xs
xsm
sm
md
lg

นักประสาทวิทยาศาสตร์-หมอหัวใจคว้า “นักวิทย์ดีเด่น 55”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร
นักประสาทวิทยาศาสตร์และหมอด้านโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคว้ารางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 55” ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ จากผลงานวิจัยต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ และต่างมีผลงานสำคัญทั้งการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ และการวางรากฐานการศึกษาเฉพาะด้านในเมืองไทย

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2555 ได้แก่ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล จากการศึกษาฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่มีผลต่อการฟื้นฟูสมอง และ ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากงานวิจัยเกี่ยวกับโรคทางไฟฟ้าของหัวใจหรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ในส่วนของ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ได้ศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาทและการทำงานของสมองมานานกว่า 30 ปี และมีผลงานค้นพบที่สำคัญๆ ได้แก่ การค้นพบนอกจากเส้นประสาทซิมพาเทติกที่ควบคุมการทำงานของต่อมไพเนียลในการสังเคราะห์เมลาโทนินแล้ว ยังมีระบบประสาทอื่นที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนนี้ด้วย และยังค้นพบว่าฮอร์โมนชนิดนี้สามารถยับยั้งการตายของเซลล์ประสาทจากอนุมูลอิสระได้ โดยสนใจศึกษาบทบาทและกลไกการทำงานของเมลาโทนินโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบว่าฮอร์โมนนี้ช่วยยับยั้งอาการสมองเสื่อมจากสารเสพติดแอมเฟตามีนด้วย

ด้าน ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ ได้ศึกษาวิจัยความปิดปกติทางไฟฟ้าของหัวใจมานานกว่า 20 ปี โดยเป็นอาจารย์สอนทางด้านนี้อยู่ที่ภาควิชาโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอะลาบามา (University of Alabama) ในเบอร์มิงแฮม สหรัฐฯ ประมาณ 10 ปี และย้ายมาประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2545 และบุกเบิกการก่อตั้งหน่วยวิจัยเฉพาะทางในสาขาสรีรวิทยาทางไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac Electrophysiology) จนสามารถเพิ่มจำนวนผู้มีความรู้ทางด้านนี้จากที่ไม่มีเลยขึ้นมาได้ 30%

พร้อมกันนี้ในการประกาศรางวัลมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 1 ส.ค.55 ณ โรงแรม เดอะ สุโกมล ได้ประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2555 ได้แก่ ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งศึกษาการวิเคราะห์จีโนมเพื่อหาเครื่องหมายพันธุกรรมสำหรับนำไปปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา จากสาขาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการศึกษาเกี่ยวกับสารกึ่งตัวนำ และ ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ วัชรสินธุ์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำวิจัยด้านเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ และศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อดัดแปลงเป็นยารักษาโรคและเซ็นเซอร์ตรวจจับสารพิษ

ทั้งนี้ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมาตั้งแต่ปี 2525 และมอบรางวัลรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่มาตั้งแต่ปี 2534 โดยผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจะได้รับรางวัลมูลค่า 400,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน ส่วนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปีนั้นจะได้รับรางวัลมูลค่า 100,000 บาทพร้อมโล่พระราชทาน
ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์
ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง
ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา
ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ วัชรสินธุ์
กำลังโหลดความคิดเห็น