xs
xsm
sm
md
lg

ทูลเกล้าฯ ถวาย “เศวต” โคโคลนนิงแด่สมเด็จพระเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ป้อนหญ้า เศวต โคขาวสลำพูนโคลนนิง
มทส.- มทส.เปิดตัว “เศวต” โคขาวลำพูนโคลนนิงที่เกิดจากเซลล์ใบหูตัวที่ 2 ของประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์โคขาวลำพูน พระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ฟาร์มศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัย พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 19 ต.ค.นี้

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า โคขาวลำพูนที่นำมาเปิดตัวนี้เป็นโคขาวลำพูนโคลนนิงตัวที่ 2 ของไทย โดยตั้งชื่อว่า “เศวต” ซึ่งแปลว่า “สีขาว” และมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ คือ รูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวสีขาวตลอด พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม จากลักษณะเด่นดังกล่าวจึงถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นิยมเลี้ยงทางภาคเหนือตอนบน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเหลือโคขาวลำพูนพันธุ์แท้อยู่ไม่มากนัก หากไม่มีการปรับปรุงพันธุ์และอนุรักษ์ไว้อาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนให้โคลนนิง เพื่อช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์โคขาวลำพูนให้คงอยู่ตลอดไป โดยความสำเร็จนี้เป็นผลงานของทีมวิจัย รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.และเป็นผู้โคลนนิ่งโคได้เป็นรายแรกของอาเซียนและรายที่ 6 ของโลก
รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย กับ เศวต โคขาวลำพูนโคลนนิง ตัวที่ 2 ของไทย
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส.ได้สร้างผลงานการโคลนนิงด้านต่างๆ อาทิ การโคลนนิงโคนมและโคเนื้อพันธุ์ดีรวม 29 ตัว ไม่ว่าจะเป็น “นิโคล”, “ตูมตาม 2” ไปจนถึง “ตูมตาม 8”, “เต้าฮวย” ซึ่งเป็นโคบราห์มันแดงเพศเมีย และ “แปะก๊วย” โคนมเพศเมียพันธุ์ลูกผสมโฮลสไตน์-ฟรีเชียน แล้วได้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2551 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รับไว้ดูแล และศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรต่อไป

นอกจากนี้ ยังมี “ขาวมงคล” โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวแรกของไทย รวมไปถึงการโคลนนิงแพะ “น้องกาย” จากเซลล์ใบหูเป็นตัวแรกของโลก เมื่อปี 2552 ตลอดจนความพยายามโคลนนิงสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น โคลนนิงกระทิง แมวลายหินอ่อน ซึ่งแม้จะเป็นการโคลนนิงที่ใช้ตัวรับเป็นคนละสายพันธุ์กัน แต่ก็เข้าใกล้ความสำเร็จไปทุกขณะ ซึ่งลูกกระทิงและลูกแมวลายหินอ่อนคลอดแล้วแต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา หรือแม้แต่การศึกษาวิจัยด้าน “สเต็มเซลล์” จากตัวอ่อนลิงและจากตัวอ่อนมนุษย์ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคในอนาคตเป็นอย่างมาก”

ด้าน รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ให้ข้อมูลว่า เศวต เกิดเมื่อ 1 ก.พ.55 และมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ถือเป็นความสำเร็จในการโคลนนิ่งโคพันธุ์ขาวลำพูนที่ใช้เซลล์ใบหูเป็นเซลล์ต้นแบบ ตัวที่ 2 ของประเทศ ต่อจาก “ขาวมงคล” โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวแรก ที่เกิดเมื่อ 21 มี.ค.50 และสำหรับการโคลนนิงครั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำเซลล์ใบหูของพ่อโคขาวลำพูน ชื่อ “ดอยอินทนนท์” ของ ช่างรุ่ง จันตาบุญ ซึ่งได้รับรางวัลแกรนด์แชมป์ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทำเป็นเซลล์ต้นแบบผลิตตัวอ่อนโคลนนิงเช่นเดียวกับขาวมงคล

