หลายท่านอาจไม่เคยทราบว่าคนไทยได้ของขวัญชิ้นใหญ่จากใต้ผืนดินไทยเป็น “สุสานไดโนเสาร์” ซึ่งถือเป็นขวัญที่ไม่ต้องรอให้ใครมาแจก แต่ต้องแลกด้วยการศึกษาและร่วมกาวิธีใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน จนคนอื่นเขาร่ำลือไกลว่า “เมืองไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใต้ดินมีไดโนสาร์เป็นต้นทุนการศึกษาไม่มีวันหมด”
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นายปรี๊ดมีโอกาสได้ไปเยี่ยม “แหล่งไดโนเสาร์ภูน้อย” ซึ่งแหล่งขุดไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตโบราณแห่งนี้อาจถือว่าเป็น “สุสานล้านปี” ที่น่าสนใจมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก ทั้งในด้านการศึกษา งานวิจัย และการท่องเที่ยวในอนาคต เพราะแหล่งขุดนี้มีทั้งฟอสซิลของปลา เต่า จระเข้ และไดโนเสาร์จำนวนมหาศาลนอนรอให้นักวิจัยขุดค้นอยู่ในภูเขาลูกหย่อมๆ ในเขตอ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ จากการขุดค้นเพียง 4 ปี ในพื้นที่ศึกษาไม่กี่ร้อยตารางเมตร ทีมนักวิจัยบรรพชีวินก็ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์โบราณนอนเรียงรายอยู่เกือบ 1,000 ชิ้น และเมื่อใดที่ขุดพบชิ้นหนึ่งก็จะพบชิ้นถัดไป ซึ่งอาจเป็นของไดโนเสาร์อีกตัวนอนรอให้ตามสืบค้นแทบทุกวัน จน ดร.วราวุธ สุธีธร นักวิจัยไดโนเสาร์รุ่นบุกเบิกของไทยถึงกับออกปากว่า “หลุมขุดที่ภูน้อยมันยิ่งใหญ่นะ..ผมขุดไดโนเสาร์มา 30 ปี ที่นี่อาจจะเป็นที่ที่เราพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากที่สุดของไทย มีอายุเก่าแก่กว่าที่เราเคยพบ ที่สำคัญอาจจะเป็นชนิดใหม่ของโลกเกือบทั้งหมดก็ได้!”
ทำไมต้องตื่นเต้น? เจอสุสานไดโนเสาร์แล้วยังไง? การที่ไดโนเสาร์หรือสัตว์โบราณมานอนตายมากมายก่ายกองในที่ๆ เดียวถือว่าเป็นเรื่องแปลกไหม? สำหรับนักวิจัยไดโนเสาร์หรือแม้แต่นักชีววิทยา ถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่สุด เพราะการที่ขุดเปิดหน้าดินตรงไหนไปก็เจอฟอสซิลนั้นเปรียบเหมือนการเดินเข้าร้านบุฟเฟต์ที่มองไปทางไหนก็มีแต่อาหารละลานตา เนื่องจากการพบ “Bone Bed หรือ สุสานไดโนเสาร์” แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้อาจจะเคยเป็นแอ่งน้ำหรือปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่พัดพาเอาตะกอนอันอุดมด้วยซากพืชซากสัตว์มาสะสมไว้
เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดการแทนที่ของแร่ธาตุจนกระดูกเหล่านั้นแข็งจนคล้ายหิน และเมื่อมีตะกอนชั้นใหม่ถูกพัดมาทับถมกันไปเรื่อยๆ ก็จะมีลักษณะเหมือน “ขนมชั้น” ที่ฝังกระดูกสัตว์ในแต่ยุคไว้จนเหมือนสมุดบันทึกทางกาลเวลา ที่รอให้นักวิจัยใช้เป็นหลักฐานในการไล่เรียงเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ แถมยังสามารถแสดงสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคได้ชัดเจนเพราะชั้นหินที่ถัดกันเพียงไม่กี่เซนติเมตรอาจจะแสดงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตและสภาพแวกล้อมของโลกได้ในหลักแสนปีหรือล้านปีทีเดียว
