xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์โลกทไวไลท์...เมื่อสัตว์ต้องการเลือด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นกฟินช์แวมไพร์ (Vampire Finches: Geospiza difficilis septrionalis) แห่งเกาะกาลาปากอส กำลังจิกกินเลือดจากนกบูบี้ตีนฟ้าด้วยปากที่แหลมคมราวกับกรรไกรผ่าตัด นกฟินซ์ชนิดนี้เป็นนกไม่กี่ชนิดบนโลกที่กินเลือดเป็นอาหารนักวิทยาศาสตร์สันนิฐานว่าอาจเกิดจากการจิกกินพาราสิตที่รุนแรงขึ้น หรือมีสาเหตุจากการที่บนเกาะขนาดเล็กที่นกชนิดนี้อาศัยอยู่มีแหล่งน้ำจืดน้อยมาก (tumblr.com)
ขณะที่หนังเขี้ยวแวมไพร์ปะทะกล้ามท้องหมาป่ากำลังเป็นที่กรี๊ดกร๊าดในหมู่สาวๆ ทั่วโลก คุณเคยมีคำถามไหมว่าใครที่ต้องดำรงชีวิตด้วย “เลือด” บ้าง? แล้วเลือดนี่มันดียังไง ทำไมต้องแย่งกันกินจัง? เผื่อจะได้ตัดสินใจได้ว่าควรเอียงคอให้แวมไพร์ หรือหมาป่าขย้ำดี อิอิ

ตามตำนานสุดโหดของฝั่งตะวันตกมีเจ้าชายนักรบชาวโรมาเนียที่ชอบกินเลือดสดๆ ของศัตรูเพื่อความสะใจ และมีท่านหญิงเคาท์เต็สแห่งฮังกาเรียนทำตัวเป็นฆาตกรต่อเนื่องนำเลือดเด็กสาวมาอาบ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เป็นสาวสะพรั่ง ทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นมานมนานราวคริสตศตวรรษที่ 14-15 ส่วนนิยายและตำนานเรื่องผีดูดเลือดที่ถูกนำมาแต่งเติมเสริมความสนุกจนถึงปัจจุบันนั้นเริ่มเขียนกันเป็นตุเป็นตะราวคริสตศตวรรษที่ 18-19 และโด่งดังจนกระจายไปทั่วโลก ในเอเชียเราก็มีตำนานผีดูดเลือดกับเค้าเหมือนกัน ทั้งในจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยเราเองก็มีผีโป่งค่างที่ว่ากันว่าชอบกัดหัวแม่เท้าคนเดินป่าจนต้องนอนไขว้เท้า ตำนานปอบผีฟ้าแห่งอีสาน และผีปู่แสะย่าแสะแห่งเมืองล้านนาที่นิยมการสังเวยเลือดสดก็ยังมีให้เห็นอยู่ รายการตามข้างบนนี้ ใครสนใจลองไปค้นหาดูได้ทางอินเทอร์เน็ต เพราะนายปรี๊ดเขียนคอลัมน์วิทยาศาสตร์จะมาเล่าเรื่องหลอกผีกันคงไม่ใช่ที่ แถมลองค้นดูแล้วเรื่องเลือดๆ ผีๆ นี่มีให้อ่านเยอะกว่าที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หลายเท่านัก!

เรามาเข้าเรื่องวิทย์ๆ ของเรากันดีกว่า หากพูดถึง “สัตว์กินเลือด” ทางชีววิทยาก็มีคำศัพท์เฉพาะไว้เรียกเก๋ๆ ด้วย คือ “Hematophagy” โดยรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ “haima” แปลว่าเลือด และ “phagein” ที่แปลว่าการกิน ด้วยความที่เลือดเป็นของเหลวที่มีส่วนประกอบหลักๆ คือ น้ำเลือด และเม็ดเลือดที่ประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ ทำให้คุ้มค่ากับการที่สัตว์หลายชนิดจะหันมากินเลือดให้อยู่รอดได้ เพราะนอกจากจะย่อยง่ายแล้วยังได้สารอาหารไปเต็มๆ อีกด้วย ซึ่งเมื่อพูดถึงสัตว์ที่กินเลือดเป็นอาหาร หลายคนคงนึกถึงยุง ทากและปลิง แต่ในโลกของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าคุณจะหนีไปไหน ก็จะมีสัตว์จอมกระหายตามไปดูดเลือดคุณได้ทุกที่ เพราะแวมไพร์ที่มีชีวิตจริงพวกนี้มีทั้งแมลง หนอนตัวแบน ปลา นก ค้างคาว แม้แต่ผีเสื้อกลางคืนก็กินเลือดกับเค้าด้วย!

