xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าจะไปดาวอังคาร...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองหากมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคาร (สเปซด็อทคอม)
ในอวกาศอันกว้างใหญ่เกินจะจินตนาการไหว มนุษย์เราออกเดินทางไปไกลสุดแค่...ดวงจันทร์ บริวารของโลกที่อยู่เคียงกันมานาน เราปรารถนาจะไปให้ไกลกว่านั้น และดาวอังคารเพื่อนบ้านที่ดูแสนจะแห้งแล้งคือเป้าหมายต่อไปที่เราจะไปเยือน...แต่เราจะไปกันได้ง่ายแค่ไหน?

นักลงทุนชาวดัตช์ทำในสิ่งที่หลายคนอาจมองว่าเพ้อเจ้อด้วยการประกาศรับสมัครผู้บุกเบิกไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารในโครงการมาร์สวัน (Mars One) ซึ่งหลังเปิดรับสมัครไม่ถึงสองสัปดาห์ก็มีผู้คนจากทั่วโลกเกือบแสนคนในกว่า 120 ประเทศยื่นใบสมัครแล้ว โดยโครงการตั้งเป้าส่งผู้ได้รับคัดเลือกชุดแรกจำนวน 4 คนไปเยือนดาวแดงแบบ “ไปไม่กลับ” ในปี 2023

หากแต่ผู้สมัครต้องเสียค่าใช้จ่ายระหว่าง 150 บาท ถึง 2,250 บาท ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของประเทศบ้านเกิดผู้สมัคร เมื่อเปิดรับสมัครแล้วคณะกรรมการตรวจสอบจะคัดเลือกผู้เข้ารอบ 50-100 คน จาก 300 ภูมิภาคทั่วโลก ตามการจำแนกของมาร์สวัน และในปี 2015 ผู้เข้ารอบจะถูกคัดให้เหลือ 28-40 คน จากนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อเข้ารับการฝึกเป็นเวลา 7 ปีสำหรับภารกิจ “ตีตั๋วเที่ยวเดียว” สู่ดาวอังคาร ก่อนคัดเอาตัวแทน 4 คนแรกเดินทางสู่ดาวเพื่อนบ้าน

สิ่งที่น่าสนใจคือบริษัทเอกชนที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการอวกาศ แต่ประกาศส่ง “หน่วยกล้าตาย” ไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารที่ไม่มีทรัพยากรเพื่อการยังชีพใดๆ นั้น มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากแค่ไหน ที่จะเกื้อหนุนให้ 4 ชีวิตใช้ชีวิตที่เหลือต่อไป ตลอดจนเพิ่มจำนวนประชากรและขยายอาณาจักรต่อไป...มาดูกันว่าเขาเตรียมเทคโนโลยีอะไรไว้ให้บ้าง?







ส่องเทคโนโลยีไปดาวอังคารของมาร์สวัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์โครงการมาร์สวันระบุว่า เทคโนโลยีสำหรับนำผู้บุกเบิกไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารนั้น ทางมาร์สวันจะไม่ผลิตเทคโนโลยีเอง แต่จะใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการทดสอบและมีผู้ผลิตอยู่แล้ว โดยจรวดที่นำส่งขึ้นสู่อวกาศจะใช้จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (Space X) ส่วนยานนำส่งไปดาวอังคารนั้นจะมี 2 ส่วนคือส่วนขับดันและส่วนผู้โดยสาร

สำหรับยานลงจอดจะใช้แคปซูลดรากอน (Dragon) ของสเปซเอ็กซ์ที่ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี 2012 แต่ยานที่ลงจอดบนดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และต้องมี 5 ส่วนที่สำคัญคือ

