xs
xsm
sm
md
lg

Hugo van der Goes กับภาพ Portinari Triptych

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพ Portinari Triptych
Hugo van der Goes คือ จิตรกรชาวเฟลมิช ถือกำเนิดที่เมือง Ghent ในเบลเยียม เมื่อประมาณ ค.ศ.1440 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ประวัติชีวิตในวัยเด็กของ van der Goes ไม่ปรากฏมาก จะมีก็เพียงว่า เมื่ออายุ 27 ปี van der Goes ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่ง Ghent เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะแห่ง Ghent จากนั้นได้ไปทำงานในหลายสถานที่และหลายหน้าที่ ทั้งนี้ เพราะจิตรกรในสมัยนั้นหาเงินได้ไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูครอบครัว เพื่อเพิ่มความสามารถในการวาดภาพ van der Goes ได้ไปฝึกฝนเรียนงานศิลปะกับ Hans Memling และ Petrus Christus ที่เมือง Bruges จนมีฝีมือมาก และทุกคนประจักษ์ว่า van der Goes เป็นจิตรกรระดับสุดยอด จึงได้งานเป็นช่างวาดพระสาทิสลักษณ์ขององค์สันตะปาปา และยังได้ออกแบบหน้าต่างของโบสถ์ St.John’s รวมถึงได้วาดภาพประดับผนังของโบสถ์แห่งนั้นด้วย

ในปี 1468 van der Goes ได้วาดภาพพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง Charles the Bold กับ Margaret of York ผลงานนี้ทำให้ van der Goes ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศิลปะที่ Ghent จากนั้นก็ได้รับว่าจ้างจาก Tommaso Portinari ให้วาดภาพขนาด 2.5 x 6.0 เมตรประดับเหนือแท่นบูชา ภาพนี้มีชื่อว่า Portinari Triptych ที่ประกอบด้วยสามส่วน (เพราะ Portinari คือคนจ้าง และ Triptych แปลว่า สามส่วน) ณ วันนี้ภาพถูกนำออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Uffizi ในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี และได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพวาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของ van der Goes เพราะภาพแสดงเหตุการณ์คนเลี้ยงแกะกำลังเข้าเฝ้าพระเยซูขณะเพิ่งประสูติ ภาพมีรายละเอียดมากมาย ซึ่งล้วนแสดงความหมายที่แอบแฝงอยู่อย่างไม่มีใครเคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ศิลปะการวาดภาพของชาวเฟลมิช แต่เมื่อ van der Goes วาดภาพนี้เสร็จ ภาพได้ถูกนำส่งไปที่อิตาลี ดังนั้น จึงไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อวงการศิลปะเฟลมิชในเวลาต่อมาเลย

ในค.ศ.1475 van der Goes วัย 35 ปี ได้ลาบวชที่โบสถ์ Rode Klooster ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงบรัสเซลส์ ถึงจะเป็นนักบวช แต่ก็ยังวาดภาพ แม้ผลงานจะมีไม่มาก เพราะ van der Goes ชอบวาดภาพในแนวที่ตนพอใจ หาได้วาดภาพตามใจคนจ้างไม่

เมื่ออายุ 42 ปี van der Goes ได้ล้มป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงจนคิดจะฆ่าตัวตายเพราะเชื่ออย่างปักใจว่าตนคือคนที่ถูกพระเจ้าสาป vander Goes เสียชีวิตที่เมือง Oudergem ใกล้กรุงบรัสเซลล์ โดยได้ทิ้งภาพ Portinari Triptych ให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ซาบซึ้งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขา

ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลในภาพทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะรู้ว่าภาพถูกวาดเมื่อ ค.ศ.1475 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ Tommaso Portinari นายธนาคารผู้ร่ำรวยได้ว่าจ้าง Hugo van der Goes ให้วาดภาพครอบครัวของตน

Tommaso Portinari เกิดเมื่อ ค.ศ.1428 และได้ทำงานรับใช้คนในตระกูล Medici มาตั้งแต่หนุ่ม ในเวลาต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายธนาคารประจำตระกูล Medici สาขาเมือง Bruges Portinari ทำงานดีจนได้เข้ามามีหุ้นในธนาคารถึง 15% แต่เมื่อนายธนาคาร Piero de’ Medici ถึงแก่กรรม ธุรกิจจึงตกเป็นของ Lorenzo de’ Medici ผู้เป็นลูกที่มีอายุเพียง 21 ปี แต่กลับสนใจการเมืองยิ่งกว่าการธนาคาร ดังนั้นธุรกิจธนาคารจึงตกต่ำลงๆ

ตามปรกติ Tommaso เป็นคนชอบเสี่ยงภัย ดังนั้นจึงอาสาลงทุนให้นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางไปสำรวจทวีปแอฟริกา เมื่อเรืออับปาง ธุรกิจจึงขาดทุนยับเยิน มีผลทำให้ธนาคารของตระกูล Medici เป็นหนี้มหาศาลจนต้องล้มเลิกกิจการ และ Tommaso จำต้องใช้ชีวิตที่เหลือทำงานใช้หนี้และต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างเมือง Bruges กับเมืองฟลอเรนซ์ จนถึงปี 1501 ก็เสียชีวิต บรรดาลูกได้ปฏิเสธรับมรดกจากพ่อ เพราะรู้ว่าถึงรับไปก็ไม่มากเพียงพอชดใช้หนี้ที่พ่อได้ก่อไว้