ยุงเป็นสัตว์ชนิดแรกที่คนมักจะนึกถึงเมื่อพูดถึงสัตว์กินเลือด ข้อมูลพื้นฐานที่เราทราบกันดีคือปกติแล้วยุงทั้งสองเพศจะกินน้ำหวานจากดอกไม้ แต่เมื่อถึงคราวต้องขยายเผ่าพันธุ์แม่ยุงสาวหวานก็จะกลายร่างเป็นนางยุงโหด ตามจิ้มเลือดสัตว์เลือดอุ่นซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเฉพาะในการสร้างไข่ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนแต่นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า เลือดที่ถูกย่อยจนกลายเป็นกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีนมีกรดอะมิโนตัวหนึ่งชื่อ ทรีโอนีน (Threonine) ที่เป็นโครงสร้างหลักของไข่ยุงจากหลักการนี้เองทำให้นักวิทยาศาสตร์ทดลองให้ยุงติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อวอลบาเชีย (Wolbachia) ทำให้ยุงลดความสามารถในการสร้างไข่ หรือมีอัตราการฟักไข่ที่ต่ำลง เนื่องจากแบคทีเรียขนิดนี้มีความต้องการทรีโอนีนมากจนสามารถแย่งชิงจากกระบวนการสร้างไข่มาได้ แต่น่าเสียดายที่ในธรรมชาติแบคทีเรียชนิดนี้มักติดเชื้อในแมลงวัน และตัวเรือดมากกว่า วิธีรบกับยุงที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่งที่ย้อนรอยนักกินเลือดอย่างได้ผล คือ การใช้สารชีวเคมีทำให้ระบบย่อยอาหารของยุงพังจนย่อยเลือดไม่ได้กินเสร็จก็นอนแอ้งแม้งบินต่อไมได้ ทั้งสองกระบวนการยังต้องรอนักวิทยาศาสตร์พัฒนาให้ใช้ได้จริงอยู่ ดังนั้น ในระหว่างนี้ท่านคงต้องดูแลตนเองกันจากโรคไข้เลือดออก มาลาเรียกันไปพรางๆ ก่อนเพราะเชื้อพวกนี้สามารถเพาะตัวเองในต่อมน้ำลายยุงได้แต่ยังหาทางแก้ไขในขั้นตอนนี้ได้ยาก ส่วนเรื่องการแพร่โรคอื่นๆ เช่น เอดส์นั้นไม่ต้องกลัวเพราะมีการศึกษาว่าปริมาณของเชื้ออันน้อยนิดที่ยุงดูดติดปากติดท้องไปนั้นไม่พอจะแพร่กระจายเชื้อผ่านระบบภูมิคุ้มกันของคนปกติได้นั่นเอง
ผีเสื้อมอทแวมไพร์ ในสกุล <i>Calyptra</I> ที่กินเลือดสัตว์เป็นอาหาร พวกมันมีปากที่พัฒนาเป็นหลอดดูดเหมือนกับผีเสื้อทั่วไป แต่โหดกว่าตรงที่หลอดดูดนี้ใช้ดูดเลือดไม่ใช่ดูดน้ำหวาน โดยตัวผู้จะเป็นเพศที่ดูดเลือด ตรงข้ามกับยุงที่ตัวเมียดูดเลือดเพื่อนำโปรตีนไปใช้สร้างไข่ (sciencedirect.com)
ส่วนทากและปลิงนั้นก็ไม่ได้กินแค่เลือด จริงๆ มันกินสัตว์ที่ตัวเล็กกว่าปากมันได้ด้วยแต่หากมีโอกาสก็กินเลือดดีกว่า ย่อยง่ายและสารอาหารเยอะจึงก็มีเรื่องน่าสนใจตรงวิธีกินเลือดนี่แหละ เพราะสัตว์ในกลุ่มนี้มีการปล่อยสารต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ชื่อว่า ฮีรูดิน (Hirudin) ซึ่งเป็นสารโปรตีนธรรมชาติที่พวกปลิงและทากจะปล่อยออกจากต่อมน้ำลายเพื่อให้เลือดที่ออกจากแผลที่กัดไม่แข็งตัวจนดูดกินได้สบายใจ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ในการรักษาโรคเลือดแข็งตัว และเส้นเลือดขอด ในระบบการรักษาแพทย์แผนโบราณมีการใช้ปลิงและทากในการดูดเลือดบางจุดของร่างกายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยและบำรุงร่างกายมายาวนานกว่า 2,000 ปี ถือว่าการหลั่งเลือดให้สัตว์มีประวัติคู่กับการรักษาโรคมานาน