ที่สำคัญที่สุดก็ คือ “bone bed หรือสุสานไดโนเสาร์” ในลักษณะนี้พบได้ยากมาก เพราะก่อนหน้านี้ bone bed ที่มีชื่อเสียงพบได้ในอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ส่วนที่ใกล้บ้านเรา คือ ประเทศจีนซึ่งพบสุสานหลายแห่งไล่ไปถึงในทะเลทรายโกบีของมองโกเลีย ดังนั้นสำหรับคนไทยการพบสุสานไดโนเสร์แห่งนี้อาจเปรียบเสมือนการค้นพบ “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” ที่ไม่ใช่กองหินไร้สาระอย่างที่หลายคนคิด แต่สามารถแปลงเป็นต้นทุนทางการศึกษาของต้นกำเนิดอันหลากหลายของสิ่งมีชีวิต การเปรียบเทียบเปลี่ยนแปลงของโลกที่คาดเดาได้ยาก และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษกิจจากการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นได้ในอนาคต
เรื่อง “แหล่งไดโนเสาร์ภูน้อย” อาจถือว่าไม่ใช่ข่าวใหม่ เพราะมีการเปิดตัวกันไปตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งขณะนั้นมีแนวโน้มว่าจะพบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากจนทางอำเภอและจังหวัดบรรจุในแผนการท่องเที่ยวไปเรียบร้อยแล้ว จนขณะที่นานปรี๊ดไปเยือนก็พบว่ามีป้ายนำทาง และศาลาพักก่อนขึ้นไปเยี่ยมหลุมขุดสร้างรอรับนักท่องเที่ยวไว้อยู่แล้ว แต่เรื่องที่เรามักคิดว่าควรจะปล่อยให้ป็นหน้าที่ของนักวิจัยจนใส่ใจกันน้อยไปหน่อย คือ “คุณค่าทางการศึกษา” ที่อาจจะไม่สามารถจับต้องได้เหมือนเหรียญเหมือนแบงค์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ที่เสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เติมความรู้ไว้ทำกินบนฐานทรัพยากรของตนเองได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของแหล่งขุดภูน้อยนั้นเกิดจาก “พี่ทองหล่อ” ชาวบ้านแท้ๆ ที่มีอาชีพทำไร่ไถนาอยู่ข้างภูน้อย ได้เดินไปเจอวัตถุคล้ายกระดูกถูกฝังไว้บนภู หลังจากที่พยายามเล่าให้เพื่อนบ้านและผู้ใหญ่ระดับท้องถิ่นฟังก็ถูกหาว่าบ้า! คงเป็นแค่กระดูกวัวกระดูกควายนั่นแล้ว! จนพี่ทองหล่อได้พบเกล็ดขนาดใหญ่ สีดำมันขลับ จากคนที่ไม่สนใจก็เริ่มสนใจมากขึ้น เบื้องต้นทุกคนยังเชื่อว่าเป็น “เกล็ดพญานาค” ซึ่งเมื่อถูกส่งถึงมือผู้เชื่ยวชาญที่กรมทรัพยากรธรณีฯ ก็ระบุได้ทันทีว่าคือ “เกล็ดปลาโบราณ” ซึ่งมีลักษณะพิเศษคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน การขุดค้นครั้งแรกบนภูน้อยจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น
จากการเริ่มต้นด้วยเกล็ดปลาโบราณ ณ ตอนนี้หากพี่หล่อทองหล่อว่างเว้นจากภารกิจเกษตรกรก็จะสวมบทเป็น “ทีมขุดไดโนเสาร์” ที่ได้ร่วมเรียนรู้เรื่องราวจากทรัพยกรข้างบ้าน เมื่อมีนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านจากหมูบ้านรอบๆ มาเยี่ยมชม พี่ทองหล่อก็มีหน้าที่อธิบายวิธีการขุดและเรื่องราวความเป็นมา จนถือเป็น “นักวิจัยท้องถิ่น” เต็มตัวไปแล้วคนหนึ่ง
ต่อมาเกล็ดปลาปริศนาก็ถูกต่อให้ ดร.อุทุมพร ดีศรี นิสิตลูกหม้อของมหาวิทยาลัยมหาสารคามทำวิจัยจนจบปริญญาเอกซึ่งเธอได้ตั้งชื่อว่า “อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi)” เพื่อเป็นเกียรติกับ นายเลิศบุศย์ กองทอง อดีตนายอำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ (ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง ที่อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม) ที่มีส่วนผลักดันการเปิดแหล่งขุดภูน้อย
