xs
xsm
sm
md
lg

มข.ให้สิทธิ์ บ.เอกชนต่อยอด “พริกพันธุ์อัคนีพิโรธ” เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ลงนามร่วมกับบริษัทบางกอกแล็ป ให้สิทธินำผลงานวิจัยพริกพันธุ์ใหม่ พริกอัคนีพิโรธ ไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มข.เดินหน้าตามยุทธศาสตร์มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านงานวิจัย ล่าสุดลงนามบริษัทบางกอกแล็ปให้สิทธิ์นำผลงานวิจัย “พริกพันธุ์อัคนีพิโรธ” ไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ผลิตยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยสูตรใหม่ เผยเป็นพริกพันธุ์ใหม่ที่ให้สารความเผ็ดสูงกว่าพริกพันธุ์จินดามากถึง 10 เท่า

สายวันนี้ (20 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ได้มีพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ “พริกพันธุ์อัคนีพิโรธ” ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กับบริษัทบางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด

รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่าทางสถาบันมีความภาคภูมิใจที่ผลงานวิจัยคุณภาพอีกชิ้นหนึ่งได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมโดยตรง โดยพริกพันธุ์อัคนีพิโรธที่ รศ.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร คณะเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยนั้นได้เริ่มทำการรวบรวมพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2550 และเริ่มสร้างลูกผสมในปี 2553 โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนจากหลายฝ่าย ทั้งจาก มข. โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปรับปรุงพันธุ์

จนกระทั่งได้เป็นลูกผสมที่มีลักษณะดี คือมีความเผ็ดสูงมากกว่า 500,000 สโคว์วิลล์(SHU) อีกทั้งยังมีความทนทานต่อโรคแอนแทรกโนส ซึ่งได้ยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต่อกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

รศ.กิตติชัยระบุต่อว่าก่อนหน้านี้คณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พริกยอดสนเข็ม 80 ขึ้น และได้อนุญาตให้บริษัทบางกอกแล็ปแอนด์คอสเมติคนำพันธุ์ไปปลูกเพื่อสกัดสาร Capsaicin ผสมในผลิตภัณฑ์ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยมาแล้ว แต่คณะผู้วิจัยก็ยังพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม โดยการสร้างสายพันธุ์ลูกผสม “อัคนีพิโรธ” ซึ่งมีสาร Capsaicin ที่สูงกว่าพริกยอดสน 80 มากถึง 10 เท่า

ผลงานชิ้นที่สองนี้ก็ได้ให้สิทธิแก่บริษัทบางกอกแล็ปนำไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยอีกเช่นเดียวกัน นับเป็นผลสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้ทุน คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลงานวิจัยและบริษัทบางกอกแล็ป ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย

“มหาวิทยาขอนแก่นได้วางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย”

ด้านรศ.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า สารเผ็ดของพริกหรือแคปไซซิน ( Capsaicin) นั้นมีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้หลอดเลือดขยายตัว กระตุ้นการขับเสมหะทำให้หายใจสะดวกมากขึ้น และยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ในทางยาและเครื่องสำอาง

อย่างไรก็ตาม พริกที่ชาวบ้านปลูกกันทั่วไปนั้นมีความเผ็ดไม่คงที่ อีกทั้งผลผลิตต่ำ ดังนั้น คณะเกษตรศาสตร์ มข.จึงได้พัฒนาพันธุ์พริกให้มีความเผ็ดและผลผลิตสูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยา

ในที่สุดก็ได้พันธุ์พริกยอดสนเข็ม 80 ที่มีความเผ็ดสูงและคงที่ มีผลผลิตประมาณ 3,000 กก./ไร่ ซึ่งได้มีการลงนามอนุญาตให้บริษัทบางกอกแล็ปนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดเมื่อยไปเมื่อปี 2552

อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยก็ได้พัฒนาพันธุ์พริกเผ็ดมาอย่างต่อเนื่อง ผลจากการพัฒนาพันธุ์พริกเผ็ดดังกล่าวก็ได้พันธุ์พริกลูกผสม “อัคนีพิโรธ” ที่เกิดจากพริกพันธุ์พิโรธ ซึ่งเป็นพันธุ์พริกที่มีรายงานว่าเผ็ดที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง

พริกลูกผสมอัคนีพิโรธเป็นพืชกึ่งยืนต้น สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายฤดู มีความเผ็ดสูงเป็น 10 เท่าของพริกจินดา มีผลผลิตพริกสดสูงประมาณ 3,600 กก./ไร่ เก็บเกี่ยวได้ 4 ครั้ง หรือพริกแห้งของพันธุ์อัคนีพิโรธประมาณ 32 กิโลกรัม ให้ผลผลิตสารเผ็ดประมาณ 1 กิโลกรัม ต่างจากพริกพันธุ์จินดาที่ต้องใช้พริกแห้งมากถึง 616 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังสามารถปรับตัวได้ดีกว่าและให้ผลผลิตสูงกว่าพริกพิโรธพันธุ์เดิม รวมทั้งทนทานต่อโรคแอนแทรกโนสอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทบางกอกแล็ปฯ จะได้นำตัวอย่างพริกแห้งพันธุ์อัคนีพิโรธไปทดลองพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยสูตรใหม่ และจะได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้




กำลังโหลดความคิดเห็น