1.หน่วยดำรงชีพ ซึ่งต้องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า น้ำ และอากาศอยู่ภายใน
2.หน่วยเสบียงที่ต้องจุอาหาร ส่วนซ่อมบำรุงและส่วนประกอบเล็กๆ อื่น
3.หน่วยนั่งเล่น ที่ประกอบด้วยส่วนที่พองได้เมื่อสัมผัสผิวดาวอังคารเพื่อเป็นห้องนั่งเล่น
4.ยานสำรวจสำหรับมนุษย์เพื่อท่องไปบนพื้นผิวดาวอังคาร
5.ยานโรเวอร์สำหรับขับเคลื่อนไปบนดาวอังคาร ซึ่งเป็นยานกึ่งอัตโนมัติ อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ และใช้เป็นยานเพื่อค้นหาตำแหน่งที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานมากที่สุด และเพื่อขนส่งอุปกรณ์หนัก

นอกจากนี้ยังมีชุดใส่บนดาวอังคาร ที่ต้องสวมเมื่อสัมผัสกับบรรยากาศของดาวอังคาร คล้ายชุดของมนุษย์อวกาศในโครงการอพอลโล (Apollo) ที่สวมขณะอยู่บนดวงจันทร์ ส่วนการสื่อสารจะใช้การส่งสัญญาณวิทยุไปยังดาวเทียมสื่อสารที่โคจรรอบดาวอังคารแล้วส่งกลับมายังโลก โดยมาร์สวันอ้างว่าได้เข้าหาบริษัทด้านการอวกาศทั่วโลกหลายแห่งเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการนี้ รวมถึงบอกความต้องการเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ต้องการใช้ ซึ่งตอนนี้มีผู้ผลิตอย่างน้อย 1 รายที่เหมาะสม

พิจารณาจากระยะเวลาโครงการและความพร้อมของมาร์สวันเทียบกับโครงการอวกาศอื่นๆ แล้ว ชวนให้สงสัยว่าที่สุดแล้วโครงการนี้จะส่งคนไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารได้จริงหรือไม่ เพราะนอกจากต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากผู้ผลิตรายอื่นแล้ว การสำรวจอวกาศในแต่ละเป้าหมายล้วนต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร

ตัวอย่างเช่น การส่งต่อเทคโนโลยีขนส่งอวกาศจากรัฐสู่เอกชนของสหรัฐฯ หลังจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ปลดระวางฝูงบินกระสวยอวกาศ (space shuttle) ยังมีช่องว่างระหว่างรอยต่อให้เอกชนมีเวลาพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับช่วงภารกิจ ซึ่งเอกชน 2 รายที่ทำสัญญากับนาซาเพิ่งมีรายเดียวที่เริ่มภารกิจขนส่งสัมภาระสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ขณะที่อีกรายเพิ่งประสบความสำเร็จในเที่ยวบินทดสอบ ส่วนองค์กรอวกาศก็หันไปทุ่มกับพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจดาวอังคารและดาวเคราะห์ต่อไป






ไม่ใช่แต่เทคโนโลยีแต่จิตใจก็ต้องพร้อม
แม้แต่การเตรียมพร้อมจิตใจของลูกเรือที่ต้องเดินทางไกลสู่ดาวแดงก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า การต้องห่างจากสภาพที่คุ้นเคยบนโลกและอยู่ภายในที่แคบอย่างยานอวกาศนานเป็นปีนั้นจะส่งผลต่อจิตใจและสุขภาพของมนุษย์อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ทางอดีตคู่แข่งอวกาศของสหรัฐฯ อย่างรัสเซียก็ได้จับมือกับสภาพยุโรปและจีนตั้งโครงการมาร์ส 500 (Mars 500) เพื่อทดสอบการใช้ชีวิตอยู่ภายในยานจำลองและจำลองการเดินทางไปสำรวจดาวอังคารจริง

