ความฝันของมนุษย์ที่จะสามารถเหาะลอยไปในอากาศเป็นเวลานานได้เป็นความจริงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1783 ที่สวน Bois de Boulogne ในกรุงปารีส เมื่อหนุ่มฝรั่งเศส 2 คน ชื่อ Jean Francois Pilâtre de Rozier และ Marquis d’ Arlandes Francois Laurent ใช้บอลลูนที่บรรจุอากาศร้อนลอยไปในอากาศได้นาน 25 นาที ที่ระดับสูง 25 เมตร
เมื่อสิ้นสุดการเดินทางเสียงไชโยโห่ร้องได้ดังกึกก้องไปทั่วเมืองเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของมนุษย์ในการเหาะเหินเดินอากาศได้เป็นครั้งแรก ด้วยบอลลูนที่ได้รับการออกแบบโดยสองพี่น้องชื่อ Joseph และ Jacques แห่งตระกูล Montgolfier ตัวบอลลูนทำด้วยผ้าลินินและกระดาษที่ภายในมีควันและอากาศร้อนบรรจุ อากาศจึงสามารถรั่วซึมออกทางผิวได้ตลอดเวลา มีผลให้ประสิทธิภาพในการลอยไม่สู้ดี ดังนั้น เพื่อปรับปรุงบอลลูนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น บรรดานักประดิษฐ์ในเวลาต่อมาจึงใช้แก๊สไฮโดรเจนบรรจุบอลลูนแทนอากาศร้อน เพราะไฮโดรเจนเบากว่าอากาศ ดังนั้น การลอยตัวของบอลลูนไฮโดรเจนจึงดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านระยะสูงและเวลา แต่ไฮโดรเจนมีข้อเสีย คือ ติดไฟง่าย และระเบิดบ่อย ดังนั้น บอลลูนไฮโดรเจนจึงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากนำมาใช้ในการเดินทาง
แก๊สที่เป็นที่นิยมต่อจากไฮโดรเจน คือ ฮีเลียม เพราะเบาเป็นที่สองรองจากไฮโดรเจน แต่ไม่ติดไฟ ส่วนประเด็นการรั่วซึมที่ผิวบอลลูนนั้น นักประดิษฐ์แก้ปัญหาโดยใช้พลาสติกคุณภาพสูง เช่น mylar, polyethylene หรือ neoprene แทน แล้วเคลือบผิวพลาสติกด้วยโลหะเบาเพื่อให้แข็งแรง
ทันทีที่คนฝรั่งเศสเห็นความมหัศจรรย์ของบอลลูน เขาก็เริ่มสนใจวิทยาศาสตร์และนำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาเทคโนโลยีบอลลูนทันที อีกหนึ่งปีต่อมา คือ ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1784 Marie Elizabeth Thible นักร้องโอเปราชาวฝรั่งเศสได้เป็นสตรีคนแรกของโลกที่เดินทางไปในอากาศด้วยบอลลูนของ Montgolfier โดยบอลลูนได้นำเธอลอยขึ้นจากเมือง Lyon ในฝรั่งเศสและเธอในชุดแต่งกายเป็นเทพธิดาแห่งปัญญา Minerva ในมือถือพระสาทิสลักษณ์ของกษัตริย์ Gustav ที่ 3 แห่งสวีเดน ซึ่งได้เสด็จมาทอดพระเนตรการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของเธอด้วย
อีก 9 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1793 คนอเมริกาเริ่มรู้จักบอลลูนบ้าง ที่เมือง Philadelphia ในบริเวณจัตุรัส Independence ท่านประธานาธิบดี George Washington ต้องจ่ายเงิน 5 ดอลลาร์เพื่อเข้าชมการปล่อยบอลลูนในทวีปอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรก Jean Pierre-Francois Blanchard ได้ลอยขึ้นจาก Walnut Street ข้ามแม่น้ำ Dalaware ไปลงในทุ่งหญ้าเมือง Deptford แห่งรัฐ New Jersey หนุ่ม Blanchard ผู้นี้ ก่อนมาอเมริกาได้มีประสบการณ์เดินทางในบอลลูนมาแล้ว 44 ครั้ง ในการเดินทางครั้งนั้น มีคนเฝ้าดูร่วมพัน และเขาได้นำสุนัขตัวโปรดขึ้นไปด้วย บอลลูนลอยสูง 1,940 เมตร ไปไกล 24 กิโลเมตร ภายในเวลา 46 นาที และท่านประธานาธิบดี Washington ได้มอบจดหมายฉบับหนึ่งให้ Blanchard ถือไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่แห่งรัฐ New Jersey อนุญาตให้เข้าเมืองได้
