xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศหาคู่ให้ปลาตัวผู้ 3 ตัวสุดท้ายก่อนสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลาซิชลิดตัวผู้ที่ตอนนี้ยังไร้คู่
แม้ว่าพวกมันจะเป็นปลาที่หน้าตาน่าเกลียด แต่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง โดยไม่พบในธรรมชาติแล้ว ตอนนี้เหลือเพียงตัวผู้ที่ลูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ลอนดอนและเบอร์ลิน ซึ่งบางตัวก็เริ่มแก่แล้ว จึงต้องเร่งหาตัวเมียที่เหมาะสมเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

แมนการาฮารา ซิชลิด (Mangarahara cichlid) เป็นปลาเขตร้อนที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว และถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) หากแต่ยังเหลือปลาชนิดนี้อยู่ในสวนสัตว์ เพียงแต่โชคร้ายที่ทุกตัวเป็นตัวผู้ การจัดหาคู่ให้ปลาชนิดนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปจากโลก

รายงานจากบีบีซีนิวส์ระบุว่า ที่สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) ในอังกฤษเลี้ยงไว้ 2 ตัว และที่สวนสัตว์ในเบอร์ลิน เยอรมนี เลี้ยงไว้อีก 1 ตัว ในจำนวนที่เหลืออยู่มี 2 ตัวที่อายุ 12 ปีแล้ว การจัดหาตัวเมียที่เหมาะสมแก่พวกมันจึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งยวด 

สำหรับชื่อของปลาชนิดนี้ตั้งตามชื่อแม่น้ำแมนการาฮารา (Mangarahara river) ในมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นแหล่งที่พบปลาชนิดนี้ครั้งแรก หากแต่การสร้างเขื่อนเป็นสาเหตุให้กระแสน้ำที่ปลาเหล่านี้อาศัยอยู่ต้องแห้งเหือด และเชื่อว่าตอนนี้ปลาชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว

ก่อนหน้านี้สวนสัตว์ในเยอรมนีเคยเลี้ยงตัวเมียไว้ แต่ความหวังในการขยายพันธุ์ปลาหายากนี้ก็มลายสิ้นเมื่อตัวผู้ฆ่าตัวเมียตาย

“มันเป็นเรื่องปกติมากๆ สำหรับปลาซิชลิด” ไบรอัน ซิมเมอร์แมน (Brian Zimmerman) ภัณฑรักษ์ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในสวนสัตว์ลอนดอนที่ประกาศหาคู่ให้ปลากล่าว พร้อมอธิบายว่า ในธรรมชาติของซิชลิดนั้นพวกมันจะฝึกคู่ในการปกป้องไข่และลูกๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พวกมันต้องต่อสู้กัน

หลังจากตระเวนหาตัวเมียตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วโลกแต่ก็ล้มเหลว ทางทีมจากสมาคมสัตววิทยาลอนดอน (Zoological Society of London) จึงตั้งความหวังว่าอาจจะมีใครสักคนที่เลี้ยงปลาตัวเมียชนิดนี้ไว้เป็นการส่วนตัว และหากใครเลี้ยงไว้ทางซิมเมอร์สันกล่าวว่า คนที่เลี้ยงจำเป็นต้องรู้ว่าซิชลิดไม่ใช่แค่ปลาสวยงามธรรมดา แต่เป็นปลาที่ก้าวร้าวอย่างยิ่ง โดยจัดเป็นปลาที่เก่งกาจชนิดนี้ ซึ่งต้องการพื้นที่โอ่อ่าพอสมควร ตัวผู้โตได้มากกว่าฝ่ามือของเรา และต้องการตู้เลี้ยงปลาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร 
  

หากแต่ด้วยอายุและความล้มเหลวในการค้นหาคู่ให้ปลาจากสวนสัตว์ทั่วโลก ทำให้ซิมเมอร์สันไม่มั่นใจในอนาคตของปลาชนิดนี้นัก เขาไม่คาดหวังอะไรมาก และบอกด้วยว่าวิกฤตของปลาน้ำจืดชนิดนี้เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก อีกทั้งน้ำที่ถูกผันไปเพื่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ทำให้ปลาหายไปเรื่อยๆ ซึ่งเขาคิดว่าอาจจะมีโอกาสเพียงน้อยนิดหรือไม่มีเลยที่ปลาชนิดนี้จะดำรงอยู่ต่อไปได้

สำหรับใครที่เลี้ยงซิชลิดตัวเมียไว้ สามารถส่งข้อมูลให้แก่ทีมสวนสัตว์ลอนดอนได้ที่ fishappeal@zsl.org
ปลาซิชลิดตัวเมียที่เป็นที่ต้องการเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ปลาชนิดนี้ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น