ในโครงการมาร์ส 500 ซึ่งโครงการเสร็จสิ้นไปเมื่อปี 2011 มีมนุษย์ 6 คนที่ถูกขังอยู่ภายในห้องขนาด 550 ลูกบาศก์เป็นเวลา 520 วัน และเมื่อการเดินทางเข้าสู่ระยะของดาวอังคาร การสื่อสารกับโลกภายนอกก็จะถูกหน่วงเวลาให้เหมือนสภาพจริงที่คลื่นวิทยุเดินทางจากดาวอังคารมายังโลก ซึ่ง ดิเอโก เออร์บินา (Diego Urbina) หนึ่งในลูกเรือเคยตอบคำถามทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า บางครั้งก็รู้สึกเบื่อๆ เหมือนกัน แต่ด้วยภารกิจที่กำหนดมาเป็นตารางทำให้พวกเขามีอะไรต้องทำ จนไม่มีเวลาใคร่ครวญกับความเบื่อหน่าย

แม้แลดูภายนอกแล้วพวกเขามีสุขภาพดี แต่จากการศึกษาของวิทยาลัยแพทย์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania School of Medicine) พบว่าพวกเขามีปัญหาการนอน เนื่องจากสภาพการนอนและการตื่นที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการใช้ชีวิตระหว่างวันที่ไม่เหมือนเดิมทำให้พวกเขากลับได้ลำบากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบแง่เดียวของการแยกขาดจากโลกภายนอก ยังไม่รวมถึงปัญหาจริงที่มนุษย์อวกาศต้องเผชิญกับรังสีคอสมิค และการสูญเสียมวลกระดูกเนื่องจากอยู่ในภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ดี การเดินทางไปเยือนดาวอังคารยังเป็นเป้าหมายที่หลายประเทศมุ่งพิชิต ซึ่งหนึ่งในฮีโร่ดวงจันทร์อย่าง บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) มนุษย์คนที่ 2 ผู้เหยียบดวงจันทร์ในโครงการอพอลโลของนาซาตามหลัง นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ผู้ล่วงลับไม่กี่นาทียังมองว่า การไปเยือนดาวอังคารนั้นเป็นอนาคตของมนุษยชาติ และเราควรลงหลักปักฐานที่นั่นด้วย

ทั้งนี้ บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำหนดเป้าหมายให้นาซาส่งคนไปเยือนดาวอังคารในปี 2030 ซึ่งแม้จะเป็นเพียงโครงการส่งคนไป-กลับ แต่องค์การอวกาศที่มีประสบการณ์ส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 1969 แล้วยังยอมรับว่ามีเวลาไม่มากที่จะวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับภารกิจดังกล่าว โดยที่ ชาร์ลส โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการของนาซากล่าวว่า การส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคารไม่ใช่เป้าหมายที่สูงเกินไป ซึ่งตอนนี้เรามาถึงจุดที่จะต้องก้าวไปเยือนดาวเคราะห์ดวงอื่นแล้ว







พาไปแล้วต้องนำกลับ
อย่างไรก็ดี ดัค คุก (Doug Cooke) อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการปฏิบัติการสำรวจอวกาศของนาซา และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาบริษัทการบินอวกาศ ให้ความเห็นแก่ทางสเปซด็อทคอมว่า การส่งมนุษย์อวกาศไปดวงจันทร์นั้นต้องอาศัยภารกิจอย่างน้อย 3 อย่าง อย่างแรกคือการส่งมนุษย์ไปและกลับจากดาวอังคาร อย่างที่สองคือการสร้างสถานที่ให้มนุษย์อาศัยอยู่บนพื้นผิวดาวอังคารได้ และอย่างสุดท้ายคือการส่งยานขึ้นจากพื้นผิวดาวอังคารเพื่อนำมนุษย์อวกาศกลับบ้าน

ในการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารต้องนำส่งอุปกรณ์ต่างๆ หนักรวม 200-400 ตัน จากพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นน้ำหนักราวๆ สถานีอวกาศนานาชาติ (ซึ่งทยอยสร้างและส่งชิ้นส่วนสำคัญขึ้นไปทีละอย่าง) และยังต้องส่งสัมภาระอย่างน้อย 40 ตันลงพื้นผิวดาวอังคาร ในขณะที่ประสบการณ์สูงสุดที่นาซาเพิ่งทำสำเร็จคือการส่งยานคิวริออซิตี (Curiosity) หนัก 1 ตันลงจอดพื้นผิวดาวแดงเมื่อปีที่ผ่านมา