มนุษย์ได้รู้จักนำบอลลูนมาใช้ในการทำสงครามเป็นครั้งแรกในปี 1861 เมื่อ Thaddeus Lowe นำบอลลูนลอยขึ้นเหนือเมือง Arlington ในรัฐ Virginia เพื่อสังเกตดูกองทัพข้าศึกที่ Falls Church ซึ่งอยู่ห่างออกไป 5 กิโลเมตร แล้วกลับลงมาส่งโทรเลขรายงานข้อมูลให้พรรคพวกรู้
สำหรับในอังกฤษความสนใจบอลลูนก็มีมากไม่แพ้กัน ในปี 1862 Henry Coxwell ได้นำ James Glaisher ขึ้นสำรวจบรรยากาศชั้นบนของโลกด้วยบอลลูน Glaisher เป็นชายวัยกลางคน และมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งหอดูดาว Greenwich Royal Observatory อีกทั้งเป็นสมาชิกของสมาคม British Association for the Advancement of Science (BA) ซึ่งได้ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์ใช้บอลลูนสำรวจสภาพบรรยากาศที่ระดับสูงมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ไม่มีใครทำได้ เพราะในช่วงเวลานั้นบอลลูนที่สร้างๆ กัน ยังมีขนาดใหญ่ไม่พอ
ดังนั้น ในปี 1861 Coxwell จึงนำเสนอโครงการชื่อ Mammoth เพื่อสร้างบอลลูนขนาดใหญ่และให้สมาคม BA เช่าในอัตราครั้งละ 50 ปอนด์ เมื่อสมาคมตกลงและ Coxwell สร้างได้ การหาคนจะขึ้นบอลลูนกลับเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนที่สมัครมีคุณวุฒิที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ Glaisher ตั้งไว้ ดังนั้น Glaisher จึงต้องอาสาขึ้นบอลลูนด้วยตนเอง
ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1862 บอลลูน Mammoth ลอยขึ้นจากเมือง Wolverhampton ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของอังกฤษ ท่ามกลางกระแสลมที่พัดรุนแรงจนตัวบอลลูนหลุดลอยก่อนที่ Glaisher จะได้ติดตั้งอุปกรณ์สำรวจอากาศครบครัน ภายในเวลา 2-3 นาที Mammoth ก็ลอยขึ้นเหนือเมฆรับแสงอาทิตย์ หน้าที่หลักของ Coxwell คือ นำบอลลูนขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วน Glaisher ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลอุณหภูมิ ความดันอากาศ ความชื้น ความเร็วและทิศของกระแสลมตลอดการเดินทาง
ที่ระยะสูง 6,000 เมตร อากาศที่หนาวมาก ทำให้ริมฝีปากของคนทั้งสองซีดคล้ำ และหัวใจเต้นแรง ที่ระดับ 7,500 เมตรเหนือพื้นดินการหายใจของคนทั้งสองเป็นไปอย่างยากลำบาก จน Glaisher ไม่รู้สึกอยากจดบันทึกข้อมูลอะไรอีกเลย
เมื่อถึงระยะสูง 9,000 เมตร Glaisher ก็ได้พบความรู้ใหม่ว่า จากเดิมที่มีการอ้างว่าอุณหภูมิของอากาศจะลดลงอย่างสม่ำเสมอ 0.5 องศาเซลเซียส ทุกระยะทาง 100 เมตรที่เพิ่มขึ้น แต่เขากลับพบว่าอัตราการลดอุณหภูมิมิได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงแรกอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วลดช้าๆ แล้วเพิ่มขึ้นๆ จากนั้นก็ลดอย่างฮวบฮาบอีก
