xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยน “ป่าชุมชน” เป็น “ห้องเรียนวิทยาศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อ ป่าชุมชน กลายเป็น ห้องเรียนขนาดใหญ่
สสวท.- เมื่อ “ป่าชุมชน” กลายเป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” สะท้อนผ่านงานวิจัยวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย จากการศึกษาวิจัยไลเคนที่บ่งชี้สภาพอากาศของชุมชนได้ด้วย

ป่าชุมชนบริเวณพื้นที่ อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เมื่อนักวิจัยน้อยจากโรงเรียนดอนจานวิทยาคม ออกสำรวจ และเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาหาความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคน จนกระทั่งกลายมาเป็นผลงาน “วิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ” ซึ่งจัดโดยโครงการ GLOBE สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ด.ญ.อารียา แสงไสย และด.ญ.อัญชลี ภารสำเร็จ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนดอนจานวิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการชี้วัดคุณภาพอากาศในเขตป่าเต็งรังของไลเคน โดยอาศัยป่าชุมชนใน อ.ดอนจาน เป็นแหล่งศึกษาข้อมูล

อ.ชุมพล ชารีแสน ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เล่าถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่มีป่าชุมชน เราจึงอยากสำรวจหาความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนภายในป่าชุมชน ดังนั้น ก่อนอื่นจึงต้องหาความรู้ก่อนว่า อะไรจะเป็น “ดัชนีชี้วัด” ได้ เมื่อนักเรียนได้ศึกษาหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า “ไลเคน” สามารถเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของอากาศได้

งานวิจัยของนักเรียนทั้งสองคนมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ เพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคน ศึกษาปัจจัยทางกายที่ส่งผลต่อการสำรวจพบไลเคนในป่าเต็งรัง และเพื่อนำข้อมูลชนิดของไลเคนที่สำรวจพบมาใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศในเขตโรงเรียน

“เรากำหนดพื้นที่ศึกษาเป็น 4 บริเวณจากถนนคำเม็ก-ดอนจอน หลังจากใช้เวลาสำรวจเก็บข้อมูล 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-เดือน ส.ค.54 ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ของทั้ง 4 จุดไม่แตกต่างกัน ส่วนชนิดของไลเคนที่สำรวจพบมี 2 กลุ่มโครงสร้าง ซึ่งข้อมูลการสำรวจพบไลเคนนี้สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศได้” ด.ญ.อารียา กล่าว
นักเรียนโรงเรียนดอนจานวิทยาคม ใช้ป่าชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ด้าน ด.ญ.อัญชลี เสริมว่า ชนิดของไลเคนที่ค้นพบมีทั้งกลุ่มที่ทนทานสูง และกลุ่มทนทาน แต่ไม่พบไลเคนในกลุ่มอากาศดี ดังนั้น งานวิจัยของเราสามารถทำให้รู้ว่าอากาศในปริเวณป่าชุมชนที่ทำการสำรวจนั้นมีคุณภาพพอใช้ นอกจากนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานชิ้นแรกจึงทำให้ได้รู้จักการทำงานวิจัย ได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียนในห้องเรียนปกติ

“รู้สึกภูมิใจมาก ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล เพราะตลอดเวลาที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ เราออกสำรวจพื้นที่กันบ่อยมาก ไปวัดอุณหภูมิของอากาศ ออกเก็บข้อมูลกันเกือบทุกวัน กว่าจะมาสำเร็จในวันนี้ วิทยาศาสตร์ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง “ยี้” จริงๆ แล้วการทำงานวิจัยทำให้ชอบวิทยาศาสตร์ไปเลย และจะนำความคิด ความรู้ ที่ได้รับจากการทำงานวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อไปค่ะ” ด.ญ.อัญชลี เล่า

ด.ญ.อารียา บอกว่า การทำงานวิจัยชิ้นนี้เธอได้รับความรู้อย่างมาก โดยเฉพาะได้รู้จักความหลากหลายของไลเคน ได้รู้จักป่าชุมชนมากขึ้นทั้งที่อยู่ในบริเวณนี้มานานแล้ว แต่เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่าอากาศเป็นอย่างไร มีมลพิษหรือไม่ เมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าป่าชุมชนของเรามีสภาพอากาศพอใช้ก็ใจชื้น

“การได้ลงมือทำงานวิจัย เก็บข้อมูล สำรวจข้อมูล ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสิ่งต่างๆทำให้เห็นว่ามีความรู้ต่างๆ อยู่รอบๆ ตัวเราอีกมาก วิทยาศาสตร์ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าต่างๆ และการทำวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลก ทำให้ได้รู้จักโลกของเรามากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ” ด.ญ.อารียา พูดถึงวิทยาศาสตร์ที่มาเปิดโลกการเรียนรู้ของเธอให้กว้างขึ้น

สอดคล้องกับความเห็นของ อ.ชุมพล ที่มองว่า การทำงานวิจัยทำให้เด็กๆ ได้เปิดโลกทัศน์ ได้ทำความรู้จักงานวิจัยที่หลากหลายขึ้น และได้มองเห็นว่า วิทยาศาสตร์มีประโยชน์ต่อสังคม สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เด็กๆ ได้รู้จักการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆในการทดลอง รู้วิธีการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ตนเองสนใจ และอยากรู้ต่อไปในอนาคต
(ซ้ายไปขวา) ด.ญ.อารียา แสงไสย และด.ญ.อัญชลี ภารสำเร็จ นำเสนอผลงานวิจัยจากป่าชุมชน






กำลังโหลดความคิดเห็น