การเข้าสู่บรรยากาศดาวอังคาร ร่อนและลงจอดนั้นคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดของภารกิจ และสิ่งที่ยากที่สุดอีกอย่างคือการนำมนุษย์อวกาศกลับบ้าน ซึ่ง ไมค์ ราฟเทอรี (Mike Raftery) ผู้อำนวยการด้านการใช้ประโยชน์สถานีอวกาศ และการสำรวจอวกาศจากโบอิง (Boeing) และเป็นคู่สัญญารายแรกๆ ของนาซาในการผลิตจรวดเพื่อขนส่งสัมภาระหนักไปยังดาวอังคารให้ความเห็นว่า การนำมนุษย์อวกาศทะยานขึ้นจากพื้นผิวดาวอังคารเป็นสิ่งท้าทายที่สุดสำหรับเขา ซึ่งเราต้องสร้างฐานปล่อยจรวดบนดาวอังคารล่วงหน้า สำหรับรองรับภารกิจนำลูกเรือกลับมายังโลกในอนาคต

ทรัพยากรยังชีพพร้อมไหม?
นอกจากนี้ ลูกเรือในภารกิจพิชิตดาวอังคารยังต้องนำเครื่องยังชีพทั้ง ยา อาหาร ระบบสื่อวาร และอุปกรณ์นำทางติดตัวไปด้วย แต่ใช่ว่าจะนำไปได้ทุกอย่าง บางสิ่งต้องหยิบฉวยจากบนดาวอังคารด้วย เช่น น้ำสำหรับดื่ม ออกซิเจนสำหรับหายใจ และอื่นๆ ที่จำเป็น แต่สเปซด็อทคอมระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสกัดเอาทรัพยากรเหล่านั้นบนดาวอังคารมาใช้ประโยชน์ได้ (นาซาเพิ่งพบร่องรอยว่าอาจจะมีน้ำเท่านั้น)

อีกทั้งวิศวกรยังต้องพัฒนาเกราะกำบังเพื่อปกป้องมนุษย์อวกาศจากรังสีในอวกาศ ทั้งระหว่างการเดินทางสู่ดาวอังคาร และระหว่างอยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งดาวอังคารนั้นขาดบรรยากาศที่แกร่งพอจะปกป้องสิ่งมีชีวิตจากอนุภาคที่เป็นอันตราย และการนำมนุษย์ลงจอดพื้นผิวดาวเพื่อนบ้านจำเป็นต้องมีปฏิบัติการกรุยทางก่อน ซึ่ง จอห์น กรันเฟล์ด (John Grunsfeld) ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าวว่า เราอาจต้องส่งยานลงจอด (lander) หรือยานโรเวอร์ไปเยือนจุดที่เราต้องการส่งมนุษย์ล่วงหน้าไปก่อน

แม้แต่นาซายังยอมรับว่าภารกิจทั้งหมดที่จำเป็นต้องการนำส่งมนุษย์ไปและกลับดาวอังคารนั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ และพวกเขามีเวลาอันกระชั้นที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคารในปี 2030 หากแต่บริษัทซึ่งไม่มีทั้งเทคโนโลยีและประสบการณ์อย่างมาร์สวันยังประกาศส่งคนไปสร้างอาณาจักรในปี 2023 งานนี้ไม่ต้องลุ้นก็พอจะมองออกว่าใครจะเป็นฝ่ายประสบความสำเร็จก่อน







บัซ อัลดรัน บอกว่าอนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่ดาวอังคาร (สเปซด็อทคอม)
ภาพหนึ่งในสมาชิกมาร์ส 500 ขณะหลับ ซึ่งต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์การนอนหลับ (Mars500)
กำลังโหลดความคิดเห็น