เพราะในขณะนั้น Coxwell เกรงว่า บอลลูนกำลังจะลอยไปตกทะเล เขาจึงบังคับให้บอลลูนร่อนลงอย่างกะทันหัน ทำให้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของ Glaisher หลายชิ้นพัง แต่ Glaisher ได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ
อีก 3 ปีต่อมา Glaisher ได้ลอยไปในบอลลูนอีก 27 ครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว แต่ไม่ว่าจะลอยครั้งใด เขาก็รู้ว่าอันตรายก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้ทุกเวลา เพราะบอลลูนอาจตกกลางทะเล และอาจตกบนหลังคาโบสถ์ก็ได้ แต่เขาก็รอดชีวิตทุกครั้ง ส่วนการเดินทางด้วยบอลลูนในวันที่ 5 กันยายน 1862 นั้น ถือได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งสำคัญที่สุดของ Glaisher กับ Coxwell เพราะในวันนั้นบอลลูนของคนทั้งสองได้ลอยขึ้นจากโรงงานผลิตแก๊สใน Wolverhampton เมื่อประมาณเวลาบ่ายโมง และลอยผ่านชั้นเมฆหนาขึ้นรับแสงอาทิตย์ เมื่อไม่มีเมฆอยู่เหนือบอลลูนเลย และเมฆเบื้องล่างเป็นทะเลเมฆสุดลูกหูลูกตา บอลลูนได้ลอยขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันก็หมุนรอบตัวเองด้วย จนถึงระยะสูง 8,000 เมตร โดยใช้เวลาเพียง 47 นาทีเท่านั้นเอง และ Glaisher ได้จดบันทึกว่า นับถึงวินาทีนั้นความสะดวกในการบันทึกข้อมูลวิทยาศาสตร์ต่างๆ ไม่มีปัญหาเลย
แต่เมื่อบอลลูนลอยสูงขึ้นอีก Glaisher รู้สึกว่า เขาเริ่มมีปัญหาในการพยายามอ่านเทอร์โมมิเตอร์ จึงคิดจะขอให้ Coxwell ช่วยอ่านแทน แต่เมื่อมองหาก็ไม่เห็น เพราะขณะนั้น Coxwell ได้ปีนขึ้นไปซ่อมลิ้น (valve) ที่ควบคุมแก๊สในบอลลูน ซึ่งอยู่เหนือตะกร้า เมื่อทำได้สำเร็จ บอลลูนก็ลอยสูงขึ้นไปอีก
ที่ระยะสูง 11,000 เมตร Glaisher รู้สึกว่า ทั้งมือและขาของเขาเย็นชาไปหมดจนขยับไม่ได้ และตามองเห็น Coxwell เพียงลางๆ จึงพยายามจะสนทนาด้วยแต่พูดไม่ได้ แล้วรู้สึกหน้ามืด จนคิดว่าตนคงใกล้ตาย ถ้า Coxwell ไม่ลดระดับความสูงในทันที ส่วน Coxwell เอง มือทั้งสองข้างก็แข็งชาจนไม่สามารถใช้นิ้วเปิดลิ้น (valve) ให้แก๊สไหลออกได้ แต่ก็ยังมีสติดีจึงใช้ฟันกัดลิ้น (valve) แล้วผงกศีรษะขึ้น เมื่ออากาศไหลออก บอลลูนก็เริ่มลดระดับ แต่ในช่วงเวลานั้น Glaisher ได้หมดสติไปแล้ว Coxwell จึงตะโกนเรียกจน Glaisher ฟื้น เพื่อบอกให้นำบรั่นดีมาราดที่มือของ Coxwell จนขยับได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ Glaisher ตระหนักว่า ที่สูงระดับนั้นมนุษย์ได้ถึงซึ่งขอบเขตของการสามารถมีชีวิตแล้ว