ฟอสซิลปลาโบราณที่ค้นพบอยุ่ในยุคจูแรสสิกตอนปลายมีอายุประมาณ 150 ล้านปีก่อน โดยถือเป็นการปลดล็อคปริศนาการจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งโบราณให้กระจ่างมากขึ้นในระดับโลก เพราะเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการแพร่กระจายของปลาโบราณที่เริ่มต้นจากทวีปเอเชียและแพร่กระจายเป็นยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่สำคัญคือปลา อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี เป็นสัตว์โบราณเพียงชนิดแรกที่ถูกตั้งชื่อจากแหล่งขุดภูน้อย ยังมีปลา เต่า จระเข้ ตะโขง และไดโนเสาร์อีกหลายชนิดที่ยังนอนรอให้นักวิจัยและชาวไทยเรียนรู้ และเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ของสิ่งมีชีวิตโบราณที่อาจจะเป็นความรู้ใหม่ “ในระดับโลก” อีกนับไม่ถ้วน
นอกจากผลประโยชน์ทางงานวิจัยแล้ว เมื่อมองการศึกษาที่ส่งลงสู่ระดับท้องถิ่นก็ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย เพราะไม่ใช่เพียง “พี่ทองหล่อและ ดร.อุทุมพร” ซึ่งเป็นตัวอย่างบุคคลที่ได้ร่วมเรียนรู้และใช้สุสานเพื่อการศึกษาโดยตรง แต่สุสานไดโนเสาร์แห่งนี้ยังเป็นที่ฝึกปฏิบัติของ “ครู” อีกนับร้อยท่าน
เนื่องจากทางกรมทรัพยการธรณีฯ ได้มีโครงการ “คุรุวิจัย” โดยมีคุณครูจากโรงเรียนประถมและมัธยมในภาคอีสานมาร่วมถอดองค์ความรู้และกระบวนการวิจัยทางธรณีวิทยาและบรรพชีวิน จากพิพิธภัณฑ์และแหล่งขุดต่างๆ เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาปี 2551 ที่แยกวิชาธรณีวิทยาและดาราศาสตร์ออกมาต่างหากในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ การเติมเต็มทักษะความความรู้พื้นฐานจากแหล่งเรียนรู้ใกล้ๆ สถานศึกษาจึงถือเป็นการใช้ประโยชน์ของแหล่งขุดค้นทางบรรพชีวินเพื่อส่งผ่านองค์ความความรู้ผ่านคุณครูลงไปถึงนักเรียนในท้องถิ่นได้โดยตรง
นอกจากนั้นทางศูนย์วิจัยและศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ได้เริ่มต้นโครงการ "ยุวมัคคุเทศก์น้อยแห่งหุบเขาไดโนเสาร์" ในชุดโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน เนื่องจากในอนาคตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีโครงการจะก่อตั้ง “สถานีฝึกปฏิบัติการทางด้านบรรพชีวินและวิวัฒนาการ” ในบริเวณภูน้อย เพื่อเป็นแหล่งศึกษา วิจัย และแหล่งเรียนรู้ของผู้คน การนำเด็กๆ ระดับมัธยมมาฝึกนำชมแหล่งขุดใกล้โรงเรียนจึงมีประโยชน์ เผื่อวันข้างหน้าพวกเขาอาจจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พัฒนาการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง
หากใครสนใจเป็นอาสาสมัครทางทีมนักวิจัยทั้งจากศูนย์วิจัยและศึกษาบรรพชีวินฯ และกรมทรัพยกรธรณีก็ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมโครงการ “อาสาสมัครคนรักษ์ไดโนเสาร์” ตั้งแต่รุ่นเล็กวัยอนุบาลไปจนถึงคนวัยเกษียณอายุ ไปร่วมขุดค้นและเรียนรู้จากสุสานล้านปีนี้เป็นระยะๆ ด้วยเช่นกัน
ในอนาคตการศึกษาฟอสซิลสัตว์มากมายในสุสานโบราณแห่งนี้ อาจจะไม่ได้มีประโยชน์ในระดับประเทศเท่านั้น แต่อาจจะเผื่อแผ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีก เพราะในปัจจุบันมีการขุดพบฟอสซิลสัตว์โบราณและไดโนเสาร์ทั้งในพม่า ลาว และเวียดนาม แต่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศดังกล่าว ดังนั้นหลายประเทศรอบบ้านเราจึงเริ่มส่งนักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย
ล่าสุดที่ศูนย์วิจัยและศึกษาบรรพชีวินฯ ก็เริ่มมีนักนักศึกระดับปริญญาโทและเอกชาวลาวและกัมพูชาเข้ามาศึกษาแล้ว หรือในทางกลับกันในวันข้างหน้าที่เราเริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจอาเชียน ประเทศไทยอาจ “ส่งออก” นักวิจัยไดโนเสาร์นำรายได้เข้าประเทศเหมือนกับที่เราส่งออกวิศวกรปิโตรเลียม และนักสำรวจทางธรณีอย่างในปัจจุบันก็เป็นได้ หากมีการส่งเสริมและจัดการที่ดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน วันหนึ่งประเทศไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยไดโนเสาร์ และบรรพชีวินที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นได้ เพราะปัจจุบันเรามีแหล่งขุดหลายแห่ง มีองค์ความรู้สะสม และมีกำลังคนในสายวิจัยนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคง
ซากไดโนเสาร์จึงไม่ใช่เพียงก้อนหิน แต่คือทรัพยากรธรณีที่มีค่า เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจจากไดโนเสาร์เพื่อการท่องเที่ยวนั้นสร้างได้ไม่ยาก ดังได้พิสูจน์ความสำเร็จจากแหล่งขุดอื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สิรินธรที่พัฒนาจากแหล่งขุดภูกุ้มข้าว พิพิธภัณฑ์ภูเวียงจากแหล่งขุดภูเวียง ไปจนถึงรูปปั้นไดโนเสาร์ข้ามถนน ตู้ไปรษณีย์ เสาไฟถนน ป้ายห้องน้ำ หรือวงเวียนไดโนเสาร์ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในแหล่งท่องเที่ยวทั้งในจ.ขอนแก่น และจ.กาฬสินธุ์ล้วนได้พิสูจน์แล้วว่าไดโนเสาร์นั้น “ขายได้” เสมอ
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ผลการศึกษาจากสุสานล้านปีก็เป็นเสมือนการเสริม “คลังปัญญา” และเพิ่มพลังคนในท้องถิ่นให้มองเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวพร้อมรับประโยชน์ที่เป็นมูลค่าทางเศรฐกิจที่จะตามมา บทเรียนจากสุสานล้านปีจึงอาจบอกเราได้ว่าหากเราเริ่มต้นจากการสร้างคุณค่าทางการศึกษาบนฐานทรัพยกรใกล้ตัว ซึ่งจะเชื่อมต่อสู่การพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาคนในท้องถิ่น และการต่อยอดทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นในลำดับถัดไป
หากองค์ความรู้พื้นฐานถูกมองว่าไร้สาระมุ่งแต่การพัฒนาเทคโนโลยี หรือการดำเนินการขาดการมีส่วนร่วมจากสังคมและชุมชน ก็เหมือนการพากันเดินบนโคลนที่ยวบยาบและอาจมีหลุมบ่อที่เป็นกับดักทางความคิดที่มองไม่เห็น จนล่อให้ตกลงไปโดยอาจจะไม่มีใครช่วยดึงขึ้นมาได้ในที่สุด
แม้ชุมชนใดจะไม่มีสุสานไดโนเสาร์อยู่ใต้ดินแต่หากมองทรัพยากรใกล้ตัว แล้วร่วมกันคิดร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และวางกระบวนการใช้ประโยชน์ให้ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำ สวนผลไม้ หาดทราย ป่าชายเลน อาคารโบราณ ฯลฯ ที่อยู่ใกล้ชุมชนหรือสถานศึกษา วันหนึ่งของธรรมดาใกล้ตัวอาจพลิกเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคิด
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประการวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...
สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์