หากแต่การโคลนนิงโคขาวลำพูนตัวที่ 2 นี้ได้ปรับปรุงกระบวนการเพื่อช่วยให้ “การรีโปรแกรม” ของเซลล์ใบหูดีขึ้น โดยใช้สารเคมีชื่อริเวอร์ซีน (Riversine) เลี้ยงตัวอ่อนระยะแรกเป็นเวลานาน 6 ชั่วโมง แล้วเลี้ยงตัวอ่อนในหลอดทดลองอีก 7 วัน จากนั้นนำไปย้ายฝากให้โคนมตัวรับ 4 ตัว มีการตั้งท้อง 3 ตัว แต่แท้งไป 2 ตัว เหลือเพียงตัวเดียวครบกำหนดคลอดและได้ผ่าคลอด คิดเป็นความสำเร็จได้ลูกเกิด 25% จากเดิมที่มีความสำเร็จได้ลูกเกิดเพียง 11%

“ปัจจุบันเหลือโคขาวลำพูนพันธุ์แท้ไม่เกิน 5,000 ตัว ในจำนวนนี้มีลักษณะถูกต้องตามตำราว่าด้วยโคขาวลำพูนไม่ถึงพันตัว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตจะเหลือโคขาวลำพูนที่มีพันธุ์ดีไม่มาก ดังนั้น การพัฒนากระบวนการโคลนนิ่งโคจะช่วยทำให้การผลิตโคโคลนนิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การผลิตโคขาวลำพูนลักษณะและพันธุ์ดีได้มากขึ้น” รศ.ดร.รังสรรค์ กล่าว

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.รังสรรค์ ยังเผยอีกว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังปรับปรุงการรีโปรแกรมเซลล์ใบหูกระทิง เพื่อผลิตกระทิงโคลนนิงให้เกิดมาแล้วมีชีวิตรอด หลังจากเมื่อ 5 ปีก่อนทีมวิจัยได้ผลิตกระทิงโคลนนิ่งเพศผู้เกิดมาเป็นรายที่ 2 ของโลก แต่มีชีวิตหลังคลอดเพียง 12 ชั่วโมง ดังนั้น หากการปรับปรุงขบวนการโคลนนิ่งกระทิงสำเร็จ จะเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนกระทิงให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกระทิงถูกล่ามากขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะลดจำนวนลงทุกวัน
เศวตกับแม่อุ้มบุญ
สำหรับโครงการโคลนนิงกระทิงนี้ได้ร่วมมือกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียวในการเก็บเซลล์ผิวหนังกระทิงเพื่อนำมาเป็นเซลล์ต้นแบบ และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

อนึ่ง เทคโนโลยีการโคลนนิ่ง เป็นกระบวนการการสร้างสิ่งมีชีวิตให้มีลักษณะทางกายภาพและพันธุกรรมเหมือนกัน โดยไม่ใช้เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) และเพศเมีย (ไข่) มาผสมกัน แต่ใช้เซลล์จากสัตว์ที่ต้องการโคลนนิงมาใช้เป็นเซลล์ต้นแบบแทน ทำให้ลูกที่ได้มีลักษณะของเพศและพันธุ์เหมือนกับเซลล์ต้นแบบทุกประการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการปศุสัตว์อย่างมาก ในแง่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์

นอกจากนี้ ในแง่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ยังช่วยลดจำนวนสัตว์ที่ใช้ในการทดลองให้น้อยลง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดความแปรปรวนของผลการทดลอง เนื่องจากสัตว์โคลนนิ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน ในทางการแพทย์ได้มีการศึกษาอย่างมากในการนำการโคลนนิ่งมาใช้ผลิตเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) สำหรับรักษาโรคในมนุษย์ หรือใช้ในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ เพื่อลดปัญหาเรื่องการต่อต้านอวัยวะใหม่ ดังนั้น ในปัจจุบันงานทดลองที่เป็นที่ยอมรับ และถูกเผยแพร่จึงเน้นไปในทางการโคลนนิงสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และการโคลนนิงเพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางการแพทย์
เศวต แปลว่า สีขาว






กำลังโหลดความคิดเห็น