Glaisher ได้ขึ้นบอลลูนอีกหลายครั้ง โดยใช้บอลลูนที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำ ซึ่งทำให้เขาสามารถวัดอุณหภูมิและความดันอากาศได้ ณ เวลา และสถานที่ที่ต้องการ ผลงานของ Glaisher ได้ทำให้เขาเป็น “เซเลบ” ผู้บุกเบิกวิทยาศาสตร์ด้านอุตุนิยมวิทยา แต่ความมีชื่อเสียงนี้ได้ทำให้ Sir George Airy ผู้เป็นผู้บังคับบัญชาของเขาไม่สบายใจ เพราะ Airy ต้องการให้ Glaisher สนใจศึกษาเรื่องแม่เหล็ก แต่ Glaisher กลับทำงานอุตุนิยมวิทยา และ Airy คิดว่า ข้อมูลที่ Glaisher วัดได้มาแทบไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย แต่เมื่อ Glaisher ได้รับความชื่นชมจากสังคม เขาจึงทำงานด้านนี้ต่อไป และได้จัดตั้งเครือข่ายอุตุนิยมวิทยาขึ้นทั่วอังกฤษเพื่อรายงานสภาพอากาศของทั้งประเทศ
โดยสรุป องค์ความรู้ที่ Glaisher พบคือนอกจากจะได้พบว่าอุณหภูมิของอากาศที่ระดับสูงไม่ได้ลดอย่างสม่ำเสมอตามความสูงแล้ว เขายังพบอีกว่า บรรยากาศโลกมีสภาพเหมือนทะเลอวกาศ เพราะมีกระแสลมที่พัดในทิศต่างๆ ด้วยความเร็วต่างๆ บางกระแสมีอุณหภูมิสูงและบางกระแสมีอุณหภูมิต่ำ ส่วนบาโรมิเตอร์แบบ aneroid นั้น สามารถวัดความดันอากาศได้ดี สำหรับข้อเสียของการทำงานนี้ คือ ไม่ว่าใครจะเริ่มเดินทาง ณ ที่ใด ในอังกฤษ ภายในเวลาไม่นานบอลลูนก็จะลอยออกทะเล และนั่นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
ความก้าวหน้าในการเดินทางด้วยบอลลูนได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1931 Paul Kipfer และ August Piccard ได้ชื่อว่าเป็นสองบุคคลแรกที่เดินทางขึ้นถึงระดับ stratosphere เพราะในตอนเช้าของวันนั้นที่เมือง Augsburg ในเยอรมนี คนทั้งสองได้เข้าไปอยู่ในห้องปิดที่มีการควบคุมความดัน และสามารถลอยขึ้นสูงเกือบ 15 กิโลเมตร Piccard ได้รายงานว่า ข้างบนท้องฟ้าสวยสีเกือบดำสนิท แต่ก็ไม่มืดพอจะเห็นดาวได้
อีก 4 ปีต่อมา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1935 สถิติความสูงก็ถูกลบโดย Stevens กับ Anderson ด้วยบอลลูนที่ลอยขึ้นที่ Black Hills ใน South Dakota ซึ่งขึ้นสูง 24,100 เมตร และเป็นสถิติความสูงที่ไม่มีใครสามารถลบได้เป็นเวลานานถึง 21 ปี
สถิติความสูงที่บอลลูนลอยเริ่มถูกลบอีกในปี 1961 เมื่อ Victor Pralther ลอยขึ้นสูง 37,920 เมตร และสถิตินี้ได้ยืนนาน 40 ปี การเสียชีวิตของ Pralther ในเวลาต่อมา เมื่อบอลลูนของเขาร่อนลงในทะเล แล้วน้ำทะเลทะลักเข้าชุดที่เขาสวมทำให้ทุกคนตระหนักว่า การเดินทางโดยบอลลูนก็อาจเป็นอันตรายได้เหมือนการเดินทางรูปแบบอื่น
นอกจากประเด็นด้านความสูงแล้ว ประเด็นการเดินทางได้ไกลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในวันที่ 12-17 สิงหาคม ค.ศ.1978 M.Anderson, B.Abruzzo และ L.Newman ประสบความสำเร็จในการลอยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรกจาก Presque Isle ในรัฐ Maine ของสหรัฐอเมริกาไป Miserey ในฝรั่งเศส
ส่วนสถิติการลอยบอลลูนข้ามทวีปเป็นครั้งแรกนั้นเป็นของ M.Anderson และบุตรชาย K.Anderson ที่ใช้บอลลูน Kitty Hawk เดินทางนาน 4 วัน จาก Fort Baker ใน California ถึง Quebec ใน Canada เมื่อวันที่ 8-12 พฤษภาคม ค.ศ.1980 และในวันที่ 10-12 พฤศจิกายน ค.ศ.1981 B.Abruzzo, L.Newman และ R.Clark ก็ได้ใช้บอลลูน Double Eagle V ลอยข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกจาก Nagashima ในญี่ปุ่นถึง Covelo ใน California โดยใช้เวลานาน 84 ชั่วโมง 31 นาที