เรามาดูสัตว์ที่ไม่คิดว่าจะกินเลือดกับเค้าบ้างว่ามีเหตุอะไรทำไมต้องกินเลือดด้วย ค้างคาวแวมไพร์จากทวีปอเมริกาดูเหมือนจะโด่งดังที่สุดในบรรดาสัตว์กินเลือด เพราะมันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่กี่ชนิดที่กินเลือดเป็นอาหาร เจ้าค้างคาวตัวเท่าถ้วยกาแฟนี้ทำตัวเหมือนแวมไพร์ในหนัง คือ บินไปในความมืด แล้วกัดเหยื่อซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น กวาง วัว หมูด้วยฟันแหลมเล็กและเลียกินเลือดที่ไหลออกมา มีรายงานว่าค้างคาวแวมไพร์บางตัวเลือกกัดเต้านมวัวและหมูและเลียเลือดขณะที่ลูกสัตว์กำลังดูดนมเพื่อพรางความเจ็บปวดจากการกัด (โหดไหมล่ะ)

อันดับถัดมา คือ นกฟินซ์แวมไพร์แห่งเกาะกาลาปากอส นกชนิดนี้รูปร่างเหมือนนกกระจาบตัวเล็กๆ แต่ที่ดูจะโหดเอาเรื่อง คือ อาหารหลักของมันนอกจากจะเป็น แมลงและเมล็ดพืชเหมือนนกน้อยทั่วไปแล้ว มันยังชอบซุกซ่อนตามซอกขนของนกบูบี้เพื่อจิกกินเลือดเป็นอาหารด้วย พฤติกรรมไม่ธรรมดานี้นักวิทยาศาสตร์ คาดว่า น่าจะพัฒนามาจากการช่วยกินปรสิตมาก่อนแล้วจึงพัฒนามาเป็นการจิกจนเลือดตกยางออก อีกเหตุผลหนึ่งคือบนเกาะที่นกชนิดนี้อยู่ไม่ค่อยมีแหล่งน้ำจืดการกินเลือดจึงเป็นแรงขับทางวัฒนาการอีกอย่างหนึ่ง สัตว์น่ารักที่หันมากินเลือดสดๆ

ชนิดสุดท้ายน่าจะเป็นผีเสื้อกลางคืน ในสกุล Calyptra ที่พบในมาเลเซีย ยุโรปตะวันออกไล่ไปจนถึงรัสเซีย ผีเสื้อกลางคืนสกุลนี้มีปากเป็นหลอดดูดที่ม้วนเก็บได้เหมือนผี้เสื้อทั่วไป แต่เมื่อทำงานกลับโหดยุงซะอีก เพราะหลอดดูดนี้เมื่อเจาะเข้าไปในผิวหนังเหยื่อยแล้วจะมีปลายแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกใช้ล็อคและส่วนที่สองใช้เจาะ แล้วใช้ความดันเลือดของเหยื่อดันเลือดเข้าปากสบายไป ยังไม่มีรายงานว่าทำไมผีเสื้อต้องกินเลือดแต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในโลกนี้มีผีเสื้อที่กินอาหารหลากหลาย มีทั้งที่รุมกินเลือด รุมตอมกินน้ำตาสัตว์ รุมกินซากสัตว์ ไปจนถึงรุมตอมอึ! จนภาพสวยใสของผีเสื้อกับดอกไม้อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้ต้องยิ้มเก้อๆ ไปบ้างเหมือนกัน
โรคโพรพีเรีย (Porphyria) หรือ โรคแวมไพร์ เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือดที่ขาดฮีมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง และมีผลต่อการซ่อมแซมตนเองของเซลล์ ซึ่งอาการของโรค คือ อาการทางประสาท ไวต่อแสง กลัวแสง เป็นแผลพุพอง นิ้วมือ ผิวหน้าและริมฝีปากเจริญผิดรูป (dermaamin.com)
แล้วในคนละกินเลือดสัตว์นี่มีประโยชน์อะไร ทำไมกินกันจริงจัง? จะว่าไปวัฒนธรรมการกินเลือดไม่ได้มีแต่ข้าวกั๋นจิ้น ลาบ หลู่ น้ำตก ซกเล็ก ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวเป็ดใส่เลือด แต่คนเรากินเลือดกันทั้งโลก ในแอฟริกาชนเผ่ามาไซซึ่งมีอาชีพหลัก คือ การทำปศุสัตว์กินเลือดวัวผสมนมสดๆ เป็นอาหาร ในยุโรปหลายชาติที่นำเลือดมาทำอาหาร ไส้กรอกที่สอดไส้ด้วยเลือด ไขมัน เนื้อและสมุนไพรดูจะเป็นอาหารที่นิยมทำกินทั่วโลกและมีสูตรหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งของ จีน เกาหลี เวียดนาม ไทย อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม สเปน โปรตุเกส ฯลฯ อาหารเช้าที่ทำจากเลือดชื่อแบล็คพุดดิ้งของอังกฤษที่ส่งถ่ายวัฒนธรรมไปสู่ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ก็เป็นอาหารที่ทำจากเลือดเช่นกัน นอกนั้นก็ยังมีแพนเค้กเลือดของสวีเดน และซุปเลือดของโปแลนด์เรียงแถวมาให้ชิมอีกหลายเมนู จริงๆ แล้วเมื่อพิจารณาถึงสารอาหารในเลือดพบว่าสารอาหารหลักๆ ที่เราจะได้จากการกินเลือด เป็น “ธาตุเหล็ก” เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกบินในเม็ดเลือดแดงนั่นเอง รองลงมาเป็นสารอาหารประเภทโปรตีน และคาร์โบไฮเดรท โดยในเลือด 100 กรัม มีธาตุเหล็กดังนี้ เลือดวัว 44.1 มิลลิกรัม เลือดหมู 25.9 มิลลิกรัม เลือดไก่ 23.9 มิลลิกรัม และเลือดเป็ด 10.2 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับธาตุเหล็กที่ร่างกายคนเราต้องการต่อวันที่ 15-20 มิลลิกรัม ก็ถือว่าเลือดเป็นอาหารเสริมธาตุเหล็กที่ดี

