xs
xsm
sm
md
lg

“มทส” เจ๋ง! โคลนนิ่ง “โคขาวลำพูน” สำเร็จตัวที่ 2-เดินหน้าโคลนนิ่งอนุรักษ์ “กระทิง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส  , รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส และคณะร่วมกันแถลงความสำเร็จการโคลนนิ่งโคขาวลำพูน ตัวที่ 2 ของประเทศไทย ที่ ฟาร์มโค มทส อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 26 เ ม.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นักวิจัย “มทส” เจ๋ง ประสบความสำเร็จโคลนนิ่ง “เศวต” โคขาวลำพูนตัวที่ 2 ของไทยได้สำเร็จ เผยเป็นโคสายพันธุ์เดียวกับที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปัจจุบันเหลือน้อยเสี่ยงสูญพันธุ์ ระบุเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของทีมงานหลังโคลนนิ่งตัวแรกของโลกสำเร็จไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พร้อมเดินหน้าโคลนนิ่ง “กระทิง” เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่ฟาร์มโคภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส, รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส ร่วมกันแถลงความสำเร็จการโคลนนิ่งโคขาวลำพูน ตัวที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 มีน้ำหนักแรกเกิด 35 กิโลกรัม (กก.) สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ชื่อ “เศวต” เป็นโคขาวลำพูนโคลนนิ่งเพศผู้

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส เปิดเผยว่า “โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวที่ 2 ของไทย ตั้งชื่อให้ว่า “เศวต” แปลว่า “สีขาว” มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ คือ รูปร่างใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวสีขาว พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม จากลักษณะเด่นดังกล่าวจึงถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นิยมเลี้ยงทางภาคเหนือตอนบน ปัจจุบันเหลือโคขาวลำพูนพันธุ์แท้มีอยู่ไม่มากนัก หากไม่มีการปรับปรุงพันธุ์และอนุรักษ์ไว้อาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต

ดังนั้น การโคลนนิ่งจึงน่าจะเป็นวิธีที่จะช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์โคขาวลำพูนให้คงอยู่ตลอดไปได้ โดยความสำเร็จในการโคลนนิ่งโคขาวลำพูนนี้เป็นผลงานของทีมวิจัย รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส นักโคลนนิ่งมือหนึ่งที่สร้างชื่อจากการโคลนนิ่งโคได้เป็นรายแรกของอาเซียน และรายที่ 6 ของโลก

โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มทส ได้สร้างผลงานการโคลนนิ่งด้านต่างๆ เช่น น้อง “อิง” ลูกโคโคลนนิ่งตัวแรกของไทย เมื่อปี 2543 และโคโคลนนิ่ง ทั้งโคนม-โคเนื้อพันธุ์ดี รวมแล้วถึง 29 ตัว ไม่ว่าจะเป็น “นิโคล”, “ตูมตาม 2-ตูมตาม 8” , “เต้าฮวย” โคบราห์มันแดงเพศเมีย และ “แปะก๊วย” โคนมเพศเมียพันธุ์ลูกผสมโฮลสไตน์-ฟรีเชียน ที่น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2551 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รับไว้ดูแลและศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรต่อไป ยังมี “ขาวมงคล” โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวแรกของไทยด้วย

นอกจากนี้ ทีมงานศูนย์วิจัยฯ ยังประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งแพะ “น้องกาย” จากเซลล์ใบหูเป็นตัวแรกของโลกเมื่อปี 2552 ตลอดจนความพยายามโคลนนิ่งสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น โคลนนิ่งกระทิง แมวลายหินอ่อน ซึ่งแม้จะเป็นการโคลนนิ่งที่ใช้ตัวรับเป็นคนละสายพันธุ์กัน แต่ก็เข้าใกล้ความสำเร็จไปทุกขณะ ซึ่งลูกกระทิงและลูกแมวลายหินอ่อนคลอดแล้วแต่เสียชีวิตในเวลาต่อมาหรือแม้แต่การศึกษาวิจัยด้าน “สเต็มเซลล์” จากตัวอ่อนลิงและจากตัวอ่อนมนุษย์ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคในอนาคตเป็นอย่างมาก

