xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานการอาชีพชัยพัฒนาฯ อบรมครูเข้มจัดทำ E-BOOK

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนา เมืองเจดีย์ใหญ่ เชิญนักวิชาการ ม.ศิลปากร อบรมการจัดทำ “E-Book” เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนนักเรียนโดยนักวิชาการ ชี้ก่อนแท็บเล็ตส่งถึงโรงเรียนต้องพัฒนาขีดความสามารถของครูก่อนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (23 ส.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนา อ.เมือง จ.นครปฐม จัดการอบรมพัฒนาการใช้สื่อการเรียนการสอนในกาจัดทำ E-Book โดยเชิญ ดร.อนิรุทธิ์ สติมั่น หัวหน้าภาควิชาการเทคโนโลยีการศึกษา และอาจารย์ ดร.เอกนฤน บางท่าไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ร่วมกันให้ความรู้และอบรมคณะครูในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการจัดทำสื่อออนไลน์ หรือ E-BOOK เพื่อใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนและรองรับการพัฒนาของระบบการสื่อสารในยุคไอที ที่โรงเรียนต่างๆ จะได้รับแจกแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนในระยะอันใกล้นี้

โดย ดร.อนิรุทธิ์ สติมั่น หัวหน้าภาควิชาการเทคโนโลยีการศึกษาฯ กล่าวว่า ในการจัดการอบรมการทำ E-BOOK ในครั้งนี้ได้นำข้อมูลการผลิตสื่อออนไลน์ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่ครู อาจารย์ในส่วนของโรงเรียนต่างจังหวัดจะต้องมีการตื่นตัว และเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบสารสนเทศก์ต่างๆ ให้เข้าใจ โดยเฉพาะการทำสื่อการเรียนการสอน แบบ E-BOOK จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะสามารถจัดทำเป็นสื่อในการเรียนของนักเรียนที่กระแสแท็บเล็ตกำลังจะถูกส่งเข้าไปยังโรงเรียนต่างๆ ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาติดขัดในส่วนของเรื่องซอฟต์แวร์ ที่ยังไม่รู้ว่าจะบรรจุโปรแกรมอะไรลงไปในสื่อการเรียนการสอนบ้าง หรือยังไม่รู้ว่าหน่วยงานใดระหว่างกระทรวงไอซีที หรือกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการในการจัดทำซึ่งในส่วนของครูอาจารย์ต้องมีการเข้าอบรมเรียนรู้ และก้าวให้ทันเทคโนโลยี ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสไปได้ แต่ยังมองว่าการพัฒนาโดยการนำเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ประกอบในการเรียนการสอนนั้นตนเองเห็นดีด้วยแต่ต้องทำอย่างมีระบบ และสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น

ดร.อนิรุทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก่อนตั้งแต่ปลายปี 54 โดยมีการเรียกประชุมเกี่ยวกับการรองรับในเรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งจากการทำงานด้านวิชาการ มองออกเป็น 2 ส่วนคือ ในการของวิธีการใช้ ทั้งผู้เรียนผู้สอนต้องพัฒนาตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จากนั้นต้องพัฒนาในส่วนของเนื้อหาในการปรับการเรียนการสอนเพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เด็กนักเรียนมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก เช่น เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บางคนสามารถพิมพ์ข้อความ และดาวน์โหลดข้อมูลเกมมาเล่นเองได้แล้ว ทั้งๆ ที่เราเองยังไม่เข้าใจว่าทำได้อย่างไร เรื่องนี้ครูจึงต้องเตรียมพร้อมให้ทันบางส่วน ที่เห็นชัดคือ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก มีทั้งด้านที่ดี และไม่ดี บ่อยครั้งเราจะเห็นกลุ่มเพื่อนนั่งทานข้าวกันแต่ทุกคนนั่งก้มหน้ากดอุปกรณ์สื่อสารกันโดยไม่พูดกัน เช่นเดียวกัน หากครูที่ยังไม่ไม่เข้าใจและเรียนรู้การใช้สื่อก็จะเข้าไม่ถึงเด็กๆ เหล่านั้นเพราะเขาจะมีกลุ่มสังคมของพวกเดียวกันเราจะเข้าไม่ถึงความต้องการและพฤติกรรมของเขาได้

ทั้งนี้ ในส่วนของนักเรียนในต่างจังหวัดต้อง ตรวจสอบด้วยว่าระบบออนไลน์ต่างๆ ของโรงเรียนพร้อมหรือไม่ เช่น หากโรงเรียนที่ได้รับแจกเครื่องแท็บเล็ตไป แต่ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นระบบไวไฟ แต่ยังเป็นระบบแลนจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างไรข้อจำกัดอาจจะมีอยู่เยอะ วันนี้เราต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปทั้งเรื่องการเรียนรู้ระบบโซเชียลมีเดีย และชีวิตจริงต้องสอดคล้องกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ครูทุกคนต้องเรียนรู้ร่วมกันหมดเพราะจะอาศัยการเรียนรู้โดยปล่อยภาระให้ครูฝ่ายคอมพิวเตอร์มาเรียนรู้อย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกแขนงต้องเข้าถึงซอร์ฟแวร์ต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น ครูวิทยาศาสตร์ก็ต้องเรียนรู้ ไปค้นคว้าหาซอฟต์แวร์ต่างๆ ของ สสวท.ที่มีหลายโปรแกรมดีมากมาทำการประยุกต์ในการสอน สาขาอื่นก็ต้องใช้ วันนี้ต้องถามว่าเราพร้อมหรือยัง ถ้ายังถือว่าเราเสียโอกาสมากเพราะอุปกรณ์มาแล้วแต่คนไม่พัฒนาให้ทันก็เสียเปล่าการพัฒนาถ้าเป็นแบบสองขา ถ้าขาเดียวถือว่าไม่ถึงผลสำเร็จจะกลายเป็นว่านักเรียนบางคนเก่งไปกว่าครูก็คงมองดูแปลกๆ ไม่น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น