่อได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามสืบค้นข้อมูลด้านดาราศาสตร์กับสมเด็จพระนารายณ์
ข้อมูลที่ได้จากฝรั่งเศสส่วนหนึ่งคือภาพวาดบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์ แต่ด้วยความไม่เข้าใจในเรื่องดาราศาสตร์มากนัก อ.ภูธรจึงเสนอในที่ประชุมของสมาคมดาราศาสตร์ไทยว่าเป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา หากแต่ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล นักดาราศาสตร์อาวุโสได้แย้งว่าน่าจะเป็นภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2231 และ ดร.ขาว เหมือนวงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้คำนวณและพบว่าปีดังกล่าวเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาขึ้นจริง
“รูปนี้เป็นรูปเก่าแก่ที่สุด แต่เพราะไม่มีข้อมูลเลยคิดว่าเป็นจันทรุปราคา แต่ อ.ขาว เหมือนวงศ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นคำนวณออกมาว่ามีปรากฏการณ์สุริยุปราคาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2231 ซึ่งตรงกัน” อ.ภูธรกล่าว
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงอุปถัมภ์นักดาราศาสตร์ให้ไปเก็บข้อมูลการเกิดอุปราคาทั่วโลก และเมื่อปี 2225 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ซึ่ง อ.ภูธรกล่าวว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้มีนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสเดินทางมาเก็บข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เมืองไทยและส่งกลับไปยังฝรั่งเศส นับว่าเมื่อ 330 ปีก่อนไทยก็มีส่วนร่วมในโครงการระดับโลกแล้ว และเมื่อค้นไปเรื่อยๆ ยังได้พบว่าสมเด็จพระนารายณ์ได้รับสั่งให้ฝรั่งเศสส่งนักดาราศาสตร์มาเมืองไทยและสร้างหอดูดาวให้
ปัจจุบันหอดูดาวดังกล่าวคือ “วัดสันเปาโล” ที่ จ.ลพบุรี และเหลือซากปรักหักพังเพียง 1 ใน 4 ของส่วนที่เป็นหอดูดาว ส่วนอาคารล้อมรอบนั้นพังทลายหมดแล้ว และทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ได้ “ปักหมุด” ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำคัญทางดาราศาสตร์
อ.ภูธรกล่าวอีกว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยและติดตามความก้าวหน้าทางด้านดาราศาสตร์อย่างใกล้ชิด เมื่อ กาลิเลโอ กาลิเลอิ นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีค้นพบวัตถุต่างๆ ในระบบสุริยะ เช่น จุดมืดบนดวงอาทิตย์ สัณฐานของดวงจันทร์ เป็นต้น ก็ทรงติดตามและศึกษาสิ่งเหล่านั้นอย่างสนพระทัย แม้กระทั่งเรือค้าขายประจำรัชกาลยังมีชื่อว่า “เนปจูน”
ความสนพระทัยดาราศาสตร์ในสมเด็จพระนารายณ์นั้น อ.ภูธรอธิบายว่า เพราะในยุคนั้นจักรพรรดิจีนสนใจในดาราศาสตร์และไทยก็ได้รับอิทธิพลจากจีน อีกทั้งในยุคนั้นไทยยังมีกองเรือพาณิชย์นาวีที่ทำการค้าขายไกลถึงอาหรับซึ่งพระองค์มีพระราชดำริว่าการเดินเรือให้ปลอดภัยนั้นต้องอาศัยการดูดาวที่แม่นยำ นอกจากนี้ยังเป็นการสานสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและยังเป็นความสนพระทัยส่วนพระองค์ หากแต่หลังเสด็จสวรรคตและนโยบายประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไป
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเห็นถึงความเกี่ยวโยงทางด้านดาราศาสตร์กับพระมหากษัตริย์ไทย อ.ภูธรจึงได้ร่วมถ่ายทอดความรู้ลงหนังสือชุด “พระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทย” เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และ วิษณุ เอื้อชูเกียรติ นักวิชาการร่วมจัดทำหนังสือชุดดังกล่าว
หนังสือในชุดพระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทยมีทั้งหมด 3 เล่ม คือ 1.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช: พระมหากษัตริย์ผู้สนพระทัยและองค์อุปถัมภ์การศึกษาดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามพระองค์แรก 2. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: จากความสนพระทัยในวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นพระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ และ 3.รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ: ยุคทองของดาราศาสตร์ไทย โดยวางจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และร้านหนังสือชั้นนำ ในราคาชุดละ 750 บาท
ทั้งนี้ อ.ภูธรรับผิดชอบการจัดทำเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วน ศ.ดร.ไพรัช และ รศ.บุญรักษารับผิดชอบเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัชกาลปัจจุบัน โดยผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า ในปัจจุบันถือเป็น “ยุคทอง” ของวงการดาราศาสตร์ไทย ซึ่งมีหอดูดาวแห่งชาติที่มีกล้องขนาด 2.4 เมตร และมีหอดูดาวภูมิภาคที่กำลังดำเนินการอยู่ 5 แห่ง อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ยังสนพระทัยด้านดาราศาสตร์อย่างยิ่ง
รศ.บุญรักษา ยกตัวอย่างว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยือนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการถวายงานให้ทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรวัตถุบนท้องฟ้า หรือเมื่อครั้งเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ 20 มิ.ย.2498 ซึ่งเกิดคราสเต็มดวงยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 คือยาวนานเกือบ 7 นาทีนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฬนา กรหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์ดังกล่าว ณ พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
ด้าน ศ.ดร.ไพรัชกล่าวว่า ในยุคนี้มีความพร้อมทางด้านกายภาพครบถ้วน ก้าวต่อไปคือการวางระบบและการพัฒนาคน และบอกอีกว่าความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ในปัจจุบันนั้นเป็นผลจากพระมหากรุณาธิคุณในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัยในดาราศาสตร์และยังเสด็จทอดพระเนตรความก้าวหน้าดาราศาสตร์ของประเทศต่างๆ ซึ่งแต่ละประเทศมักจัดสิ่งที่ดีสุดทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้ผู้ติดตามมีโอกาสได้เห็นความก้าวหน้าเหล่านั้นด้วย รวมถึงเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศตามมาอีกมาก
พร้อมกันนี้ สดร.ได้มอบหนังสือชุดพระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทยจำนวน 84 ชุด แก่กรุงเทพมหานคร เนื่องในวาระที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกเลือกกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหนังสือโลก 2556 และมีพิธีมอบหนังสือเมื่อวันที่ 18 ก.ค.55 ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ตึกจามจุรีสแควร์