เมื่อถึงวันที่ 1-21 มีนาคม ค.ศ.1999 B.Piccard และ B.Jones ก็ประสบความสำเร็จในการลอยบอลลูนรอบโลกโดยไม่หยุดเลยเป็นครั้งแรก คนทั้งสองนอกจากจะได้รับถ้วยจากบริษัทเบียร์ Budweiser แล้ว ทั้งสองยังได้เงินรางวัลอีก 1 ล้าน ดอลลาร์ด้วย ซึ่งก็ได้บริจาคให้การกุศลต่อไป
ความใฝ่ฝันของมนุษย์ที่จะเดินทางรอบโลกด้วยวิธีต่างๆ นั้นได้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ด้วยการใช้เรือ บอลลูน รถยนต์ เครื่องบิน หรือจักรยาน และบุคคลผู้ที่จุดชนวนความฝันแนวนี้ คือ Jules Verne ผู้เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1828 ที่ Nantes ในฝรั่งเศส ถึงบิดาจะจัดให้เรียนกฎหมาย แต่ Verne ชอบการประพันธ์ ตามปรกตินวนิยายของ Verne เน้นด้านวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพราะเขาชอบใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาแล้วผูกเรื่อง จากนั้นก็เสริมความตื่นเต้นในการผจญภัยด้วยการให้ความรู้วิทยาศาสตร์ไปด้วย
บทประพันธ์ที่ทำให้ Verne มีชื่อเสียงที่สุด คือ Around the World in 80 Days ที่ Verne แต่งในปี 1872 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกมีนักผจญภัยออกสำรวจดินแดนต่างๆ มากมาย การขยายตัวทางอุตสาหกรรม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การขุดคลองสุเอซได้ทำให้ประชาชนสนใจเดินทางไปผจญภัยในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก
ในนวนิยายเรื่อง 80 วันรอบโลก Phileas Fogg ได้ใช้พาหนะทุกรูปแบบในการเดินทางให้รอบโลกภายในเวลา 80 วัน และ Fogg ก็ใช้เรือกลไฟ รถไฟ เรือยอชต์ รถม้า เลื่อน (sledge) แม้แต่ช้าง ในการเดินทาง และไม่ใช้บอลลูนเลย แต่ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดมีการเดินทางด้วยบอลลูน จึงเป็นความบันเทิงที่ไม่เป็นตามที่เขียนในหนังสือนัก
ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1999 Bertard Piccard และ Brian Jones ได้นำบอลลูน Breitling Orbiter 3 ลอยขึ้นที่ Chaleau d’ Oex ในสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเดินทางรอบโลก และบอลลูนได้ตกที่อียิปต์ หลังจากที่ได้เดินทางไกล 45,755 กิโลเมตร ภายในเวลา 19 วัน 21 ชั่วโมง และ 47 นาที
ประวัติความพยายามในการเดินทางรอบโลกด้วยบอลลูนได้มีก่อน Piccard และ Jonesประมาณ 20 ครั้ง คือ ตั้งแต่ปี 1981 เมื่อ Steve Fossett มหาเศรษฐีแห่งเมือง Chicago ได้พยายามมา 5 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะบอลลูนตกก่อน และบางครั้งก็ตกในทะเล ทำให้เจ้าหน้าที่ยามฝั่งของอเมริกาต้องช่วย กระบวนการช่วยชีวิตนี้ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณถึง 130,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นข้อโต้เถียงกันมากในความเป็นธรรมว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าช่วยเหลือ นักสำรวจหรือรัฐบาล
