xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอเลื่อนบัญชีจระเข้ไทยไม่ผ่านโหวตไซเตส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงชี้แจงความพยายามของไทยในการอนุกรักษ์จระเข้ และความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์จระเข้
ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้ทั้งสายพันธุ์น้ำจืดและสายพันธุ์น้ำเค็มไม่ผ่านโหวตในที่ประชุมไซเตส ด้านอเมริกาเสียงแข็งตั้งธง “ไม่เอาแน่” แม้จะ “โหวตลับ” ก็พร้อมแสดงตัวว่า “โหวตโน” ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอีกหลายชาติเข้าข้างไทย เพราะเห็นว่าเพาะขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

จากการลงมติสนับสนุนข้อเสนอของไทยในการเปลี่ยนบัญชีจระเข้น้ำจืดและน้ำเค็มสายพันธุ์ไทย จากบัญชี 1 ที่ห้ามซื้อขายเด็ดขาดลงมาอยู่บัญชี 2 เฉพาะจระเข้ที่เพาะเลี้ยงได้ ภายในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (CITES CoP16) ระหว่าง 3-14 มี.ค.56 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กรณีจระเข้น้ำจืดผลการลงคะแนนมีผู้เห็นด้วยต่อข้อเสนอ 69 เสียง และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 49 เสียง และงดออกเสียง 11 เสียง ซึ่งจำนวนเสียงเห็นด้วยที่มากกว่านี้ ยังไม่ถึง 2 ใน 3 ของเสียงจากตัวแทนประเทศ 177 รัฐบาล ทำให้ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดไม่ผ่านมติสนับสนุน

ส่วนกรณีจระเข้น้ำเค็มนั้นไทยเสนอของเปลี่ยนวิธีโหวตเป็นการออกเสียงในทางลับหรือ “โหวตลับ” เนื่องจากไทยมีเสียงสนับสนุนมากกว่า 10 เสียง ซึ่งมีผู้สนับสนุนข้อเสนอของไทย 61 เสียง ไม่สนับสนุน 54 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำเค็มจึงไม่ผ่านมติสนับสนุน

ทั้งนี้ ไทยสามารถเพราะขยายพันธุ์จระเข้น้ำจืดและน้ำเค็ม โดยมีอยู่ในฟาร์มเลี้ยง 700,000 ตัว เป็นจระเข้น้ำจืด 600,000 ตัว และจระเข้น้ำเค็ม 100,000 ตัว ซึ่งตัวแทนจากไทยพยายามนำเสนอว่า การเพาะเลี้ยงมีประชากรมากเพียงพอ จึงไม่ต้องเข้าไปล่าจากในธรรมชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี และมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

นอกจากนี้ นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังชี้แจงด้วยว่าด้วยว่าไทยพยายามเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนจระเข้ในธรรมชาติ และหาแหล่งที่อยู่ใหม่ในธรรมชาติให้แก่จระเข้ ซึ่งแหล่งที่อยู่เหล่านั้นอยู่อุทยานแห่งชาติที่มีกฎหมายเข้มงวดในการห้ามล่าสัตว์

ทั้งนี้ มีหลายประเทศที่มีท่าทีเห็นด้วยในข้อเสนอของไทย เช่น บราซิล คองโก เซเนกัล โดยตัวแทนจากกาตาร์เห็นด้วยกับข้อเสนอของไทย พร้อมให้ความเห็นมีโอกาสไปเยี่ยมชมฟาร์มจระเข้หลายแห่ง และยอมรับในการเทคโนโลยีเพาะขยายพันธุ์ของไทย

ขณะที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย โดยในช่วงโหวตลับสหรัฐฯ ก็ประกาศว่าแม้เป็นการลงคะแนนเสียงแบบไม่เปิดเผย แต่ตัวแทนก็ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับไอร์แลนด์ที่ประกาศว่าเป็นตัวแทนจากประเทศในสหภาพยุโรป 28 ประเทศ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของไทย และชี้ว่าการศึกษาผลกระทบต่อจระเข้ป่าของไทยยังไม่ชัดจน

ส่วนญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับไทย แต่มีท่าทีประนีประนอมกว่า โดยบอกว่ายินดีกับความสำเร็จของไทยในการเพาะขยายพันธุ์จระเข้ แต่ยังกังวลว่าประชากรจระเข้ในธรรมชาติยังมีอยู่น้อย จึงอยากเห็นความพยายามในการเพิ่มจำนวนจระเข้ตามธรรมชาติสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ต่างเห็นด้วยกับไทย โดยกัมพูชาระบุว่า สนับสนุนไทยอย่างแข็งขัน ขณะที่เวียดนามเห็นด้วยและยินดีที่ไทยสามารถเพาะขยายพันธุ์จระเข้และหาแหล่งที่อยู่ใหม่ให้แก่จระเข้ได้ ด้านฟิลิปปินส์กล่าวว่าฟิลิปปินส์เองก็มีกฎหมายในการควบคุมการล่าจระเข้ที่เข้มงวดเช่นกัน

ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอนุรักษ์จระเข้ไทย ให้ความเห็นหลังข้อเสนอของไทยทั้ง 2 เรื่องไม่ผ่านมติที่ประชุมว่า แม้จะไม่ผ่านแต่ก็ดีเกินคาด บางประเทศที่ไม่เคยรู้จักยังโหวตให้การสนับสนุนไทย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี และยังให้ความเห็นที่เป็นแง่คิดแง่ที่ประชุมไซเตสว่า บางอย่างจะมองแค่ด้านชัววิทยาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองในแง่ผลกระทบต่อการอนุรักษ์ด้วย และไทยก็แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความพยายามในการอนุรักษ์จระเข้

ส่วนอธิบดีกรมประมง กล่าวว่าจะขอให้มีการเปิดโหวตเพื่อพิจารณาข้อเสนออีกครั้ง ซึ่งจะต้องได้รับคะแนนเสียง 1 ใน 3 เพื่อเปิดขอเสียงสนับสนุนของเสนออีกครั้ง เนื่องจากครั้งนี้เปิดการลงคะแนนของคณะกรรมการเพียงส่วนหนึ่ง โดยอีกส่วนหนึ่งแบ่งไปพิจารณาเรื่องพืช ดังนั้นในช่วงวันท้ายๆ ของการประชุมจะเปิดขอคะแนนเสียงจากตัวแทนทั้งหมดในที่ประชุมใหญ่ และจะขอคะแนนเสียงแบบเปิดเผย เนื่องจากผลการลดคะแนนแบบไม่เปิดเผย พบว่าได้คะแนนเสียงน้อยลง
ตัวแทนจากฟิลิปปินส์เห็นด้วยกับข้อเสนอปรับลดบัญชีจรเข้ของไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น