เซาท์ไชน่ามอร์นิ่ง - ผู้ชมโทรทัศน์บนแผ่นดินใหญ่เพิ่งรู้จักชื่อนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวด 2 คนซึ่งมีส่วนในการพัฒนาจรวดลองมาร์ช หลังจากการตายถูกปกปิดเป็นความลับอยู่นานถึง 16 ปี
ในภาพยนตร์สารคดี ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือซีซีทีวีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา นายเหลียง เสี่ยวหง เลขาธิการพรรคประจำสถาบันศึกษาเทคโนโลยียานส่ง (Launch Vehicle Technology) ได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า มีเพื่อนร่วมงาน 2 คนเสียชีวิตไปในคราวมีการยิงจรวดลองมาร์ช 3 เป็นครั้งแรกและประสบความล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2539
“ขอพวกเราได้ร่วมไว้อาลัยแด่การเสียชีวิตของสหายเชียน จื้ออิง และสหายหยัง หลินเจิน ซึ่งได้หลั่งเลือดเพื่อบอกกับเราว่าคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญถึงขั้นเป็นตาย” นายเหลียงกล่าวในภาพยนตร์สารคดีชุดนี้
นายเหลียงกล่าวเมื่อเดือนมี.ค. ก่อนหน้าการยิงจรวดลองมาร์ช 3 ครั้งที่ 50 เพียงไม่กี่ชั่วโมง
ในภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ได้ฉายภาพเหตุการณ์ ขณะจรวดลองมาร์ช 3 ซึ่งบรรทุกเชื้อเพลิงกว่า 400 ตัน พุ่งไถลออกนอกวิถีการยิง และโหม่งพื้นดินใกล้กับเขตที่อยู่อาศัยที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชัง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) แล้วระเบิดแตกกระจายอย่างรุนแรง ทำให้บุคคลทั้งสองเสียชีวิตในที่นั้น
จรวดลองมาร์ชของจีน ซึ่งผลิตออกมาหลายรุ่นได้สร้างชื่อเสียงในประเทศว่า มีความปลอดภัยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ความมีชื่อเสียงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทางการ ที่ป่าวประกาศความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็แทบมิได้เอ่ยถึงความล้มเหลว และปกปิดเสียมากกว่า
ทั้วนี้ ผู้ก่อตั้งโครงการจรวดบนแดนมังกรคือดร.เฉียน เสวียเซิน ซึ่งพำนักในสหรัฐฯ และถูกกักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านนาน 5 ปี หลังจากเขาแสดงออกว่า เข้าข้างลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมา ดร.เฉียนได้ลงเรือจากนครลอสแองเจลิส เดินทางมายังเกาะฮ่องกงในปี 2498 และจีนได้ยอมปล่อยนักบินอเมริกัน ที่ถูกจับในสงครามเกาหลีทั้งหมด เพื่อให้ดร.ผู้นี้ได้กลับมายังมาตุภูมิ
ดร.เฉียนผู้นี้มีความเก่งกาจ โดยยังเป็นผู้ก่อตั้งโครงการจรวดของสหรัฐฯ คนหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ทำงานใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดของเยอรมนีอีกด้วย
ดร.เฉียนได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรหลายพันคนที่สถาบันฟิฟท์ (Fifth Institute) ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทรายโกบีในมณฑลกานซู่ โดยในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก และเผชิญปัญหาหลากหลาย เช่นความอดอยาก ไปจนถึงการขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ในที่สุดดร.เฉียนและเพื่อนร่วมงานก็สามารถพัฒนา “ ตัวไหม” (Silkworm) ซึ่งเป็นขีนาวุธพิสัยไกลลำแรกของประเทศได้สำเร็จ และเป็นพื้นฐานเทคโนโลยีในการสร้างจรวดลองมาร์ชในเวลาต่อมา ส่วนสถาบันฟิฟท์กลายมาเป็นสถาบันศึกษาเทคโนโลยีอวกาศของจีนในปัจจุบัน
จรวดลองมาร์ชลำแรกของจีนได้ส่งดาวเทียมดวงแรกจากแดนมังกรคือตงฟังหง 1ขึ้นสู่วงโคจรของโลกในระดับต่ำเมื่อปี 2513 เพื่อส่งกระจายเสียงเพลงเชิดชูเหมา เจ๋อตงไปทั่วโลกด้วยวิทยุคลื่นสั้น ท่ามกลางการโห่ร้องยินดีของชาวจีน ที่กำลังมีชีวิตอย่างสับสนวุ่นวายในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม
จากนั้นมา จีนก็ได้พัฒนาการออกแบบและการควบคุมคุณภาพของจรวดลองมาร์ชรุ่นหลัง ๆ โดยผ่านมาแล้วทั้งช่วงเวลาของความสำเร็จและความล้มเหลว กระทั่งสามารถกู้ชื่อเสียงในระดับนานาชาติและได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มในธุรกิจการส่งดาวเทียมสำหรับชาติกำลังพัฒนา เช่นไนจีเรีย ปากีสถาน บราซิล และลาว
ขณะนี้จีนยังกำลังพัฒนาจรวดลองมาร์ชรุ่นใหม่ ๆ เช่น ลองมาร์ช 5 ซึ่งบรรทุกดาวเทียมน้ำหนักมากได้ โดยรัฐบาลปักกิ่งหวังว่า จีนจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดส่งดาวเทียมระดับโลกจากในปัจจุบัน ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 4 เพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 15 ได้ภายในปี 2558