ในความเห็นส่วนตัวของ B.Piccard นั้น ถ้าเขาไม่พยายามเดินทาง เขาจะเสียดายโอกาส และถ้าเขาได้พยายามและทำได้ไม่สำเร็จ เขาก็จะถูกสังคมตัดสินว่าเป็นคนล้มเหลว แต่ถ้าเขาทำได้ หลายคนคงคิดว่า มันเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ จะอย่างไรก็ตาม บรรพบุรุษของ Piccard คือ Auguste Piccard ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยการเป็นบุคคลแรกที่ได้ขึ้นไปถึงระดับ stratosphere แล้วด้วยบอลลูน ส่วนบิดาชื่อ Jacques Piccard ก็ได้ลงเรือดำน้ำ bathyscaphe ถึงจุดลึกสุดในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว
ดังนั้น ในฐานะที่เป็น Piccard คนหนึ่ง Bertrand ก็ต้องทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมพ่อและปู่ด้วย ครั้นจะไปขั้วโลกเหนือ-ใต้ ก็มีคนไปมาก่อนแล้ว จะไป Everest หรือไปดวงจันทร์ก็มีคนไปมาแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่มีใครทำคือ การเดินทางรอบโลกด้วยบอลลูนโดยไม่หยุดพักเลย
ในแผนการเดินทาง Brian Jones จะเป็นผู้รับผิดชอบด้านโครงสร้างของบอลลูนและด้านซ่อมแซมเวลาบอลลูนรั่ว หรือประสบอุบัติเหตุ เพราะเขาเป็นนักบินทดลองเครื่อง
บอลลูน Breitling Orbiter 3 ที่นักบอลลูนทั้ง 2 ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางนั้น แข็งแรง และมีสภาพสมบูรณ์ดีกว่าเรือ Nina, Pinta และ Santa Maria ของ Columbus หรือแม้แต่เครื่องบิน Spirit of St. Louis ที่ Charles Linbergh ใช้ในการบินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาก เพราะใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการสร้าง ยานมีที่พักผ่อนมีเตียงหลับนอน ห้องน้ำ โต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องส่งแฟกซ์ และโทรศัพท์ ทุกอย่างในกระเช้าที่ห้อยติดอยู่ใต้บอลลูน
ในวันที่ 1 มีนาคม (ซึ่งเป็นวันเกิดของ Piccard) ยานได้ออกเดินทางจากเมือง Chateau d’ Oex ในสวิสเซอร์แลนด์ แล้วบอลลูนลอยผ่านยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมสู่อิตาลีที่ระดับสูง 6,400 เมตร จากนั้นก็ลอยข้ามทะเล Mediteranean ในเวลากลางคืน และอาหารเย็นวันนั้นมีเมนูเป็นเนื้อนก emu
เพราะ Jones ต้องการใช้โทรศัพท์ดาวเทียมติดต่อกับภรรยา Joanna Jones เขาจึงให้เธอพักอยู่ที่สนามบิน Cointrin ใน Geneva เพื่อติดต่อได้สะดวก เพราะที่นั่นมีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย ส่วนภรรยาของ Piccard ชื่อ Michele Piccard มีความประสงค์จะอยู่ที่บ้านกับลูกสาว 3 คน