ด้าน รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิดฯ กล่าวว่า “เศวต” ถือเป็นความสำเร็จในการโคลนนิ่งโคพันธุ์ขาวลำพูนที่ใช้เซลล์ใบหูเป็นเซลล์ต้นแบบตัวที่ 2 ของประเทศ ต่อจาก “ขาวมงคล” โคขาวลำพูนโคลนนิ่งตัวแรก เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550 การโคลนนิ่งครั้งนี้ทีมงานของศูนย์วิจัยฯ ได้นำเซลล์ใบหูของพ่อโคขาวลำพูน ชื่อ “ดอยอินทนนท์” ของนายรุ่ง จันตาบุญ ซึ่งได้รับรางวัลแกรนด์แชมป์ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทำเป็นเซลล์ต้นแบบผลิตตัวอ่อนโคลนนิ่งเช่นเดียวกับขาวมงคล

แต่ได้มีการปรับปรุงกระบวนการโคลนนิ่งเพื่อช่วยให้การรีโปรแกรมเซลล์ใบหูดีขึ้นโดยใช้สารเคมีชื่อ ริเวอร์ซีน (Riversine) เลี้ยงตัวอ่อนระยะแรกเป็นเวลานาน 6 ชั่วโมง แล้วเลี้ยงตัวอ่อนในหลอดทดลองอีก 7 วัน จากนั้นได้ย้ายไปฝากให้โคนมตัวรับ 4 ตัวมีการตั้งท้อง 3 ตัว แต่แท้งไป 2 ตัว เหลือเพียงตัวเดียวครบกำหนดคลอดและได้ผ่าคลอด คิดเป็นความสำเร็จได้ลูกเกิด 25% จากเดิมที่มีความสำเร็จได้ลูกเกิดเพียง 11%

“ปัจจุบันเหลือโคขาวลำพูนพันธุ์แท้ไม่เกิน 5,000 ตัว ในจำนวนนี้มีลักษณะถูกต้องตามตำราว่าด้วยโคขาวลำพูนไม่ถึงพันตัว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตจะเหลือโคขาวลำพูนที่มีพันธุ์ดีไม่มาก ดังนั้นการพัฒนากระบวนการโคลนนิ่งโคจะช่วยทำให้การผลิตโคโคลนนิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การผลิตโคขาวลำพูนลักษณะและพันธุ์ดีได้มากขึ้นด้วย ส่วนโค เศวตตัวนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว” รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ กล่าว

รศ.ดร.รังสรรค์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทีมงานของศูนย์วิจัยฯ กำลังปรับปรุงการรีโปรแกรมเซลล์ใบหูกระทิง เพื่อผลิตกระทิงโคลนนิ่งให้เกิดมาแล้วมีชีวิตรอด จากเมื่อ 5 ปีก่อนทีมงานของศูนย์วิจัยฯ ได้ผลิตกระทิงโคลนนิ่งเพศผู้เกิดมาเป็นรายที่ 2 ของโลก แต่มีชีวิตหลังคลอดเพียง 12 ชั่วโมง ดังนั้น หากการปรับปรุงกระบวนการโคลนนิ่งกระทิงสำเร็จจะเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนกระทิงให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกระทิงถูกล่ามากขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะลดจำนวนลงทุกวัน

“โครงการโคลนนิ่งกระทิงนี้ได้ร่วมมือกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียวในการเก็บเซลล์ผิวหนังกระทิงเพื่อนำมาเป็นเซลล์ต้นแบบ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” รศ.ดร.รังสรรค์กล่าว




ศ.ดร.ประสาท สืบค้า  อธิการบดี มทส , รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย  และ คณะทีมงานวิจัย
กำลังโหลดความคิดเห็น