xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนจาก “เลโก้” มาประกอบกล้องดูดาวเรียนรู้แบบ “แฮนด์ออน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล้องเล็งตัวเล็กที่จะประกอบกับกล้องดูดาวพีวีซี
เป็นที่ยอมรับกันว่าการประกอบ “เลโก้” นั้นฝึกความคิดและจินตนาการได้ดีทีเดียว ส่วนกิจกรรม “ประกอบกล้องดูดาว” ที่แม้จะเทียบความสร้างสรรค์จินตนาการไม่ได้ในระดับเดียวกัน แต่การได้ลงมือทำแบบแฮนด์-ออนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะในช่วยปูทักษะเชิงวิศวกรรม และแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักทัศนศาสตร์ได้ไม่น้อย

เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 แล้วสำหรับค่ายวิศวกรรม “กล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) โดย ดร.สวัสิ์ ตันติพันธุ์วดี ในฐานะที่ปรึกษาทางด้านวิชาการให้แก่ค่ายจาก สวทช.กล่าวว่า การได้ฝึกประกอบกล้องดูดาวนี้จะสอดแทรกให้เยาวชนที่ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้จากการลงมือทำหรือที่เรียกกันว่า “แฮนด์ออน” (Hands-on)

ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า เคยมีประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมฝึกทักษะวิศวกรรมให้แก่เด็กไทยและเด็กต่างชาติ ซึ่งพบความแตกต่างว่าเด็กไทยนั้นมีทักษะค่อนข้างต่ำ และไม่ค่อยมีวินัย จนบางครั้งเกิดอุบัติเหตุระหว่างกิจกรรม ต่างจากนักเรียนเยอรมันที่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบและการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ดี การจัดค่ายวิศวกรรมกล้องดูดาวจากท่อพีวีซีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในฝึกทักษะให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้จากการลงมือทำ

ค่ายวิศวกรรมกล้องดูดาวพีวีซีนี้มีเป้าหมายให้นักเรียนจาก 84 โรงเรียนทั่วประเทศได้เข้าร่วม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา โดยจัดค่ายทั้งหมด 8 ค่ายตั้งแต่ปี 2554 และเพิ่งเสร็จสิ้นการจัดค่ายครั้งที่ 4 เมื่อต้นเดือน ก.ค.55 ที่ผ่านมา ณ สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ จ.ลำปาง โดยมีนักเรียนจาก 10 โรงเรียนในภาคเหนือเข้าร่วมโรงเรียนละ 10 คน และโครงการจะสิ้นสุดในปี 2556

หลักการทำกล้องดูดาวจากท่อพีวีซีนั้น ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นอันดับแรกคือต้องกำหนดว่าต้องการกล้องแบบใด ทั้งนี้ ในการฝึกเยาวชนให้ประดิษฐ์กล้องดูดาวใช้เองนั้น เริ่มจากกล้องประเภทง่ายๆ ก่อน เช่น กล้องดูดาวแบบหักเหแสง ซึ่งเป็นกล้องดูดาวชนิดเดียวกับที่ กาลิเอโอ กาลิเลอิ ใช้ส่องสำรวจดวงดาวและค้นพบอะไรมากมาย อาทิ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี จุดมืดบนดวงอาทิตย์ หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ เป็นต้น

สำหรับในค่ายวิศวกรรมนี้กล้องที่เยาวชนจะได้ฝึกประดิษฐ์คือกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงแบบนิวโตเนียน (newtonian) ซึ่งใช้กระจก 2 บาน คือกระจกที่ติดอยู่ตอนปลายของกล้องและมีขนาดใหญ่เพื่อรับแสงจากที่ไกลๆ แล้วสะท้อนไปยังกระจกอีกบานที่มีขนาดเล็กกว่าและอยู่ในตำแหน่งโฟกัสของกล้องบานแรกก่อนหักเหผ่านเลนส์สู่ช่องมองภาพ โดยทั้งหมดติดตั้งอยู่ในท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมด 35,000 บาท

ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า กล้องที่ให้นักเรียนประดิษฐ์ขึ้นนี้ แม้นักเรียนไม่ได้ออกแบบแต่ก็ยังได้ฝึกทักษะวิศวกรรม ได้เข้าใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และปัญหาระหว่างลงมือทำ ซึ่งเชื่อว่าหากเริ่มจากจุดตรงนี้ได้ ก็จะเป็นการต่อยอดให้นักเรียนเหล่านี้สามารถสร้างรถยนต์หรือสิ่งที่ใหญ่กว่าได้
กล้องดูดาวต้นแบบที่นักเรียนต้องประกอบให้เหมือน
ประกอบเสร็จกล้องเล็งดาว
ท่อพีวีซีขนาดใหญ่สำหรับประกอบลำกล้อง
ดร.สวัสดิ์
ประกอบฐานวางกล้อง ซึ่งปรับหมุนมุมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น