สสวท.-ปกติชาวสวนในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มักจะท่วมขังน้ำในแปลงเพาะปลูกผัก หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลง ก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกครั้งใหม่ สิ่งที่เห็นจนเคยชินเหล่านี้ ถูกนำมาอธิบายด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ด.ช.อนุชิต มั่นนิ่ม และ ด.ญ.มณีรัตน์ อินทประเสริฐ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการดอนคลัง ได้ศึกษาผลกระทบจากการจัดการดินโดยการท่วมขังน้ำที่มีต่อค่า pH ของดิน และปริมาณธาตุอาหารพืช (N-ไนโตรเจน, P-ฟอสฟอรัส, K- โพแทสเซียม) รวมถึงความหลากหลายของแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติในแปลงผักกวางตุ้ง ใน ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
อนุชิต เล่าว่า ได้เก็บตัวอย่างดินก่อนและหลังน้ำท่วมขัง จากแปลงผักกวางตุ้ง จำนวน 3 แปลงๆ ละ 3จุดๆ ละ 2 ระดับความลึก ซึ่งผลการศึกษา พบว่า การท่วมขังน้ำมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินตามสมมติฐานข้างต้น คือ ค่า pH ของดินมีค่าสูงขึ้น ไนโตรเจนในรูปไนเตรตมีค่าเพิ่มขึ้น ความหลากหลายของแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติลดลง และวิธีการท่วมขังน้ำของเกษตรกรซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิมตามความเชื่อนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อดินจริงตามที่ทำต่อๆ กันมา
สำหรับอุปสรรคระหว่างการทำวิจัยนั้น อนุชิต และ มณีรัตน์ เล่าว่า การเดินทางไปเก็บตัวอย่างดินที่แปลงผักค่อนข้างลำบากเพราะอยู่ไกล และยังลำบากมากเมื่อฝนตก โดยต้องไปเก็บตัวอย่างหลังเลิกเรียนเพื่อนำมาห้องทดลอง และใช้เวลาทำงานวิจัยชิ้นนี้ ตั้งแต่ปี 2553 ถึงต้นปี 2554 ซึ่งการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยนี้ มณีรัตน์กล่าวว่าทำให้เป็นคนที่รอบคอบมากขึ้น ช่างสังเกต และมีความสงสัย
“อย่างเรื่องการท่วมขังน้ำของเกษตรกรในชุมชนก่อนทำการเพาะปลูกใหม่ ทำให้เกิดข้อสงสัย จึงนำมาสู่การใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการหาคำอธิบาย และผลการศึกษาก็นำมาเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นตัวเองได้” มณีรัตน์ กล่าว
ส่วน อนุชิต บอกว่า เมื่อก่อนไม่เคยสนใจวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อได้ลงมือวิจัยก็ทำให้ชอบการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น อยากเรียนรู้มากขึ้น และที่บ้านของเขาเองก็ทำสวนผักด้วย เมื่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ยิ่งทำให้มีความสนใจมากขึ้น อยากศึกษาเพื่อหาความรู้ใหม่มากขึ้น
ทั้งสองคนยังบอกอีกว่า การศึกษาดังกล่าวเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของพวกเขาที่สอนให้รู้จักทำงานเป็นระบบ กลายเป็นคนที่ทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น โดย อนุชิต บอกว่า มีความตั้งใจอยากเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ในอนาคต ส่วน มณีรัตน์ บอกว่า วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ มีเรื่องลึกลับ น่าค้นหาอยู่ตลอดเวลา ทำให้อยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต