xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชี้ไทยผลิตครูคณิตฯ ควรใช้หลักสูตร ป.บัณฑิต แยกชัดประถม-มัธยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสวท.เสนอผลวิจัยผลิตครูคณิตศาสตร์ ร่วมกับนานาชาติ TEDS-M เร่งไทยสร้างครูเก่ง ผลวิจัยชี้ ควรใช้หลักสูตร ป.บัณฑิตในการผลิตครูคณิตศาสตร์ แยกระดับให้ชัดประถม-มัธยม และควรใช้ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีเข้าเรียนในหลักสูตรผลิตครู

ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท.ได้เข้าร่วมวิจัยกับสมาคม IEA (International Association for the Evaluation of Educational Achievement) เพื่อประเมินความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของนักศึกษาปีสุดท้ายของหลักสูตรผลิตครู ตามโครงการ TEDS-M (Teacher Educational Development Study-Mathematics) โดยมี 17 ประเทศที่เข้าร่วมวิจัย ได้แก่ บอสวานา แคนาดา ชิลี จีน-ไทเป จอร์เจีย เยอรมนี มาเลเซีย นอร์เวย์ โอมาน ฟิสิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ไทย และสหรัฐอเมริกา โดยการวิจัยในประเทศไทยได้เก็บข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2551 จากนักศึกษาวิชาเอกคณิตศาสตร์ ของหลักสูตร 5 ปี และหลักสูตร ป.บัณฑิต จำนวน 1,312 คน ในมหาวิทยาลัย 45 แห่งที่ผลิตครูคณิตศาสตร์

ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี กล่าวต่อว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า หลักสูตรผลิตครูคณิตศาสตร์ของประเทศที่เข้าร่วมวิจัย แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ 1) หลักสูตรผลิตครูเพื่อสอนคณิตศาสตร์ได้ทุกชั้น เช่น หลักสูตรผลิตครูของประเทศไทย และ 2) หลักสูตรผลิตครูเพื่อสอนคณิตศาสตร์เฉพาะระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา เช่น หลักสูตรผลิตครูของ จีน-ไทเป ซึ่งนักศึกษาของ จีน-ไทเป มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสองด้านสูงเป็นอันดับหนึ่งทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า 1) ในระดับประถมศึกษา นักศึกษาของหลักสูตรผลิตครูมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ในเนื้อหาคณิตศาสตร์ และความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ 2) ในระดับมัธยมศึกษา นักศึกษาของหลักสูตรผลิตครู มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสองด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ 3) นักศึกษาหลักสูตร ป.บัณฑิต มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสองด้านสูงกว่านักศึกษาหลักสูตร 5 ปี ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 4) ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาของนักศึกษามีผลโดยตรงต่อคะแนนเฉลี่ยทั้งสองด้าน

จากผลการประเมินชี้ให้เห็นว่า ควรใช้หลักสูตรป.บัณฑิตในการผลิตครูคณิตศาสตร์โดยให้นักศึกษาเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์) 4 ปี และเรียนวิชาการสอนคณิตศาสตร์อีก 1 ปี นอกจากนี้ ควรใช้หลักสูตรผลิตครูเพื่อสอนคณิตศาสตร์ที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมครูให้เชี่ยวชาญทั้งด้านเนื้อหา และการจัดการเรียนการสอนของแต่ละระดับ และควรใช้ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีเข้าเรียนในหลักสูตรผลิตครู

กำลังโหลดความคิดเห็น