เมื่อบอลลูนลอยผ่าน Morocco ไปเหนือ Mauritania แล้วได้รับกระแสลมแรงพัดพาบอลลูนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่อินเดีย ซึ่งตามทฤษฎีแล้วนักบอลลูนไม่สามารถบังคับทิศของบอลลูนได้ แต่ใช้วิธีปรับระดับความสูง-ต่ำของบอลลูนเพื่อให้ได้รับกระแสลมที่พัดในทิศที่ต้องการ ในทำนองเดียวกับนักกระดานโต้คลื่นที่ต้องเลือกคลื่น นักบอลลูนก็เช่นกัน เขาต้องพยายามหากระแสลมความเร็วสูงที่พัดจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก
ในวันที่ 4 ของการเดินทาง บอลลูน Orbiter 3 ก็ได้ลมที่ต้องการเป็นกระแสลมที่มีความเร็ว 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเมื่อบอลลูนลอยต่ำที่ระยะสูง 3,000 เมตร Piccard กับ Jones ก็ได้โผล่ออกมาจากห้องเคบินเป็นครั้งแรก เพื่อกะเทาะเกล็ดน้ำแข็งที่จับอยู่ตามสายเคเบิลและเคบิน และเมื่อกลับเข้าไปข้างในก็ได้ยินเสียงหึ่งๆ ตลอดเวลา แต่เขาไม่รู้เป็นเสียงอะไร
จนกระทั่งวันรุ่งขึ้น จึงได้พบว่า เป็นเสียงของยุงตัวหนึ่งที่ได้แอบซ่อนมาในเคบิน จึงตบยุงตัวนั้นทิ้ง
ในวันที่ 7 มีนาคม Piccard กับ Jones ได้ทราบข่าวร้ายว่า บอลลูนชื่อ Cable & Wireless ของนักบอลลูนชาวอังกฤษ 2 คน ชื่อ Andy Elson และ Colin Prescot ซึ่งเป็นคู่แข่งของตน ได้ตกลงกลางมหาสมุทรแปซิฟิก หลังจากที่ได้เดินทางนาน 17 วัน 18 ชั่วโมง และ 25 นาที เพราะขณะผ่านเหนือประเทศไทย บอลลูนลูกนั้นได้ถูกฟ้าผ่า ทำให้ผนังหุ้มบอลลูนเสียหาย แต่คนทั้งสองรอดชีวิต
ในวันที่ 10 มีนาคม Piccard กับ Jones ได้ทราบข่าวดีว่า รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ Breitling Orbiter 3 ลอยผ่านประเทศจีนได้ แต่ไม่ให้ลอยเหนือเส้นรุ้งที่ 26 องศาเหนือขึ้นไป เพราะถ้าปักกิ่งไม่อนุญาต บอลลูนจะต้องลอยอ้อมลงทางใต้ และอาจประสบอุบัติเหตุดังเช่น Cable & Wireless นอกจากนี้ การลอยตรงจะช่วยย่นระยะทางและเวลาด้วย
หลังจากที่บอลลูนลอยผ่านจีนแล้ว ก็ลอยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก การเดินทางช่วงนี้คนทั้งสอง รายงานว่า น่าเบื่อหน่ายมาก เพราะข้างล่างมีแต่น้ำ ส่วนข้างบนมีแต่เมฆ Orbiter 3 ลอยสู่ฮาวายอย่างช้าๆ เพราะขณะนี้หอบังคับการที่ Geneva อยู่คนละซีกโลก ดังนั้นการติดต่อจึงขาดหายไป 4 วัน
ในวันที่ 16 มีนาคม บอลลูนได้ลอยถึงเม็กซิโก และการติดต่อก็เริ่มมีอีก แต่กระแสลมพัดผิดทิศคนทั้งสองจึงต้องพยายามบังคับ และใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัด แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดเพราะ เครื่องทำความร้อนภายในเคบินเกิดทำงานบกพร่อง ทำให้อุณหภูมิในห้องพักลดต่ำที่ 8 องศาเซลเซียส
ขณะนั้นนักบอลลูนทั้งสองรู้สึกเหนื่อยมากและ Piccard ได้พยายามสะกดจิตตนเองเพื่อสยบความว้าวุ่น
แต่เมื่อได้รับกระแสลมแรงที่ ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหนือมหาสมุทรแอตแลนติก การเดินทางก็เข้าโค้งสุดท้าย และ Orbiter 3 เดินทางถึงเส้นชัยที่เส้นแวง 9.27◦ องศาตะวันตกที่ Mauritania เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1999
หลังการเดินทาง Piccard บอกรู้สึกยินดีมากที่สุด เหมือนกับการได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์กับเทวดาและมีความสุขมาก ส่วน Jones ก็บอกเพียงว่า อยากกินชาร้อนๆ เหมือนคนอังกฤษทั่วไปหลังทำงานหนัก
ในนวนิยาย 80 วันรอบโลก เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง ผู้สื่อข่าวถาม Fogg ว่า ได้อะไรกลับมาบ้าง Fogg ตอบว่า ไม่มีอะไรติดมาเลย แต่ในกรณีของ Piccard กับ Jones นอกจากจะได้เงินและได้เหรียญรางวัลแล้ว ชื่อของคนทั้งสองยังได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ด้วยว่าเป็นนักผจญภัยที่สำคัญ แม้จะเป็นบุคคลที่ไม่ยิ่งใหญ่เท่า Magellan, Columbus หรือ Cook ก็ตาม
Brian Jones เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1947 ที่เมือง Bristol ในอังกฤษ
เมื่อประสบความสำเร็จด้วยยาน Breitling Orbiter 3 ในการเดินทางรอบโลก ในปี 1999 แล้ว Jones วัย 51 ปี ได้รับรางวัล Harmon เหรียญ Hubbard และเงิน 1 ล้านเหรียญร่วมกับ Bertrand Piccard
ถึงจะเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ Jones ก็ยังสนุกสนานเพลิดเพลินกับการเดินทางด้วยบอลลูนต่อไป
ในปี 2004 Jones ได้ใช้เครื่องร่อนชื่อ Solar Impulse ที่มีที่นั่งเดียว และขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เดินทางไกล ยานนี้ได้รับการออกแบบสร้างโดยสถาบัน Ecole Polytechnique Federal de Lausanne และได้ทุนสนับสนุนจากหลายหน่วยงานซึ่งตามแผน ยานจะเดินทางรอบโลก และมีคนขับยานหลายคนผลัดเปลี่ยนกันไป โดยให้บินเหนือเมฆในเวลากลางวัน และบินต่ำในเวลากลางคืน โครงการนี้มีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในปี 2012 และก่อนนั้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2010 ที่ผ่านมา Jones ก็ได้นำบอลลูนชื่อ Esprit Breitling Orbiter ขึ้นท้องฟ้า เพื่อนำ Yves Rossy ผู้มีเครื่องยนต์เจ็ทติดที่ข้างหลังไปปล่อย ให้พุ่งตัวไปในอากาศแล้วแสดงกายกรรมบนฟ้า โดยการวนเป็นวงกลมหลายรอบได้สำเร็จ ก่อนใช้ร่มชูชีพร่อนลง
ส่วน Bertrand Piccard นั้น เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1958 ที่เมือง Lausanne เป็นคนที่ชอบเดินทางด้วยบอลลูนเป็นชีวิตจิตใจ บรรพบุรุษทั้งปู่ Auguste Piccard และบิดา Jacques Piccard ต่างก็เป็นนักบอลลูนที่มีชื่อเสียงของโลก
ดังนั้น ตั้งแต่เด็ก Piccard จึงได้รับแรงกระตุ้นกับแรงบันดาลใจจากครอบครัวโดยตลอด และได้ติดตามบิดาไปดู NASA ปล่อยจรวดที่แหลม Canaveral ในรัฐ Florida บ่อย
Piccard สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Lausanne ในสวิสเซอร์แลนด์
เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม Piccard ได้ทำงานอดิเรกเป็นนักร่อนเครื่องร่อน และสนใจการเดินทางด้วยบอลลูนบรรจุแก๊สร้อนที่ปู่เคยทำสถิติความสูงเอาไว้
ส่วนอาชีพหลักนั้นเป็นจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสะกดจิตเพื่อรักษาไข้
******************
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์