ภาพ Portinari Triptych ที่ van der Goes วาด เป็นภาพที่วาดขณะพำนักอยู่ที่ Ghent ภาพที่วาดเสร็จแล้วถูกส่งโดยทางเรือไปเมืองปิซา โดยให้เรืออ้อมผ่านเกาะซิซิลี จากนั้นเรือได้ล่องตามลำแม่น้ำ Arno จนถึงเมืองฟลอเรนซ์ ในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1483 ภาพได้ถูกนำไปประดิษยฐาน ที่โบสถ์ San Egidio ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี 1288 พร้อมโรงพยาบาล Santa Maria Nuova โดย Folco Portinari ผู้เป็นบิดาของ Tommaso Portinari ด้วยเหตุนี้ Hugo van der Goes จึงได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพครอบครัว Portinari เพื่อนำไปประดับเหนือแท่นบูชาในโบสถ์

ภาพ Portinari Triptych ที่มีภาพย่อย 3 ภาพ คือภาพซ้าย ภาพกลาง และภาพขวา ภาพซ้ายแสดง Tommaso กับลูกชาย 2 คน คือ Antonio และ Pigello ซึ่งกำลังคุกเข่าอยู่หน้าเทพพิทักษ์ชื่อ St.Thomas ซึ่งกำลังถือหอกยืนอยู่ใกล้ Tommaso กับ St.Antony Abbot ภาพขวามี St.Margaret กับ Mary Magdalene ผู้กำลังถือไหน้ำมันเพื่อใช้ล้างพระบาทของพระเยซู ในการวาดภาพของทุกนักบุญ van der Goes ได้วาดให้มีพระวรกายสูงใหญ่กว่าคนปรกติ ตามความนิยมเชื่อของคนในยุคนั้นว่าขนาดของใครในภาพบอกความสำคัญของเจ้าตัว
ภาพแสดงความคลุ้มคลั่งของ van der Goes วาดโดย Emile Wauters ในอีก 400 ปีหลัง
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ van der Goes ได้แหกกฎการวาดภาพในสมัยนั้น คือไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเวลาและสถานที่ที่เหตุการณ์บังเกิด จึงได้วาดทุกเหตุการณ์ลงในภาพเดียวกันทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในภาพเกิดต่างกาละและต่างเทศะ ดังที่เราเห็น Mary กับ Joseph กำลังเดินทางไป Bethlehem ซึ่งเป็นเวลาก่อนพระเยซูประสูติเล็กน้อย และภาพพระเยซูประสูติในภาพเดียวกัน

ภาพด้านซ้ายของ Portinari Triptych แสดงชนบทในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้จึงเหลือแต่กิ่งก้านและฟ้ามีสีเทา ที่บริเวณใกล้เชิงเขาจะเห็น Mary และ Joseph กำลังจูงลาเดินลัดเลาะผ่านภูเขามุ่งหน้าสู่หมู่บ้าน Bethlehem ไปตามถนนที่มีแต่หินและก้อนกรวดเสมือนจะบอก Mary ล่วงหน้าเกี่ยวกับความทุกข์ต่างๆ ที่จะบังเกิดกับลูกของเธอในอนาคต

ส่วนภาพด้านขวาแสดง Maria ผู้เป็นภรรยาของ Tommaso กับลูกสาวชื่อ Magaretha นาง Maria สวมเสื้อผ้าแสดงความเป็นผู้ดีของชาววังและสวมหมวกแหลมที่ปักดิ้นทอง เธอแต่งงานขณะมีอายุเพียง 15 ปี และสามีมีอายุมากกว่าเธอถึง 42 ปี ใบหน้าของเธอในภาพดูซีด เพราะมีลูกหลายคนและต้องทำงานบ้านหนัก

ภาพกลางแสดงเหตุการณ์วันคริสต์มาสซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซู มีทารกเยซูนอนเปลือยอยู่บนพื้น ในขณะที่ Mary กำลังคุกเข่าอยู่ใกล้ๆ ลูกของเธอ ทั้งนี้ ตามคำบอกเล่าของนักบุญชาวสวีเดนชื่อ Bridgetในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งอ้างการได้เห็นกับตาว่า Mary ได้คุกเข่าลงสวดมนต์แล้วหันหลังให้เปล จากนั้นทารกเยซูก็ประสูติอย่างรวดเร็วจนพระนาง Mary ไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ เพราะนี่คือการคลอดบุตรของสาวพรหมจรรย์ผู้ไร้บาปและบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ภาพกลางของ Portinari Triptych แสดงทารกเยซู คนเลี้ยงแกะสามคน Joseph กับ Mary ทูตสวรรค์ วัว และลา สายตาของ Mary ในภาพ จ้องดูพระเยซูน้อยและแสดงอารมณ์เหมือน Mary ในปฏิมากรรมหินอ่อน Pieta ของ Michelangelo ด้านทารกเยซูนอนเปลือยอยู่บนพื้นมิใช่บนกองฟางในคอกลา และไม่มีทูตสวรรค์ใดๆ มาร้องเพลงขับกล่อม van der Goes ได้วาดภาพของทูตให้มีใบหน้าเคร่งขรึม เศร้า และไม่รู้สึกยินดีใดๆ ในการประสูติของพระเยซู เสมือนทูตจะล่วงรู้ว่าพระบุตรได้จุติในโลกที่มีแต่บาป ดังนั้นทูตจึงแสดงอารมณ์เศร้า แต่อารมณ์เศร้านี้ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นคือ van der Goes เองก็กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย

ในบริเวณส่วนหน้าของภาพกลาง มีแจกันปักดอกคาร์เนชั่น, อาควีเลย่า, ลิลลี่ และไวโอเลต ซึ่งตามปรกติดอกไม้เหล่านี้จะไม่ผลิบานในเดือนธันวาคม แต่วันที่พระเยซูประสูติถือเป็นเหตุการณ์สำคัญมากจนดอกไม้สามารถบานผิดฤดูได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดอกไวโอเลตแสดงว่าครอบครัวของ Tommaso รู้สึกต่ำต้อยต่อเบื้องพระพักตร์พระเยซูและยินดีถวายตัวรับใช้พระเจ้า ดอกคาร์เนชั่นสามดอกแทนตะปูสามตัวที่ทหารโรมันใช้ตรึงพระเยซูไว้กับไม้กางเขน เพราะดอกคาร์เนชั่นมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Nail Flower ส่วนดอกลิลลี่สีแสดแสดงเลือดของพระเยซูที่หลั่ง ดอกอาควีเลยาแสดงความทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง และดอกไอริสสีน้ำเงินกับสีขาวแสดงการทนทุกข์และความบริสุทธิ์ของ Mary ซึ่งแต่งตัวด้วยเสื้อคลุมสีฟ้าเข้ม ใบหน้าของเธอไม่มีอารมณ์ยินดีใดๆ ที่พระเยซูประสูติหรือเสียใจในเทศกาล Passion ที่พระเยซูจะถูกนำตัวไปตรึงบนไม้กางเขน มุมบนขวาของภาพแสดงคนเลี้ยงแกะสามคนที่แต่งตัวแตกต่างจากคนเลี้ยงแกะทั่วไป เพราะทั้งสามแสดงท่าทางเสมือนได้บุกรุกเข้ามาในคอกลาขณะพระเยซูกำลังจะประสูติ และมีทีท่าเสมือนอยากรู้อยากเห็นเหตุการณ์สำคัญนี้ จึงแสดงอาการตื่นเต้นโดยการอ้าแขนสองข้างอย่างไม่สำรวม

ฉากหลังของภาพมีพิณที่ติดเหนือประตูวัง เสมือนแสดงว่าสถานที่ที่พระเยซูประสูติคืออาณาจักรแห่งกษัตริย์ David ผู้เคยทรงพิณถวายกษัตริย์ Saul ส่วนฟางข้าวสาลีนั้นหมายถึงขนมปัง ซึ่งแปลมาจากคำ Bethlehem การวางทารกเยซูและฟางข้าวสาลีในแนวขนานกันแสดงว่า ทารกเยซูกับขนมปังแห่งชีวิตคือสิ่งเดียวกัน

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ภาพนี้มิได้แสดงการประสูติของทารกเยซูเหมือนของคนทั่วไป เพราะพระนาง Mary ทรงให้กำเนิดพระเยซูโดยการนั่งคุกเข่า แทนที่จะนอนหงายตามประเพณีการคลอดของสตรีในปัจจุบัน และการที่แม่ในสมัยนั้นต้องคุกเข่าเวลาคลอดลูก เหมือนกับที่นักบุญ Bridget ได้เคยทำมาแล้วถึง 8 ครั้งในการคลอดบุตรทั้ง 8 คนของเธอ และการที่พระนาง Mary ไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ เลยนั้นก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ส่วนภาพของดอกไม้ต่างๆ นอกจากจะมีความหมายทางจิตใจแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่แพทย์ในสมัยนั้นใช้ในการบำรุงครรภ์มารดาด้วย

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าในยุคที่ Hugo van der Goes ยังมีชีวิตอยู่ เป็นจุดเปลี่ยนของโลกจากยุคกลางสู่ยุคเรอเนซองส์ ถึง van der Goes จะไม่เคยเดินทางไปเยือนอิตาลีเลย แต่ก็คงได้เห็นภาพวาดยุคเรอเนซองส์ที่เมือง Bruges บ้าง จึงได้ผสมผสานศิลปะทั้งสองยุคนี้ให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืน โดยการวาดภาพคนและฉากเบื้องหลังแบบยุคกลาง และวาดภาพคนเลี้ยงแกะด้วยเทคนิค perspective ของยุคเรอเนซองส์

อ่านเพิ่มเติมจาก The Fifteenth Century Netherlandish Paintings โดย Lorne Campbell จัดพิมพ์โดย National Gallery Catalogues ปี 1998

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น