ถ้าหากใครไม่ชอบกินเลือด ก็เลือกกินตับอ่อน เนื้อกุ้ง ถั่วแดง เต้าหู้ ไข่ ผักสีเขียวเข้ม ก็มีธาตุเหล็กสูงเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ที่เสียเลือดมาก เป็นโรคโลหิตจาง ผู้หญิงตั้งครรภ์ และภาวะหลังมีประจำเดือนอาจจะต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าปกติ 2 เท่า แต่ไม่ใช่ว่ากินเลือดเยอะๆ แล้วจะดี เพราะการกินที่อาหารมีธาตุเหล็กมากๆ กลับทำให้ร่างกายเสียสมดุล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ธาลัสซีเมีย โรคกระเพาะอาหารนั้นการกินธาตุเหล็กมากๆ อาจทำให้หัวใจทำงานหนัก ไตวายจนถึงชีวิตได้ อีกนัยหนึ่งการขวนขวายหาเลือดจระเข้ เลือดตะพาบ เลือดเสือ เลือดงู มากินก็ให้ผลไม่ต่างกัน เพราะนอกจากจากทำให้สัตว์ป่าเดือดร้อนแล้ว การกินเลือดสดๆ ยังเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากพาราสิตในเลือดหลายชนิดเช่น แบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ซูอิส ในเลือดหมูที่อาจส่งผลให้เสียการทรงตัว หูหนวกไปจนถึงขั้นสมองอักเสบเลยทีเดียว

แวมไพร์ในหนังชอบกินเลือดจากสาวพรหมจรรย์ ถ้าคิดแบบวิทย์ๆ คนเรามีเลือดอยู่แค่ 8% ของร่างกาย ถึงดูดไปจนหมดตัวคงได้ราวๆ 4-5 ลิตร แสดงว่า พวกแวมไพร์นี้อาจจะขาดธาตุเหล็กบริจาคไปคงยังพอไหว เพราะถ้าเทียบกับคนบางกลุ่มที่อาการอาจจะหนักกว่าเนื่องจากทั้งรีดเลือด (เอากับปู) ทั้งกินธาตุเหล็ก (เส้น) แบบไม่ยั้ง แวมไพร์ก็แวมไพร์เถอะ...เจอกับตัวคงจะช็อต!

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลัง และไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ดอกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว

“แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด”

อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์








อ้างอิง
- http://www.darkbanquet.com

- J. Isoe, J. Collins, H. Badgandi, W. A. Day, R. L. Miesfeld. PNAS Plus: Defects in coatomer protein I (COPI) transport cause blood feeding-induced mortality in Yellow Fever mosquitoes. Proceedings of the National Academy of Sciences, 2011; 108 (24)

- กิตติ บัวชุม ประทีป ลิปภานนท์ ชัยยศ เสตะจันทน์ และ แขไข จิตทิชานนท์. 2543. คุณค่าทางโภชนาการของเลือดหมูต้ม. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 38 สาขาสัตว์ และสาขาสัตวแพทยศาสตร์ 1-4 กุมภาพันธ์ 2543. หน้า 494-498
กำลังโหลดความคิดเห็น